รู้จักเจ้าชาย ‘โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน’ เจ้าของสโมสร “นิวคาสเซิล” คนใหม่

ADMIN

โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เจ้าของสโมสร นิวคาสเซิล คนใหม่ เป็นใคร? รวยแค่ไหน?

กลายเป็นข่าวใหญ่ที่สุดในวงการกีฬาในเวลานี้ เมื่อ กลุ่มทุนพับลิก อินเวสต์เมนต์ ฟันด์ (พีไอเอฟ) หรือกองทุนเพื่อความมั่งคั่ง จากประเทศซาอุดีอาระเบียเข้าซื้อหุ้นสโมสร นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ของเจ้าของเดิมอย่าง ไมค์ แอชลีย์ ด้วยการซื้อหุ้นคิดเป็นสัดส่วน 80% คิดเป็นเงินสูงถึง 300 ล้านปอนด์ หรือราว 13,800 ล้านบาท

สื่อต่างประเทศระบุว่ากลุ่มทุน พีไอเอฟ มีทรัพย์สินมากถึง 320,000 ล้านปอนด์ หรือราว 14 ล้านล้านบาท ทำให้นิวคาสเซิล จะกลายเป็นทีมฟุตบอลในพรีเมียร์ลีกที่รวยที่สุด รวยกว่า ชีค มันซูร์ เจ้าของทีมแมสเชสเตอร์ ซิตี้ ที่มีทรัพย์สินอยู่ที่ 23,300 ล้านปอนด์ มากกว่า 10 เท่า รวยกว่า นาสเซอร์ อัล เคไลฟี เจ้าของทีมปารีส แซงต์ แชร์กแมง 5 เท่า และหากเทียบกับ โรมัน อบราโมวิช เจ้าสัวรัสเซียที่มีทรัพย์สิน 10,000 ล้านปอนด์ ถึง 30 เท่าตัว

โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เป็นใคร

“เจ้าชายชัลมาน” วัย 36 ปี เป็นพระโอรสของสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน แห่งซาอุดีอาระเบีย ได้รับการแต่งตั้งเป็นมกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงเป็นผู้ทรงอิทธิพลและเป็นบุคคลสำคัญของซาอุดีอาระเบียนับตั้งแต่ทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นรัชทายาทลำดับที่ 2 เมื่อปี 2015 จนได้รับฉายาว่า “มิสเตอร์ เอเวอรีธิงส์” (Mr.Everything)

เจ้าชายชัลมาน เป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังที่จะนำพาชาวซาอุดีอาระเบียเดินหน้าสู่ยุคใหม่ เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่วัยทำงานโดยเฉพาะคนที่อายุไม่เกิน 30 ปีที่มีสัดส่วนอยู่มากถึงถึงครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ

แฟ้มภาพ เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย (รอยเตอร์)

มิสเตอร์ เอเวอรีธิง

เจ้าชายซัลมาน ทรงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเสนอนโยบายเพื่อการพัฒนามากมายหลายด้าน มีชื่อเรียกโดยรวมว่า “วิชั่น 2030” นโยบายที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจให้กับประเทศที่พึ่งพารายได้จากน้ำมันเป็นส่วนใหญ่ ให้มีที่มีรายได้จากเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น และชัดเจนว่ารวมไปถึง “สปอร์ตเอนเตอร์เทนเมนต์” ด้วย

เจ้าชายซัลมาน ยังมีแนวคิดที่ต้องการปฏิรูปประเทศไปสู่การเป็นชาติมุสลิมสายกลาง ค่อยๆแก้กฎหมายเปิดทางให้สิทธิเสรีภาพของผู้หญิงซาอุดีอาระเบียมากขึ้น รวมถึงอนุญาตให้มีการเปิดโรงภาพยนตร์ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามในอดีต

(REUTERS/Waleed Ali)

ที่มาของ ฉายา “มิสเตอร์เอวรีธิงส์”  ก็เพราะทรงเป็นเหมือนทุกสิ่งทุกอย่างของซาอุดีอาระเบียในเวลานี้ นอกจากตำแหน่งผู้สือทอดตำแหน่งกษัตริย์พระองค์ต่อไปแล้ว ยัง ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี,ประธานคณะกรรมาธิการกิจการเศรษฐกิจและการพัฒนา, ประธานคณะกรรมธิการกิจการการเมืองและความมั่นคง รัฐมนตรีกลาโหม รวมไปถึงนั่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของประเทศอย่าง “ซาอุดี อารัมโก” ด้วย

ซาอุดิอาระเบีย สู่ศตวรรษที่ 21

การตัดสินใจเข้าซื้อสโมสรฟุตบอลนิวคาสเซิลในครั้งนี้ ถูกมองว่าเป็นความพยายามของเจ้าชายซัลมานที่จะนำพาประเทศซาอุดีอาระเบียก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 โดยวางยุทธศาสตร์ให้ซาอุดีอาระเบีย มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรม “สปอร์ตเอนเตอร์เทนเมนต์” ในเวทีโลก

นอกจากนี้ยังเป็นความพยายามในการสลัดภาพซาอุดีอาระเบีย ในฐานะประเทศใต้เงาดำมืดที่มีชื่อในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน บริหารประเทศโดยไม่ทนกับกลุ่มคนเห็นต่าง ปิดปากสื่อ ดำเนินคดี จับกุมผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐเข้าคุกอย่างไม่ปราณี

จามาล คาช็อกกี

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่เจ้าชายซัลมาน มีชื่อไปพัวพันกับกรณีสังหาร จามาล คาช็อกกี คอลัมนิสต์วอชิงตันโพสต์ ถึงสถานกงสุลซาอุดีอาระเบีย ในนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี เมื่อปี 2018 ซึ่งจนถึงบัดนี้ก็ยังหาศพไม่พบ

เจ้าชายซัลมานรวยแค่ไหน

ในทางเทคนิคแล้ว ผู้ที่เข้ามาซื้อสโมสรนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ก็คือ กองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติ หรือ พีไอเอฟ ของประเทศซาอุดีอาระเบีย อย่างไรก็ตามเจ้าชายซัลมาน เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจในการลงทุนในฐานะรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย โดยพีไอเอฟ มีการใช้เงินลงทุนมากกว่า 200 การลงทุนทั่วโลก ในจำนวนนี้รวมไปถึงการลงทุนในบริษัทเทสลา, การซื้ออสังหาริมทรัพย์สุดหรูริมทะเลแดง รวมไปถึง ลงทุนในบริษัทเจเนอรัลอิเล็กทริก หรือ จีอี บริษัทไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ข้ามชาติสัญชาติอเมริกันด้วย

เดอะชาโต หลุยส์ ที่ 14

สำหรับตัวเจ้าชายซัลมานเอง ถูกประเมินว่ามีทรัพย์สินส่วนตัวอยู่ที่ราว 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 600,000 ล้านบาท ทำสถิติเป็นเจ้าของบ้านที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกอย่าง เดอะชาโต หลุยส์ ที่ 14 ในลูฟวร์เซียนส์ ใกล้กับพระราชวังแวร์ซาย ประเทศฝรั่งเศส ที่ซื้อมาในราคา 313 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 10,600 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามหากนับรวมทรัพยสินของราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย ที่เจ้าชายซัลมานจะเป็นเจ้าของอย่างชอบธรรมในอนาคตแล้วจะสูงถึง 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 57 ล้านล้านบาท เรียกได้ว่ามากกว่าทรัพย์สินของราชวงศ์อาบูดาบี แห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (680,000 ดอลลาร์สหรัฐ) และทรัพย์สินของราชวงศ์อังกฤษ (425 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) รวมกันอีก

ที่มา: มติชน