ตาลีบันใช้โซเชียลมีเดียปรับภาพลักษณ์ จากที่เคยต้านเทคโนโลยีสมัยใหม่

ADMIN

ช่วงต้นเดือน พ.ค. ในขณะที่กองกำลังสหรัฐฯ และองค์การสิทธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต เริ่มถอนทัพออกจากอัฟกานิสถาน กลุ่มตาลีบันก็เร่งปฏิบัติการทางทหารเพื่อยึดอำนาจ จากกองกำลังความมั่นคงรัฐบาลอัฟกัน

แต่ในเวลาเดียวกันตาลีบันก็ได้เริ่มทำในสิ่งที่ไม่ค่อยเห็นบ่อยนักในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของกลุ่ม นั่นคือการใช้โซเชียลมีเดียเป็นสื่อโฆษณาชวนเชื่อ

มีบัญชีโซเชียลมีเดียมากมายที่พยายามกล่าวหาว่ารัฐบาลอัฟกันว่าล้มเหลวอย่างไร และชื่นชมความสำเร็จของตาลีบัน

มีข้อความบนทวิตเตอร์ที่โอ้อวดผลงานความสำเร็จของกลุ่ม – บางครั้งก็อวดอ้างเร็วเกินไปทั้ง ๆ ที่ความสำเร็จยังไม่เกิด – มีการเผยแพร่แฮชแท็กหลายแฮชแท็ก อาทิ #kabulregimecrimes ซึ่งเป็นการพยายามกล่าวหาว่ารัฐบาลอัฟกันก่ออาชญากรรมสงคราม หรือ #westandwithTaliban ที่แปลว่า “เรายืนเคียงข้างกลุ่มตาลีบัน” เพื่อพยายามเรียกแรงสนับสนุนจากคนรากหญ้าในประเทศ

ย้อนกลับไปในเวลานั้น รองประธานาธิบดีอัมรุลลาห์ ซาเลห์ ของอัฟกานิสถาน เคยออกมาเตือนประชาชนว่า อย่าไปหลงเชื่อที่ตาลีบันออกมาแอบอ้างว่าได้รับชัยชนะ และขอให้คนอย่าแชร์รายละเอียดของปฏิบัติการทหารในโซเชียลมีเดียเพราะอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงได้

Reuters

การวางแผนใช้โซเชียลมีเดียและเตรียมการเป็นอย่างดีนี้ชี้ให้เห็นว่า ตาลีบันเปลี่ยนท่าทีจากที่เคยต่อต้านเทคโนโลยีและสื่อสมัยใหม่ มาเป็นอ้าแขนรับใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร

ตอนที่ตาลีบันขึ้นสู่อำนาจครั้งแรกเมื่อปี 1996 มีการสั่งห้ามใช้อินเทอร์เน็ต ยึดหรือทำลายทีวี กล้อง และเทปวิดีโอของประชาชน แต่มาในปี 2005 กลุ่มตาลีบันได้เปิดตัวเว็บไซต์ Islamic Emirates of Taliban ซึ่งเป็นเว็บไซต์ทางการของกลุ่ม ที่ปัจจุบันเผยแพร่ข้อมูลถึง 5 ภาษา คือ อังกฤษ อารบิก พัชโต ดารี และอูรดู

ส่วนเนื้อหาด้านเสียง วิดีโอ และบทความ ได้รับการดูแลจากฝ่ายวัฒนธรรมของผู้ปกครองอิสลามแห่งอัฟกานิสถาน (Islamic Emirates of Afghanistan หรือไออีเอ) ที่มีโฆษกของตาลีบัน ซาบิฮุลเลาะห์ มูจาฮิด เป็นคนดูแล

ซาบิฮุลเลาะห์ มูจาฮิด เคยมีบัญชีทวิตเตอร์บัญชีแรกซึ่งถูกระงับไป แต่บัญชีใหม่ของเขาซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2017 มีผู้ติดตามมากว่า 3.71 แสนคน และเขาก็มีทีมอาสาสมัครที่คอยช่วยส่งเสริมโฆษณาอุดมการณ์ของตาลีบันในโลกออนไลน์ด้วย

Reuters

นายซาบิฮุลเลาะห์ มูจาฮิด โฆษกตาลีบันตอบคำถามสื่อที่งานแถลงข่าวในกรุงคาบูล

ขณะที่คนที่อาจเรียกได้ว่าเป็นผู้อำนวยการด้านโซเชียลมีเดียของไออีเอ คือ คาอี เซอีด คอซไท ซึ่งบอกกับบีบีซีว่า มีการแบ่งทีมงานออกเป็นหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่คอยทำให้แฮชแท็กของตาลีบันติดเทรนด์ทางทวิตเตอร์ และกลุ่มที่ค่อยส่งข้อความเผยแพร่ทางวอตส์แอปป์และเฟซบุ๊กด้วย

“ศัตรูของเรามีทั้งโทรทัศน์ วิทยุ บัญชีทางโซเชียลมีเดียที่ได้รับการยืนยันตัวตนอย่างเป็นทางการ และเราไม่มีเลย แต่เราก็สู้กับพวกเขาบนทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กและเอาชนะพวกเขาได้”

คอซไทบอกว่างานของเขาคือการพาคนที่เข้าร่วมกับตาลีบันเพราะอุดมการณ์ ให้มาใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางเผยแพร่สารต่าง ๆ จากพวกเขา

ในอัฟกานิสถาน มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตแค่ 8.6 ล้านคนเท่านั้น และสิ่งที่เป็นความท้าทายคือเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ยังไม่ครอบคลุมและราคาที่ยังสูง คอซไท บอกว่าทีมโซเชียลมีเดียของไออีเอ จ่ายเงินค่าอินเทอร์เน็ตให้ทีม 1,000 อัฟกานี หรือ 11.51 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อเดือนในการ “ทำสงครามออนไลน์”

เขาบอกว่า ผู้ปกครองอิสลามแห่งอัฟกานิสถาน มี “สตูดิโอโซเชียลมีเดียที่มีอุปกรณ์ครบครันเพื่อใช้ในการผลิตเนื้อหาด้านเสียงและวิดีโอ และการสร้างแบรนด์ทางดิจิทัล”

ผลก็คือมีวิดีโอโฆษณาชวนเชื่อเชิดชูนักรบตาลีบันและสงครามของพวกเขากับกองกำลังต่างชาติและของรัฐบาลอัฟกัน ซึ่งหาดูได้ตามยูทิวบ์และเว็บไซต์ทางการ

กลุ่มตาลีบันสามารถโพสต์เนื้อหาของพวกเขาทางทวิตเตอร์และยูทิวบ์ได้อย่างเสรี แต่เฟซบุ๊กนิยามตาลีบันว่าเป็น “องค์กรอันตราย” และถอนบัญชีและหน้าเฟซบุ๊กที่เชื่อมโยงกับกลุ่มออก และยังจะปิดกั้นเนื้อหาของตาลีบันจากแพลตฟอร์มของพวกเขาต่อไป

คอซไท บอกว่าการใช้เฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือสื่อสารไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นจึงจะมุ่งใช้ทวิตเตอร์ต่อไป

Reuters
คนจำนวนมากในอัฟกานิสถานและทั่วโลกไม่เชื่อที่พวกเขาออกมาให้คำมั่นสัญญาในตอนแรกว่าจะไม่มีการแก้แค้นฝ่ายตรงข้าม

แม้ว่ากระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ จะถือว่าเครือข่ายฮัคคานีเป็นองค์กรก่อการร้ายนานาชาติ แต่ผู้นำของพวกเขาซึ่งก็คือ อานัส ฮัคคานี และสมาชิกคนอื่น ๆ ก็มีบัญชีทวิตเตอร์และมีผู้ติดตามหลายพันคน

สมาชิกทีมโซเชียลมีเดียคนหนึ่งของตาลีบันซึ่งขอปกปิดตัวตนบอกกับบีบีซีว่า ทีมตัดสินใจใช้ทวิตเตอร์อย่างจริงจังเพื่อช่วยโฆษณาบทความแสดงความคิดเห็นของซิราจูดีน ฮัคคานี รองผู้นำสูงสุดของตาลีบัน ที่เขียนลงหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ เมื่อเดือน ก.พ. 2020 และมีการสร้างบัญชีส่วนใหญ่ของตาลีบันขึ้นและเริ่มใช้งานหลังจากนั้น

“ชาวอัฟกันส่วนใหญ่ไม่เข้าใจภาษาอังกฤษ แต่คณะผู้ปกครองที่กรุงคาบูลสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษบนทวิตเตอร์เพราะว่าผู้ฟังของเขาไม่ใช่ชาวอัฟกันแต่เป็นนานาชาติ”

“กลุ่มตาลีบันอยากสู้กับการโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับพวกเขา นั่นคือเหตุผลที่เรามุ่งใช้ทวิตเตอร์”

สมาชิกทีมโซเชียลมีเดียคนนี้เล่าว่า สมาชิกทีม ซึ่งบางคนมีคนติดตามหลายพันคน ได้รับคำสั่งไม่ให้แสดงความคิดเห็นเรื่องนโยบายต่างประเทศของประเทศเพื่อนบ้านเพาะอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้

ในอดีต ตาลีบันพยายามปกปิดตัวตนของผู้นำจนแทบไม่มีรูปของอดีตผู้นำอย่างมุลเลาะห์ โมฮัมเหม็ด โอมาร์ เผยแพร่เลย

BBC

แต่ทุกวันนี้ กลุ่มผู้นำตาลีบันไม่เพียงเปิดหน้าตัวเองเท่านั้นแต่ยังมีการโฆษณาอย่างกว้างขวางบนโซเชียลมีเดียด้วย โดยหลังจากที่ซาบิฮุลเลาะห์ มูจาฮิด โฆษกกลุ่มตาลีบันออกมาแถลงข่าวครั้งแรก บัญชีที่เชื่อมโยงกับตาลีบันหลายบัญชีก็พร้อมใจกันเปลี่ยนรูปโปรไฟล์เป็นรูปเขา

ในทางกลับกัน ชาวอัฟกันที่เคยทำงานให้กองกำลังร่วมนานาชาติ องค์กรและสื่อต่างชาติ และคนที่วิพากษ์วิจารณ์ตาลีบันบนโซเชียลมีเดีย พากันปิดบัญชีตัวเอง

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และฮิวแมนไรท์วอทช์ ออกมาระบุแล้วว่าได้รับรายงานว่าสมาชิกตาลีบันไปบุกค้นและสังหารคนเพื่อแก้แค้น

ด้านเฟซบุ๊กเปิดทางเลือกให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กในประเทศสามารถกดปุ่ม และสามารถล็อกบัญชีตัวเองไม่ให้คนอื่นที่ไม่ใช่เพื่อนเห็นข้อมูลบนบัญชีตัวเองได้ และประกาศว่าได้ยกเลิกไม่ให้สามารถดูบัญชีเพื่อนของผู้ใช้เฟซบุ๊กในอัฟกานิสถานได้ชั่วคราว

คำถามสำคัญคือ กลุ่มตาลีบันได้เปลี่ยนแปลงและเลิกใช้ความรุนแรงอย่างที่เคยหรือยัง คนจำนวนมากในอัฟกานิสถานและทั่วโลกไม่เชื่อที่พวกเขาออกมาให้คำมั่นสัญญาในตอนแรก

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนตาลีบันจะเข้าใจแล้วว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ บางอย่างที่พวกเขาเคยไม่สนใจและห้ามไม่ให้คนใช้ สามารถช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ต้องการบนเวทีโลกได้

“โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่สามารถเปลี่ยนความคิดของสาธารณะได้” สมาชิกทีมคนนี้กล่าว “เราอยากจะเปลี่ยนความคิดของคนที่มีต่อตาลีบัน”

ที่มา: ข่าวสด