“บัยตุ้ลฮิกมะห์” อดีตคลังปัญญาโลก! ที่เก็บบันทึกขุมทรัพย์ทางปัญญาและอารยธรรมมนุษย์

ADMIN

สงครามไม่เพียงสร้างความสูญเสียให้แก่ชีวิตของผู้คนเท่านั้น แต่สงครามยังทำลายหลายอย่างให้ย่อยยับลงไปด้วย ไม่เว้นแม้แต่ขุมทรัพย์ทางปัญญาและอารยธรรมมนุษย์ของหลายมหานครที่เคยยิ่งใหญ่เมื่อครั้งอดีต และหนึ่งในนั้น ‘แบกแดด’ เมืองหลวงของประเทศอิรักในปัจจุบัน

แบกแดดเป็นหมู่บ้านโบราณที่อายุนับพันปี แต่มารุ่งเรืองสุดขีดในยุคสมัยของราชวงศ์อับบาซียะฮ์ที่สถาปนาแบกแดดให้เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรในปี ค.ศ. 762 และยืนระยะเป็นเมืองหลวงขออาณาจักรอิสลามแห่งนี้ราว 500 ปีเลยทีเดียว

ในฐานะเมืองที่ใหญ่ที่สุดและร่ำรวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในยุคสมัยนั้น แบกแดดยังมีอีกหนึ่งความมั่งคั่งที่เหนือกว่าทรัพย์สมบัติ เพราะที่นี่เป็นที่ตั้งของ บัยตุ้ลฮิกมะห์ (บ้านแห่งปัญญา) สถาบันทางความรู้ที่ดึงดูดผู้ทรงปัญญาจากหลากหลายพื้นที่ทั่วโลก ไม่เพียงแต่ความรู้ด้านศาสนาอิสลามเท่านั้น บัยตุ้ลฮิกมะห์ ยังเป็นศูนย์กลางทางวิชาการหลายแขนง ตั้งแต่คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ การแพทย์ ไปจนถึงปรัชญา

บัยตุ้ลฮิกมะห์ ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกโดยคอลีฟะฮ์ฮารูน อัรรอชีด (ปกครอง ค.ศ. 786 – 809) เป็นห้องสมุดอันงดงามที่มีชื่อว่า คีซานะตุ้ลฮิกมะห์ (คลังแห่งปัญญา) ซึ่งเก็บรวบรวมต้นฉบับและหนังสือที่พ่อและปู่ของเขามีในหลากหลายศาสตร์และภาษา

สามทศวรรษต่อมา เมื่อหนังสือและตำราต่างๆ มีจำนวนมากขึ้น คอลีฟะฮ์อัลมะมูน ลูกชายของคอลีฟะฮ์ฮารูน อัรรอชีด จึงได้ขยายห้องสมุดให้เป็นสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่และเปลี่ยนชื่อเป็น บัยตุ้ลฮิกมะห์ (บ้านแห่งปัญญา)

ในแต่ละวัน นักแปล นักวิทยาศาสตร์ อาลักษณ์ นักเขียน นักเขียน นักคัดลอก และอีกหลายคน จะมาที่บัยตุ้ลฮิกมะห์แห่งนี้ เพื่อทำการแปล อ่าน เขียน และอภิปรายกันในหัวข้อที่หลากหลาย ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ แนวคิดทางปรัชญา รวมไปถึงแนวคิดอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีการแปลต้นฉบับและหนังสือหลายเล่มออกเป็นภาษาต่างๆ อีกด้วย

ในยุคสมัยนั้นผู้คนจากทั่วสารทิศต่างหลั่งไหลไปที่บัยตุ้ลฮิกมะห์ เพราะที่นี่ยินดีต้อนรับนักศึกษาจากทุกชาติพันธุ์และศรัทธา ทั้งผู้ชายและผู้หญิง รวมไปถึงนักปราชญ์ที่ถูกข่มเหงโดยจักรวรรดิไบแซนไทน์ก็ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันแห่งนี้ กล่าวกันว่า คอลีฟะฮ์อัลมะมูน สนับสนุนให้นักแปลและนักวิชาการผลิตผลงานให้กับบัยตุ้ลฮิกมะห์ โดยท่านจะจ่ายค่าตอบแทนเป็นทองคำตามน้ำหนักของหนังสือแต่ละเล่มที่ทำเสร็จ

แต่ความรุ่งเรืองทางปัญญาของบัยตุ้ลฮิกมะห์ก็ต้องสิ้นสุดลงเพราะสงคราม หลังอาณาจักรถูกกองทัพมองโกลที่นำทัพโดยฮูลากู ข่าน เข้ารุกรานในปี ค.ศ. 1258 มองโกลได้ทำการสังหารนักปราชญ์และโยนหนังสือทั้งหมดทิ้งลงแม่น้ำไทกริส ว่ากันว่าเหตุการณ์นั้นทำให้แม่น้ำเปลี่ยนเป็นสีดำจากหมึกและสีแดงจากเลือดเป็นเวลาหลายวัน

ข้อมูลจาก : https://www.1001inventions.com/feature/house-of-wisdom
ภาพ : ภาพวาดจำลองนครแบกแดดในสมัยราชวงศ์อับบาซียะฮ์

www.halallifemag.com