ชาวอินโดฯ จำนวนมากเชียร์ปูติน ไม่มองรัสเซีย แบบที่คนชาติตะวันตกมอง

ADMIN

WORLD : ชาวอินโดฯจำนวนมากไม่มองรัสเซีย แบบที่คนชาติตะวันตกมอง ทั้งยัง เชียร์ปูติน โดยเฉพาะในศึกยูเครนที่ล่วงเลยมาเกินสามสัปดาห์แล้ว ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

วันที่ 20 มีนาคม 2565 Aljazeera สื่อดังของตะวันออกกลาง รายงานจับกระแสโลกออนไลน์ของอินโดนีเซียที่มีต่อศึก รัสเซีย-ยูเครน พบว่าคนจำนวนมากกลับหนุนรัสเซีย และ ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แม้ว่ารัฐบาลอินโดฯ จะลงมติร่วมประณามรัสเซียในการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ หรือ UNGA

อัลจาซีรา เปรียบเทียบว่ากระแสดังกล่าวเหมือนกับละครทีวียอดนิยมของชาวอินโดฯ เมื่อไม่กี่สัปดาห์มานี้ เป็นเรื่องหญิงคนหนึ่ง และสามีผู้ซื่อสัตย์ ทั้งสองหย่าร้างกัน ฝ่ายสามีตกลงที่จะจ่ายหนี้ให้ภรรยา หลังจากยอมให้ภรรยาได้สิทธิดูแลลูก 3 คน

แต่เมื่อมีเพื่อนบ้านที่ฐานะร่ำรวยเข้ามาแทรกกลาง ล่อลวงจีบฝ่ายหญิง ทำให้อดีตสามีโกรธมาก และนำลูกคนหนึ่งไปเลี้ยงเอง ส่วนลูกอีกสองคนขอให้พ่อเข้ามาควบคุมแม่

สื่อดังของอาหรับชี้ว่า ชาวอินโดฯติดตามข่าวรัสเซีย-ยูเครน ราวกับละครเรื่องนี้ รัสเซียเป็นฝ่ายสามี ยูเครนเป็นภรรยา เพื่อนบ้านที่ร่ำรวยคืออเมริกา ส่วนลูกทั้งสาม คือ ไครเมีย โดเนตสก์ และลูฮันสก์ แคว้นที่ตีจากยูเครนไปอยู่กับรัสเซีย

#ตีความเหมือนละครยอดฮิต

เรื่องราวนี้ปรากฏทางโซเชียลเว่ยป๋อของจีนก่อน ช่วงที่รัสเซียเริ่มยกทัพบุกยูเครน แต่กระแสแห่ขานรับปรากฏทางโซเชียลวอตส์แอปป์ของอินโดฯ และโซเชียลแพลตฟอร์มอื่นๆ รวมถึง ทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ก เป็นการแสดงท่าทีของชาวอินโดฯ จำนวนมากที่สนับสนุนรัสเซียอย่างน่าประหลาดใจ

“โซเชียลที่หนุนรัสเซียตีกรอบการสนับสนุนรัสเซียในสงครามได้เร็วมาก” นายอาลิฟ ซาเตรีย นักวิจัยประจำภาควิชาการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม ศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษานานาชาติ หรือ CSIS ในอินโดนีเซีย กล่าว

นายซาเตรียอธิบายต่อว่า กลุ่มหนุนรัสเซียใช้มีมและภาพของศึกครั้งนี้เชื่อมโยงกับชาวอินโดนีเซีย จัดภาพให้รัสเซียเป็นตัวละครสามีที่ยึดมั่นในหน้าที่ ต้องเอาชนะยูเครน ซึ่งเปรียบเหมือนภรรยาเก่าที่เอนเอียงไปหายุโรป และใช้ลูกๆ ซึ่งเปรียบกับชนกลุ่มน้อยชาวรัสเซีย เป็นตัวประกัน”

จากผลของการสร้างภาพนี้ขึ้นมา ทำให้จุดยืนของชาวอินโดฯ แตกเป็นฝ่ายที่แสดงออกอย่างเป็นทางการ กับฝ่ายโซเชียลมีเดียที่เห็นอกเห็นใจรัสเซีย ถ้าไม่ถึงกับหนุนก็ตาม

#ชาวอินโดฯไม่เชื่อใจสหรัฐ

นอกจากรัฐบาลอินโดฯ จะร่วมโหวตประณามรัสเซียในที่ประชุม UNGA อีกทั้งยังสนับสนุนให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจัดตั้งคณะกรรมการอิสระสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในยูเครน รวมถึงการที่ประธานาธิบดี โจโก วิโดโด ให้สัมภาษณ์สื่อนิกเคอิ เอเชีย เรียกร้องให้หยุดยิง ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค.
จากความเห็นของ โยฮาเนส สุไลมาน นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเจนเดรัล อัคหมัด ยานี ที่เมืองบันดุง คิดว่าสาเหตุหนึ่งมาจากการที่ชาวอินโดฯ ส่วนหนึ่งไม่ชอบสหรัฐอเมริกา แม้ว่าก่อนหน้านี้ คนกลุ่มนี้เคยประท้วงรัสเซียที่ก่อศึกในเชชเนีย และยังไปร่วมรบในซีเรีย

ความไม่เชื่อใจสหรัฐของชาวอินโดฯ เพิ่มพูนขึ้นมาในช่วงเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยาฯ หรือ 9/11 เมื่อปี 2544 ที่สหรัฐเริ่มทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย

“ชาวอินโดฯ ที่หนุนรัสเซียคือคนที่ไม่ชอบและไม่เชื่อใจสหรัฐอเมริกา คนเหล่านี้เห็นสหรัฐบุกอัฟกานิสถานและอิรัก ด้วยเหตุผลที่พวกเขาเห็นว่าเสกสรรค์ปั้นแต่งขึ้นมา อย่างทฤษฎีสมคบคิดเรื่อง 9/11 และข้ออ้างว่าอิรักครอบครองอาวุธทำลายล้าง”
“เหล่านี้เป็นเรื่องที่ทำให้พวกเขาตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าวต่างๆ ในลักษณะสื่อมวลชนของสหรัฐ หลายคนไม่ยอมรับการติดตามแค่สื่อสหรัฐโดยไม่มีจากอีกฝั่ง แต่โดยต้นตอแล้วมาจากความไม่เชื่อใจสหรัฐ โดยทั่วไป”

ผลสำรวจโดยศูนย์พิว รีเสิร์ช กรุงวอชิงตัน ดีซี. เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่า ความหวาดระแวงของชาวอินโดฯ ที่มีต่อสหรัฐ มากกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก ดูจากตัวเลขร้อยละ 42 ของชาวอินโดฯ ที่ชื่นชอบสหรัฐ ถือว่าน้อยที่สุดใน 6 ประเทศที่มีการสำรวจ

#รัสเซียวางตัวเป็นมิตรอินโดฯ

มุมมองอีกส่วนหนึ่ง มาจากการที่ชาวอินโดฯ ติดตามสถานการณ์ในยูเครนผ่านมิติความขัดแย้งอื่นๆ ด้วย

ชาวอินโดฯ มากกว่าร้อยละ 90 จากประชากร 270 ล้านคนเป็นชาวมุสลิม คนจำนวนมากสนับสนุนปาเลสไตน์ จนอินโดฯ ไม่มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับอิสราเอล

“มันเป็นปัญหาเรื่องสองมาตรฐานและตรรกะที่ผิดเพี้ยนจากการที่อิสราเอลขีดเส้นพรมแดนกับปาเลสไตน์ ทำให้คนพากันคิดว่าทำไมเรื่องนี้ถึงไม่เป็นประเด็น แล้วยูเครนเป็นประเด็นด้วยหรือไม่” สุไลมานกล่าว

ส่วนซาเตรียกล่าวเตือนว่า ตอนนี้กระแสออนไลน์ของอินโดฯ สนับสนุนรัสเซียอาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย และยังไม่มีการศึกษา หรือการทำความเข้าใจอย่างจริงจังว่า กระแสนี้ขยายอยู่ในสังคมอินโดฯ ได้อย่างไร

รัสเซียมีชื่อเสื่อมเสียว่า เดินเกมปล่อยข่าวเท็จในโลกออนไลน์ และมีผลการศึกษาว่า สำนักงานวิจัยอินเตอร์เน็ตในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กทำงานเพื่อปรับเปลี่ยนผลการเลือกตั้งสหรัฐเมื่อปี 2559

กรณีของอินโดนีเซีย นายราดิตโย ธาร์มาปุตรา นักวิชาการภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยแอร์ลังกา จับสังเกตว่า รัสเซียพยายามปรับชื่อเสียงของตนที่มีต่อชาวอินโดฯ ให้ดีขึ้นพยายามทำให้เห็นว่ารัสเซียเป็นเพื่อนและมิตรของโลกอิสลาม

ธาร์มาปุตราเขียนในบล็อกของมหาวิยาลัยเมลเบิร์นว่า รัสเซียตั้งศูนย์วัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์ในกรุงจาการ์ตา ตั้งเวอร์ชั่นภาษาอินโดนีเซียในเว็บไซต์ Beyond the Headlines พร้อมให้ทุนนักศึกษาอินโดฯ ไปเรียนด้านรัสเซียศึกษาที่มหาวิทยาลัยของอินโดนีเซีย

“การขาดหายของข่าวที่เชื่อถือได้ด้วยการส่งผู้สื่อข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนเข้าไปในสมรภูมิ และการไม่มีผู้เชี่ยวชาญรัสเซียและยุโรปตะวันออกในแวดวงวิชาการอินโดนีซีย ทำให้เกิดสุญญากาศของข้อมูลที่เชื่อถือได้ การวิเคราะห์ข้อมูล และจุดยืนที่แน่ชัดของชาวอินโดฯ ต่อสงครามรัสเซีย-ยูเครน” ธาร์มาปุตรา กล่าวและว่า

“ปัจจัยนี้เมื่อรวมกับการแฝงอยู่ของมุมมองต่อต้านอเมริกัน และต่อต้านชาติตะวันตก ไปจนถึงอุดมคติการมีผู้นำทรงอำนาจอย่างปูติน การรับรู้ว่ารัสเซียเป็นมิตรกับอิสลาม ไปจนถึงการทูตที่หนุนรัสเซีย และโฆษณาชวนเชื่อ กลุ่มชาวอินโดฯ ที่อ่านข่าวทางดิจิทัลไม่แตก จึงเอนเอียงไปยังการสนับสนุนรัสเซียได้ไม่ยาก”

#เชียร์ปูติน นิยมผู้นำทรงอำนาจ

อินโดนีเซียไม่ใช่ประเทศที่ห่างไกลจากผู้นำทรงอำนาจ อย่างประธานาธิบดีรัสเซีย บุรุษที่ได้ชื่อว่ามีภาพถ่ายแสดงความเป็นลูกผู้ชาย

อดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตของอินโดฯ เคยเป็นนายพลและปกครองอินโดฯ ภายใต้กฎเหล็กมานานเกิน 30 ปี จนถึงช่วงปลายของทศวรรษ 1990 จากนั้นมีนักการเมืองมากมายทั้งในอดีตและปัจจุบันที่เชื่อมโยงกับกองทัพ หรือมาจากครอบครัวชนชั้นการเมือง

“ความนิยมบุคคลอย่างปูตินมีสูง ผมคิดว่า มาจากวัฒนธรรมการเมืองทหารและยังไม่เป็นเสรีนิยม และประวัติศาสตร์เผด็จการ” เอียน วิลสัน นักวิชาการด้านการศึกษาการเมืองและความมั่นคง มหาวิทยาลัยเมอร์ด็อก เมืองเพิร์ธ ออสเตรเลีย กล่าว

“ผู้นำทรงอำนาจเผด็จการมักเป็นที่ชื่นชอบว่าตัดสินใจแน่วแน่ เฉียบขาด ดุดัน และเหยียดหยามสิทธิ ชวนให้นึกถึงอดีตเผด็จการซูฮาร์โต รวมถึงนักการเมืองที่เคยเป็นทหารและตอนนี้เป็นรัฐมนตรีกลาโหม อย่างปราโบโว ซูเบียนโต ซึ่งมีผู้นิยมเปรียบเทียบกับปูติน” วิลสันกล่าว

วิลสันเห็นด้วยว่า วัฒนธรรมการเมืองของอินโดฯ ชอบคนทรงอิทธิพลอำนาจ จูงใจด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผล อีกทั้งยังไม่ชอบกระบวนการประชาธิปไตย หลายคนเห็นสิ่งนี้ในตัวปูติน ไม่ใช่คนอย่างนายโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ซึ่งมีบุคลิกถูกวิจารณ์ว่าเป็นหุ่นเชิดของกองกำลังภายนอกประเทศ แม้ว่าเขาจะเป็นผู้นำตัวจริงในช่วงเวลาของวิกฤตก็ตาม

ด้านสุไลมานกล่าวว่า มีชาวอินโดฯจำนวนมากรู้สึกเชื่อมโยงกับปูตินมากกว่า เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ที่เคยเป็นนักแสดงตลกและเคยชนะการประกวดเต้นรำ Dancing with the Stars เมื่อปี 2549

การที่เซเลนสกียังอยู่ในยูเครน และเผยแพร่วิดีโอสถานการณ์ รวมถึงกล่าวสุนทรพจน์ต่อรัฐสภาของชาติตะวันตก นั้นไม่จำเป็นต้องแปลเป็นด้านบวกสำหรับผู้ติดตามข่าวชาวอินโดฯ

“ขณะที่ปูตินถูกมองว่าเป็นคนน่าทึ่ง เข้มแข็ง มีคนมากมายชอบผู้นำลักษณะนี้” สุไลมานกล่าว

ที่มา : ประชาชาติ

#ขุนคมคำ

White news