มีเงินแต่ไม่รีบชำระหนี้ ผลเสียของการประวิงการชำระหนี้

ADMIN

#มีเงินแต่ไม่รีบชำระหนี้สิน

อาจจะมีคนบางคนที่มีหนี้สิน กับคนอื่น ใน ขณะที่เขามีเงิน มีความสามารถที่จะจ่าย แต่กลับไม่ยอมจ่าย มิหน่ำซ้ำยังเอาเงินนั้นไปซื้อสิ่งของต่างๆที่ตนเองต้องการ บางครั้งก็นำของเหล่านั้นมาอวด มาโชว์

การกระทำเช่นนี้ ถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องในหลักการอิสลาม เพราะอิสลามเน้นย่ำเสมอว่า การเป็นหนี้สินนั้น เกิดขึ้นเพราะความจำเป็นจริงๆเท่านั้น ไม่สมควรที่จะเป็นหนี้สินกันง่ายๆ เเละเมื่อเป็นหนี้สินแล้ว ก็จะต้องรีบเร่งในการชำระ หรือชำระตามวันเวลาที่ได้ตกลงกัน

และหากคนๆหนึ่งประวิงเวลาในการชำระหนี้สิน ทั้งๆที่มีความสามารถ จะจ่าย

การกระทำเช่นนี้ ถือ การอธรรม ซอเล็ม

ท่านนบีซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮีวะซัลลัม กล่าวว่า

‎ ﻣَﻄْﻞُ ﺍﻟْﻐَﻨِﻰِّ ﻇُﻠْﻢٌ ، ‏

การประวิงเวลา(ในการชำระหนี้สิน)ของคนที่มีเงินในการชำระ ถือเป็นการซอเล็ม การอธรรม)
1] บันทึกโดยบุคคอรีย์

จงใจล่าช้าในการจ่ายหนี้สิน ถือเป็นภัยอันตราย และความขาดทุน ทั้งดุนยาและอาคีเราะฮ์

หากเจตนาล่าช้าในการจ่ายหนี้สิน ทั้งๆที่มีความสามารถ

หลายๆประการต่อไปนี้ ที่ผู้ติดหนี้สิน ซึ่งจงใจไม่ยอมจ่าย จะประสบ

1 หากเสียชีวิต และติดหนี้สินอยู่ เขาผู้นั้นจะถูกหักห้าม จากการเข้าสวรรค์ ถึงแม้จะตายชะฮีด ก็ตาม

ร่อซูลุ้ลลอฮ์ ซ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

‎وَالَّذِى نَفْسِى بِيَدِهِ لَوْ أَنَّ رَجُلاً قُتِلَ فِى سَبِيلِ اللَّهِ ثُمَّ أُحْيِىَ ثُمَّ قُتِلَ مَرَّتَيْنِ وَعَلَيْهِ دَيْنٌ مَا دَخَلَ الْجَنَّةَ حَتَّى يُقْضَى عَنْهُ دَيْنُهُ

ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ผู้ซึ่งที่ชีวิตของฉัน อยู่ในอำนาจของพระองค์ หากมาตรแม้นว่าคนๆหนึ่งถูกฆ่าตายในหนทางของอัลลอฮ์ ภายหลังจากนั้น เขาถูกให้มีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง แล้วถูกฆ่าตาย เป็นครั้งที่สอง และในสภาพที่ตัวเขามีหนี้สินติดอยู่ ดังนั้น เขาจะไม่ได้เข้าสวรรค์ จนกว่าหนี้สินของเขา จะถูกชำระ

[2] บันทึกโดย อะหฺมัด

2 สภาพของเขา หรือสิ่งที่เขาจะได้รับ นั้น ถูกแขวนเอาไว้ โดยไม่สามารถการันตีได้เลยว่า เขาจะปลอดภัย หรือ พินาศ
แน่นอนเหลือเกิน เราจะรู้สึกไม่ชอบ ไม่สุขใจกับสิ่งที่ไม่ชัดเจน ยิ่งไปกว่านั้น หากสิ่งนั้น เป็นเรื่องอาคีเราะฮ์ ที่จะมาถึง ระหว่างสวรรค์ หรือนรก
ร่อซูลุ้ลลอฮฺ ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮีวะซัลลัม

‎نَفْسُ الْمُؤْمِنِ مُعَلَّقَةٌ بِدَيْنِهِ حَتَّى يُقْضَى عَنْهُ

ชีวิตของผู้ศรัทธานั้น เกี่ยวพันกับหนี้สินของเขา จนกว่า หนี้สินนั้นจะถูกชำระ

[3] บันทึกโดย อัตตีรมิซีย์

ชัยค์ อะบุล อะลา อัลมุบารอกฟุรีย์ อธิบายฮาดิษบทนี้ไว้ว่า

อิมาม อัซซุยุตีย์ กล่าวว่า คนดังกล่าว (ที่มีหนี้สิน) จะถูกกักกัง ที่จะบรรลุถึงสถานที่ๆมีเกียรติ

‎قال السيوطي أي محبوسة عن مقامها الكريم وقال العراقي أي أمرها موقوف لا حكم لها بنجاة ولا هلاك حتى ينظر هل يقضى ما عليها من الدين أم لا انتهى

ในขณะเดียวกัน อิมาม อัลอิรอกีย์ กล่าวว่า กิจการงานของคนๆนั้น ถูกหยุด (ไม่ถูกทำอะไร) จะกระทั่งไม่สามารถตัดสินได้ว่า เขาเป็นคนที่ได้รับความปลอดภัย หรือเป็นคนที่ประสบกับความพินาศ จนกว่าเขาจะเห็นว่า หนี้สินของเขาถูกชำระแล้ว หรือยังไม่ได้ชำระ
[4] ตุห์ฟาตุ้ล อะหฺวาซีย์ 4/164

3.นบีไม่ละหมาดให้บุคคลที่มีหนี้สิน ติดตัว ทั้งๆที่การละหมาดของท่านนบีคือ ชะฟาอะฮ์ จากท่านญะบีร ร่อฎียัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า

‎كَانَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ لَا يُصَلِّي عَلَى رَجُلٍ مَاتَ وَعَلَيْهِ دَيْنٌ فَأُتِيَ بِمَيِّتٍ فَقَالَ أَعَلَيْهِ دَيْنٌ قَالُوا نَعَمْ دِينَارَانِ قَالَ صَلُّوا عَلَى صَاحِبِكُمْ

ปรากฏว่าร่อซูลุ้ลลอฮฺ ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮีวะซัลลัมนั้น จะไม่ละหมาดให้แก่คนๆหนึ่ง ที่มีหนี้สินติดตัวอยู่ ต่อมา ในขณะที่มีคนนำมัยยิต มา ณ ที่ท่านนบี ท่านนบีก็จะถามว่า คนนี้มีหนี้สินไหม บรรดาซอฮาบัตจึงตอบว่า มี สองดีนาร ท่านนบีจึงกล่าวว่า พวกท่านจงละหมาดแก่เพื่อนของท่านไปเถิด

5] บันทึกโดยอบูดาวุด 3343,

ฮาดิษบทนี้ นบีต้องการอธิบายแก่บรรดาซอฮาบัตว่า หนี้สิน เป็นสิ่งที่ไม่ควรประวิงเวลาไว้เป็นอันขาด จนกระทั่งเสียชีวิต ในสภาพที่คนๆนั้น มีความสามารถจ่าย

อิบนุก็อยยิม อัลเญาซีย์ อธิบายว่า แท้จริงแล้วละหมาดของท่านนบีซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม คือ ชะฟาอะห์ โดย อิบนุก็อยยิม กล่าวว่า

‎وَكَانَ إذَا قُدّمَ إلَيْهِ مَيّتٌ يُصَلّي عَلَيْهِ سَأَلَ هَلْ عَلَيْهِ دَيْنٌ أَمْ لَا ؟ فَإِنْ لَمْ يَكُنْ عَلَيْهِ دَيْنٌ صَلّى عَلَيْهِ وَإِنْ كَانَ عَلَيْهِ دَيْنٌ لَمْ يُصَلّ عَلَيْهِ وَأَذِنَ لِأَصْحَابِهِ أَنْ يُصَلّوا عَلَيْهِ فَإِنّ صَلَاتَهُ شَفَاعَةٌ وَشَفَاعَتَهُ مُوجَبَةٌ

เมื่อผู้คนนำมัยยิตมา ที่ท่านนบี ท่านก็จะถามว่า มัยยิตนี้ มีหนี้สิน หรือไม่?

ดังนั้น หากมัยยิตไม่มีหนี้สิน ท่านนบีก็จะละหมาดให้ แต่หากมีหนี้สิน ท่านนบีก็จะไม่ละหมาด แต่นบีอนุญาตให้บรรดาซอฮาบัตละหมาดแก่คนๆนั้น แท้จริง ละหมาดของท่านนบีต่อมัยยิตนั้น คือ ชะฟาอะห์ ซึ่งเป็นชะฟาอะหฺ ที่แน่นอน

[6] ซาดุ้ล มะอาด 1/486,

4 คนที่ติดหนี้ และจงใจไม่ชำระ เขาจะพบอัลลอฮ์ ในสถานะ หัวขโมย

ร่อซู้ลุ้ลลอฮฺ ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

‎ﺃَﻳُّﻤَﺎ ﺭَﺟُﻞٍ ﻳَﺪَﻳَّﻦُ ﺩَﻳْﻨًﺎ ﻭَﻫُﻮَ ﻣُﺠْﻤِﻊٌ ﺃَﻥْ ﻻَ ﻳُﻮَﻓِّﻴَﻪُ ﺇِﻳَّﺎﻩُ ﻟَﻘِﻰَ ﺍﻟﻠَّﻪَ ﺳَﺎﺭِﻗًﺎ

คนใดก็ตาม มีหนี้สินติดตัวอยู่ แล้วเจตนาไม่ยอมจ่าย เขาก็จะพบ อัลลอฮฺในสถานะ หัวขโมย

[7] บันทึกโดย อิบนุมาญะฮ์ 2410.

ก่อนกลับไปหาอัลลอฮ์ เตรียมตัว ตรวจสอบตัวเอง ว่าเคยไปซอเล็ม อธรรมใครไว้บ้าง อย่ามองของเล็กๆที่เราเอาของผู้อื่นมา โดยมิชอบธรรม เป็นเรื่องเล็กๆน้อย

เพราะตราบใดคนที่เราไปซอเล็ม หรือ เราอธรรม ยังไม่ให้อภัยให้เรา อัลลอฮ์ ก็จะไม่ทรงอภัยให้เราเช่นกัน

#เตือนกันในดุนยา อย่ารอเวลา ให้ถึงวันที่กลับไปหาอัลลอฮ์ เพราะวันนั้น การตักเตือน ไม่มีประโยชน์ การเตาบัต ไม่ส่งผลใดๆแล้ว ดุนยาคือ โลกแห่งการสะสมอ้ามาล อาคีเราะฮ คือ โลกแห่งการตอบแทน

วัลลอฮุอะลัม

ถอดความ อิบนุอัฟฟาน อัลฮาชีมีย์ เพจ อุลามะอฺที่ข้าพเจ้ารู้จัก