‘ไบเดน’ ขู่ ‘สี’ เจอผลลัพธ์ถ้าช่วยรัสเซีย ผู้นำจีนเตือนสหรัฐฯ ระวังเรื่อง ‘ไต้หวัน’

ADMIN

‘ไบเดน’ ขู่ ‘สี’ เจอผลลัพธ์ถ้าช่วยรัสเซียบุกยูเครน ด้านผู้นำจีนเรียกร้องยุติสงคราม-เตือนสหรัฐฯ ระวังเรื่อง ‘ไต้หวัน’

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เตือนประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนผ่านการพูดคุยผ่านระบบวิดีโอคอลนานเกือบ 2 ชั่วโมงวานนี้ (18 มี.ค.) ว่า ปักกิ่งจะต้องเผชิญ “ผลลัพธ์” ที่ไม่พึงประสงค์หากให้การสนับสนุนด้านวัสดุรูปธรรมต่อรัสเซียในการบุกยูเครน ขณะที่ สี เรียกร้ององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เปิดเจรจากับมอสโก พร้อมเตือนวอชิงตันให้ระมัดระวังประเด็น “ไต้หวัน” ที่อาจกระทบสัมพันธ์ 2 ชาติมหาอำนาจ

ทำเนียบขาวไม่ได้ให้รายละเอียดว่า “ผลลัพธ์” ที่จีนจะต้องเผชิญคืออะไร และคำว่าการสนับสนุนด้านวัสดุรูปธรรม (material support) ที่ ไบเดน กล่าวนั้นหมายถึงอะไรบ้าง แต่ เจน ซากี เลขานุการฝ่ายสื่อของทำเนียบขาว ชี้ว่า บทลงโทษนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าการค้ามหาศาลของจีน

“มาตรการแซงก์ชันก็เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่เรามีอยู่” ซากี ระบุ เมื่อสื่อมวลชนตั้งคำถามว่าจีนซึ่งเป็นชาติผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลกจะพลอยโดยคว่ำบาตรไปด้วยหรือไม่

โฆษกทำเนียบขาวย้ำว่า สหรัฐฯ จะติดต่อประสานงานกับ “พันธมิตรและหุ้นส่วนในยุโรป” ในกรณีที่ต้องใช้บทลงโทษโดยตรงต่อปักกิ่ง

การพูดคุยครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนตึงเครียดจากหลายประเด็น โดย ไบเดน ได้ชี้แจงความพยายามของอเมริกาและชาติพันธมิตรที่จะทำให้รัสเซียต้องชดใช้อย่างสาสม โทษฐานที่ส่งทหารรุกรานยูเครน

“ประธานาธิบดีได้อธิบายถึงนัยสำคัญและผลลัพธ์ที่จะตามมาหากจีนให้การสนับสนุนด้านวัสดุรูปธรรมแก่รัสเซีย ในขณะที่พวกเขาโจมตีเมืองและพลเรือนของยูเครนอย่างโหดร้ายป่าเถื่อน” ทำเนียบขาวระบุ พร้อมเสริมว่า ไบเดน “ยังคงสนับสนุนให้ใช้การทูตคลี่คลายวิกฤตครั้งนี้”

เจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกคนออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ไบเดน เตือน สี ให้รับทราบว่าปักกิ่งไม่เพียงจะต้องเผชิญบทลงโทษจากสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงกระแสตอบโต้จากประชาคมโลกทั้งมวล

“ประธานาธิบดีไม่ได้ยื่นข้อเรียกร้องที่เฉพาะเจาะจงกับจีน… ผมคิดว่าในมุมมองของเรา จีนคงจะต้องตัดสินใจเอง” เจ้าหน้าที่คนเดิมกล่าว

ด้านกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงว่า ประธานาธิบดี สี ได้บอก ไบเดน ว่าสงครามยูเครน “ต้องจบลงโดยเร็ว” และเรียกร้องให้กลุ่มนาโตเปิดเจรจากับมอสโก

อย่างไรก็ดี คำแถลงของปักกิ่งไม่ได้ระบุว่า สี กล่าวตำหนิติเตียนรัสเซียเรื่องการบุกยูเครน

“สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องมีการพูดคุยและเจรจากันต่อไป หลีกเลี่ยงการโจมตีพลเรือน ป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรม หยุดการสู้รบ และปิดฉากสงครามนี้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” ผู้นำจีน ระบุ

สี เสนอให้ผู้นำรัสเซียและยูเครนเปิดเจรจากัน และแนะนำให้สหรัฐฯ กับนาโตพูดคุยกับมอสโกด้วยอีกทางหนึ่งเพื่อ “สลายปมปัญหา” ของวิกฤตการณ์ยูเครน รวมถึงแก้ไขความกังวลด้านความมั่นคงให้ทั้งรัสเซียและยูเครน

สี ย้ำว่า “วิกฤตการณ์ยูเครนเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการเห็น” ขณะเดียวกันก็เตือนว่ามาตรการคว่ำบาตรไม่ใช่ทางออกที่ดี

“การคว่ำบาตรแบบเหมารวมมีแต่จะทำให้ประชาชนทุกข์ทรมาน และหากยกระดับขึ้นไปเรื่อยๆ จะทำให้โลกต้องเผชิญวิกฤตร้ายแรงทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า การเงิน พลังงาน อาหาร อุตสาหกรรม และห่วงโซ่อุปทาน เป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก และสร้างความสูญเสียที่เรียกคืนกลับมาไม่ได้” กระทรวงการต่างประเทศจีนอ้างคำพูดของ สี

ก่อนหน้านั้น แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมากล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (17) ว่า วอชิงตันกังวลว่าจีนอาจส่งมอบอาวุธยุทธภัณฑ์ให้กองทัพรัสเซียนำไปใช้ในยูเครน ซึ่งปักกิ่งยืนยันว่าไม่ได้ทำเช่นนั้น

สหรัฐฯ ยังเกรงว่าจีนอาจช่วยรัสเซียหลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตก

สถานการณ์ยูเครนได้เปิดแนวรบใหม่ในความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ซึ่งตกต่ำย่ำแย่ที่สุดในรอบหลายสิบปี และดับความหวังของ ไบเดน ที่จะใช้สายสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างตนกับ สี จิ้นผิง ที่มีมาตั้งแต่เมื่อครั้งก่อนเป็นผู้นำสหรัฐฯ ช่วยบรรเทาข้อพิพาทต่างๆ

สี จิ้นผิง ยังถือโอกาสในการพูดคุยครั้งนี้เอ่ยเตือน ไบเดน ให้จัดการประเด็น “ไต้หวัน” อย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยจีนนั้นถือว่าไต้หวันเป็น “มณฑลทรยศ” ที่สักวันหนึ่งจะต้องถูกนำกลับมาอยู่ภายใต้การปกครองของแผ่นดินใหญ่ ไม่ว่าจะโดยใช้กำลังหรือไม่ก็ตาม และถือว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นละเอียดอ่อนและสำคัญที่สุดในความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ

“มีคนบางคนในสหรัฐฯ กำลังส่งสัญญาณผิดๆ ให้กองกำลังโปรเอกราชในไต้หวัน และนั่นคือสิ่งที่อันตราย” สี กล่าวกับ ไบเดน

“ถ้าเรื่องไต้หวันไม่ถูกดำเนินการอย่างเหมาะสม มันจะบ่อนทำลายความสัมพันธ์ระหว่างเราทั้ง 2 ประเทศ”

ทำเนียบขาวแถลงว่า ไบเดน ยืนยันกับ สี ว่าสหรัฐฯ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายที่มีต่อไต้หวัน แต่ย้ำว่าวอชิงตัน “ยังคงคัดค้านความพยายามฝ่ายเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงสถานะในปัจจุบัน (status quo)”

ที่มา : รอยเตอร์

mgronline.com