ดาวหกแฉก…ไม่ใช่สัญลักษณ์เฉพาะของยิวและอิสราเอล

ADMIN

“ดาวหกแฉก” ไม่ใช่สัญลักษณ์เฉพาะของยิวและอิสราเอล

ดาวหกแฉก (Hexagram หรือ Hexagon) เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้กันมานานในประวัติศาสตร์เป็นเชิงสัญลักษณ์ของอาณาจักร ศาสนา วัฒนธรรมของชนหลายกลุ่ม ในส่วนของศาสนามีการใช้กันมากในศาสนาอิสลามสาขานิกายฮานาฟี ยิวหรือฮิบรู ฮินดูและพุทธบางกลุ่ม คริสต์บางนิกาย ตลอดจนในกลุ่มที่นับถือผีในอัฟริการวมทั้งนิกายลึกลับบางพวก บางกลุ่มใช้เป็นสัญลักษณ์ของปีศาจ ที่เข้าใจกันว่าดาวหกแฉกคือดาวเดวิดเป็นสัญลักษณ์เฉพาะของยิวจึงเป็นความเข้าใจผิด

เดือนมิถุนายน 2017 ดร.วินัย ดะห์ลัน ได้เดินทางไปยังอินเดีย มีโอกาสเยี่ยมชมโบราณสถานของราชวงศ์โมกุลซึ่งเป็นมุสลิมปกครองอินเดียระหว่าง ค.ศ.1526-1857 ยาวนานกว่า 300 ปี พบดาวหกแฉกประดับอยู่ในโบราณสถานของราชวงศ์นี้หลายแห่ง ทั้งในสุสาน ป้อมปราการ พระราชวัง รวมทั้งมัสยิดเก่าแก่ของราชวงศ์โมกุล ลองถามคนอินเดียที่พอรู้เรื่องประวัติศาสตร์จึงได้ข้อสรุปว่าราชวงศ์โมกุลใช้ดาวหกแฉกเป็นสัญลักษณ์ของราชาบางองค์มานานก่อนการเกิดประเทศอิสราเอลหลายร้อยปี

ที่มาของดาวหกแฉกมีมาตั้งแต่ยุคโบราณ ใครจะเป็นผู้เขียนคนแรกไม่มีหลักฐานปรากฏ เก่าแก่ที่สุดคือพบในวัดฮินดูแถบอินเดียใต้ นอกจากนี้ยังพบในวัดพุทธและวัดเจนนะบางแห่ง ในตะวันออกกลาง ชาวยิวเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์เดวิด 1,000 ปีก่อนคริสตศักราช ยิวมองว่ากษัตริย์เดวิดสร้างอาณาจักรยิวโบราณทว่านักประวัติศาสตร์และโบราณคดียุคหลังพบว่าอาณาจักรของกษัตริย์เดวิดเป็นเพียงหนึ่งเมืองในยุคโบราณเท่านั้น กษัตริย์เดวิดนี้อิสลามถือว่าเป็นหนึ่งในศาสดาที่มีชื่อว่านบีดาวูด

ในส่วนของอิสลาม ดาวหกแฉกถูกใช้เป็นตราบนธงในกองทัพของกษัตริย์โซโลมอนหรือนบีสุลัยมานซึ่งเป็นโอรสของกษัตริย์เดวิด หมายถึงนบีสุลัยมาน (อ.ล.) คือบุตรของนบีดาวูด (อ.ล.) มุสลิมยุคเก่าเรียกดาวหกแฉกนี้ว่า “ฆอติม สุลัยมาน” (خاتم سليمان) หมายถึงตราแผ่นดินของนบีสุลัยมาน (อ.ล.) คนยุคใหม่มักเข้าใจว่าดาวหกแฉกคืออิสราเอล อันที่จริงการนำดาวหกแฉกมาเป็นสัญลักษณ์ของยิวยุคใหม่เกิดขึ้นใน ค.ศ.1890 เมื่อมีการตั้งขบวนการไซออนิสต์ขึ้น จากนั้นอีก 58 ปีจึงนำมาใช้เป็นเครื่องหมายบนธงอิสราเอลใน ค.ศ.1948 เป็นการใช้ในยุคหลัง ก่อนหน้านั้นมีการนำมาใช้ในหลายศาสนาอย่างที่บอก ดังนั้นใครจะบอกว่าดาวหกแฉกคือดาวเดวิดเป็นเครื่องหมายเฉพาะของยิวหรืออิสราเอลจึงไม่ถูกต้อง

ที่มา : ดร.วินัย ดะห์ลัน