หลักปฏิบัติเกี่ยวกับหะดิษฏออีฟ

ADMIN

หลักปฏิบัติเกี่ยวกับหะดิษฏออีฟ

بِسْمِ اللهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيْم
اَلْحَمْدُ للهِ رَبِّ الْعَالَمِيْنَ وَ الصَّلاَةُ وَالسَّلاَمُ عَلىَ سَيِّدِنَا مُحَمَّدٍ وَعَليَ آلِهِ وَصَحْبِهِ أَجْمَعِيْنَ ،،، وَبعْدُ ؛
ท่าน อัศสัยยิด อับดุลลอฮ์ บิน อัศศิดดีก อัลฆุมารีย์ กล่าวว่า
ท่านอัลก๊อนนูญีย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือตัฟซีร ฟัตหุลบะยาน และได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนไว้ในหนังสือของเขา คือ นุซุล อัลอับร๊อร บิลอิลมิลมะษูร มินัลอัดอิยะฮ์ วัลอัษการ ว่า

تساهل العلماء و تسامحوا حتى استحبوا العمل فى الفضائل و
التغريب و الترهيب بالحديث الضعيف, ما لم يكن موضوعا و إلى هذا
ذهب الجمهور, و به قال النووى, و اليه نحا السخاوى و غيره, و
لكن الصواب الذى لا محيص عنه أن الأحكام الشرعية متساوية الأقدام,
فلا ينبغى العمل بحديث حتى يصح أو يحسن لذاته أو لغيره, أو انجبر
ضعفه فترقى الى درجة الحسن لذاته أو لغيره

“บรรดานักปราชน์ได้มีการผ่อนปรน จนกระทั่งพวกเขานับว่าเป็นสุนัตกับการปฏิบัติในบรรดาอะมัลคุณงามความดี การส่งเสริมให้ทำความดีและทำให้เกรงกลัวกับสิ่งที่ต้องห้าม ด้วยหะดิษฏออีฟ ตราบใดที่มันไม่เป็นหะดิษเมาฏั๊วะ ซึ่งหลักการนี้ เป็นทัศนะของนักปราชญ์ส่วนมาก ซึ่งเป็นทัศนะที่อิมามอันนะวาวีย์ได้กล่าวไว้ และเป็นแนวทางของท่าน อัลหาฟิซฺ อัสศัคคอวีย์ และท่านอื่น ๆ แต่ที่ถูกต้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้นก็คือ บรรดาหุกุ่มต่าง ๆ ของศาสนา(คือในสิ่งที่ฮาล้าลและหะรอม) มีระดับที่เท่าเทียมกัน ดังนั้น จึงไม่สมควรปฏิบัติด้วยกับหะดิษหนึ่ง จนกระทั้งหะดิษนั้นมีความซอฮิหฺหรือหะซันด้วยตัวของมันเอง หรือเป็นหะดิษหะซันด้วยการมีหะดิษอื่นมาสนับสนุน หรือหะดิษฏออีฟที่ได้รับการสนับสนุนและถูกยกระดับให้เป็นหะดิษหะซันด้วยตัวของมันเองหรือด้วยกับหะดิษอื่น”

ส่วนหนึ่งจากอุตริกรรมในศาสนาอันน่ารังเกียจ ที่กลุ่มอัลวะฮาบียะฮ์ผู้ชอบอ้างว่าตามอัลกุรอานและซุนนะฮ์พูดว่าฮะดิษฏออีฟอยู่ในความหมายของสิ่งที่โกหกเหลวไหลและพยายามทำฮะดิษฏออีฟให้อยู่ในตำแหน่งของฮะดิษเมาฏั๊วะ พวกเขาคิดว่าการปฏิบัติด้วยกับฮะดิษฏออีฟนั้น เป็นความโสมม บิดอะฮ์ที่ชั่ว และเป็นความโง่เขลา ทั้งที่การปฏิบัติด้วยกับอะดิษฎออีฟดังกล่าวนับว่าการดำเนินตามแนวทางของสะละฟุศศอลิห์ เนื่องจากฮะดิษฎออีฟมีขอบเขตที่สามารถนำมาปฏิบัติได้ในศาสนา ดังนั้นถือว่าเป็นการอธรรม(ซฺอลิม)ต่อศาสนาและวิชาความรู้ โดยการที่ทำฮะดิษฎออีฟให้อยู่ในฐานะของฮะดิษเมาฏั๊วะ ทั้งที่ความจริงแล้วฮะดิษฎออีฟเป็นฮะดิษที่มีรากฐานที่มา แต่ไม่ครบเงื่อนไขที่ซอฮิห์ หมายถึงในฮะดิษฎออีฟนั้นในแง่หนึ่งมีความถูกต้องและมีเงื่อนไขที่สามารถรับมาเป็นฮะดิษได้ แต่ยังมีเงื่อนไขบางประการยังไม่สมบูรณ์เท่านั้นเอง

ด้วยเหตุนี้บรรดาปราชญ์อิสลามจึงตอบรับฮะดิษฎออีฟโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการปฏิบัติในเรื่องคุณงามความดี(ฟะฎออิลุลอะมาล) และนำฮะดิษฎออีฟมาใช้เกี่ยวกับฮุกุ่มที่ไม่ใช่วายิบหรือฮะรอม ดังนั้นฮะดิษฎออีฟจึงมิใช่เป็นฮะดิษประเภทที่ถูกปฏิเสธเลยอย่างสิ้นเชิง แต่ยิ่งกว่านั้นปราชญ์สะละฟุศศอลิห์บางส่วนยังนำมาปฏิบัติในบางสถานที่ และยกฮะดิษฎออีฟให้อยู่ในระดับฮะซันได้ด้วยเงื่อน ๆ อันที่เป็นยอมรับกัน ดังนั้นสิ่งที่ผมได้พูดนี้อาจจะไม่ทำให้บางกลุ่มพอใจเลย แต่ทว่าการสร้างความพึงพอใจต่ออัลเลาะฮ์นั้นย่อมมีความจำเป็น ถึงแม้ว่าจะมีบางกลุ่มต้องไม่พอใจก็ตาม
ท่านอัชชัยค์ อิบรอฮีม อัลชิบรอคีตีย์ ได้กล่าวว่า
وَمَحَلُّ كَوْنِهِ لَايَعْمَلُ بِالضَّعِيْفِ فِي الأَحْكَامِ مَالَمْ يَكُنْ تَلَقَّاهُ النَّاسُ بِالقَبُوْلِ، فَإِنْ كَانَ كَذَلِكَ تَعَيَّنَ وَصَارَ حُجَّةً يُعْمَلُ بِهِ فِي الأَحْكَامِ وَغَيْرِهَا كَمَا قَالَ الِإمَامُ الشَّافِعِي رَحِمَهُ اللهُ تَعَالَى

“ประเด็นที่ไม่สามารถปฏิบัติด้วยกับฮะดิษฎออีฟเกี่ยวกับฮุกุ่มต่าง ๆ ได้นั้น คือฮะดิษที่เหล่าปวงปราชญ์มิได้รับมันมาปฏิบัติ ดังนั้นถ้าหากเหล่าปวงปราชญ์นำมาฮะดิษฎออีฟมาปฎิบัติ มันก็ย่อมเป็นหลักฐานที่สามารถนำมาปฏิบัติในฮุกุ่มต่าง ๆ และอื่น ๆ ได้ ดังที่อิมามอัชชาฟิอีย์ ร่อฮิมะฮุลลอฮ์ ได้กล่าวไว้” หนังสืออัชชัรหุอัรบะอีน อันนะวาวียะฮ์ หน้า 39
ท่านอิมามอัลลักนาวีย์ ได้กล่าวว่า
وَتَبِعَ أَحْمَدُ أَبُوْ دَاوُدَ، وَقَدَّمَاهُ عَلىَ الرَّأْيِ وَالْقِيَاسِ. وَيُقَالُ عَنْ أَبِي حَنِيْفَةَ أَيْضاً ذَلِكَ، وَإِنَّ الشَّافِعِيَّ يَحْتَجُّ بِالْمُرْسَلِ إِذَا لَمْ يَجِدْ غَيْرَهُ

“ท่านอะบูดาวูดได้ตามท่านอิมามอะห์มัด โดยทั้งสองได้นำฮะดิษฎออีฟมาอยู่ก่อนความเห็นและการกิยาส(เทียบเคียง) และสิ่งดังกล่าวก็ถูกอ้างถึงท่านอะบูฮะนีฟะฮ์เช่นเดียวกัน และแท้จริงอิมามอัชชาฟิอีย์ก็อ้างหลักฐานด้วยกับฮะดิษมุรซัล (ฮะดิษที่ตาบิอีนรายงานถึงท่านนบีโดยตกซอฮาบะฮ์ไป) เมื่อไม่พบว่ามีฮะดิษอื่น” หนังสืออัลอัจญฺวิบะตุลฟะฎีละฮ์ หน้า 51
ท่านอัลฮาฟิซฺ อัศศะคอวีย์ ได้กล่าวว่า

لَكِنَّهُ اِحْتَجَّ بِالضَّعِيْفِ حِيْنَ لَمْ يَكُنْ فِي البَابِ غَيْرُهُ، وَتَبِعَهُ أَبُوْ دَاوُدَ، وَقَدَّمَاهُ عَلى الرَّأْيِ وَالقِيَاسِ وَيُقَالُ عَنْ أَبِي حَنِيْفَةَ أَيْضاً ذَلِكَ وَإِنَّ الشَّافِعِيَّ يَحْتَجُّ بِالمُرْسَلِ إِذَا لَمْ يَجِدْ غَيْرَهُ
“แต่ว่าอิมามอะห์มัดได้อ้างหลักฐานด้วยกับฮะดิษฏออีฟในขณะที่ในบทนั้นไม่มีฮะดิษอื่นแล้ว และท่านอะบูดาวูดได้ตามทัศนะของอิมามอะห์มัด โดยทั้งสองได้นำฮะดิษฎออีฟมาอยู่ก่อนความเห็นและการกิยาส(เทียบเคียง) และแท้จริงอิมามอัชชาฟิอีย์ก็อ้างหลักฐานด้วยกับฮะดิษมุรซัล (ฮะดิษที่ตาบิอีนรายงานถึงท่านนบีโดยตกซอฮาบะฮ์ไป) เมื่อไม่พบว่ามีฮะดิษอื่น” หนังสือ ฟัตหุลมุฆีษ 1/287

ท่านอิมามอัดดารุกุฏนีย์กล่าวว่า
وَمِنْ عَادَةِ مَالِكٍ إِرْسَالُ الأَحَادِيْثِ وَإِسْقَاطِ رَجُلٍ
“และตามธรรมเนียมของอิมามมาลิกนั้น จะรายงานฮะดิษมุรซัลโดยทำให้ตกผู้รายงานไปคนหนึ่ง” หนังสือ อัลอิลัล 6/63
ท่านอิบนุมะฮ์ดี (ปราชญ์สะลัฟ) ได้กล่าวว่า
اِذَا رَوّيْنَا عَنِ النَّبىِّ صَلَّى اللّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فِى الحَلاَلِ , وَالْحَرَامِ , وَالأَحْكَامِ , شَدَّدْنَا فِى الأَسَانِيْدِ , وَانْتَقَدْنَا الرِّجَالَ , وَاِذَا روّينا فِى الفَضَائِلِ , وَالثَّوَابِ , وَالعِقَابِ , تَسَاهَلْنَا فِى الأَسَانِيْدِ , وَتَسَامَحْنَا فِى الرِّجَالِ

“เมื่อเรา(ชาวสะละฟุศศอลิห์)ได้ทำการรายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในเรื่องฮะล้าล ฮะรอม และเรื่องฮุกุ่มต่าง ๆ นั้น เราจะเข้มงวดในสายรายงาน และเราก็จะทำการวิจารณ์บรรดานักรายงาน และเมื่อเรา(ชาวสะละฟุศศอลิห์)ทำการรายงาน(ฮะดิษ)ในเรื่องคุณงามความดี เรื่องผลบุญ การลงโทษ เราจะไม่เข้มงวดในสายรายงาน และเราจะผ่อนปรนในบรรดานักรายงาน” หนังสือ อัลมัดค็อล อิลา กิตาบิล อิกลีล หน้า 29 ของท่านอิมาม อะบี อับดิลลาฮ์ อัลฮากิม
ดังนั้นสิ่งที่ได้นำเสนอข้างต้น ได้บ่งชี้ว่า การรายงานและการปฏิบัติด้วยกับฮะดีษฎออีฟนั้นเป็นทัศนะของสะละฟุศศอลิห์ ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุ้ม

เงื่อนไขในการอนุญาตให้ปฏิบัติหะดิษฏออีฟ

1. หะดิษต้องไม่ฏออีฟมากเกินไป ซึ่งหากว่าฏออีฟเป็นอย่างมาก ก็ไม่อนุญาตให้นำมาปฏิบัติ เงื่อนไขนี้ เป็นมติสอดคล้อง ดังที่ท่าน อัลหาฟิซฺ อัลอะลาอีย์ และท่าน ตะกียุดดีน อัสศุบกีย์ ได้กล่าวไว้ ตัวอย่างหะดิษที่ฏออีฟมากๆก็คือ มีนักรายงานหะดิษที่ถูกกล่าวหาว่าโกหก หรือผิดพลาดอย่างน่าเกลียด หรือหลงลืมเป็นอย่างมาก หรือความชั่วของเขาปรากฏให้เห็น และอื่นๆ
2. หะดิษฏออีฟต้องอยู่ภายใต้พื้นฐานโดยรวมจากพื้นฐานต่างๆ ของศาสนา ดังนั้น จะไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้กับหะดิษที่อยู่นอกเหนือสิ่งดังกล่าว เช่นหะดิษนั้นให้ความหมายถึงการประดิษฐ์สิ่งหนึ่งขึ้นมาเป็นหลักการหนึ่งของ ศาสนา
3. ต้องไม่เชื่อมั่นอย่างร้อยเปอร์เซ็นว่า การปฏิบัติดังกล่าวนั้น ได้รับการยืนยันมาจากท่านนบี(ซ.ล.) เพื่อที่จะไม่เป็นคาดการกับพาดพิงไปยังท่านนบี(ซ.ล.)กับสิ่งที่ท่านไม่ได้ กล่าวไว้

สองเงื่อนไขแรกนั้น ท่าน อิซซุดดีน บิน อับดุสลาม ได้กล่าวเอาไว้ และศิษย์ของท่าน คือ ท่าน ตะกียุดดีน อิบนุ ตะกีก อัลอีด ได้กล่าวไว้เช่นกัน และจุดมุ่งหมายด้วยการปฏิบัติหะดิษฏออีฟ ก็คือ “อนุญาตให้ปฏิบัติหะดิษฏออีฟได้ โดยบุคคลหนึ่งได้กระทู้สิ่งที่หะดิษฏออีฟส่งเสริม ด้วยเจตนาที่จะได้รับผลบุญจากการกระทำนั้น และหลีกห่างจากสิ่งที่หะดิษได้บอกเตือนให้ระวัง
ท่านอิบนุหะญัร อัลอัสเกาะลานีย์ กล่าวว่า
وَقَدْ اتَّفَقُوْاعَلَى أَنَّهُ لَا يُعْمَلُ بِالْمَوْضُوْعِ وَإِنَّمَا يُعْمَلُ بِالضَّعِيْفِ فِى فَضَائِلِ الأَعَمَالِ

“บรรดาปวงปราชญ์ มีทัศนะพร้องกันว่า แท้จริงจะไม่ถูกนำมาปฏิบัติกับหะดิษฏออีฟ แต่จะถูกนำมาปฏิบัติกับหะดิษฏออีฟเกี่ยวกับเรื่องคุณงามความดี” ดู หนังสือ มิชกาฮ์ อัลมะซอบีหฺ 3/306

ท่านอิบนุ อะลาน ได้กล่าวอธิบายเพิ่มเติมว่า “ท่านอิบนุหะญัร อัลฮัยษะมีย์ อัลมักกีย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ ฟุตหุลมุบีน อธิบายหนังสือ อัลอัรบะอีนของอิมามอันนะวาวีย์ และได้บ่งชี้ถึงการความเห็นสอดคล้องกับปวงปราชญ์ ซึ่งท่านอิบนุหะญัรได้กล่าวโต้ตอบผู้คัดค้านที่กล่าวว่า “บรรดาคุณงามความดี นั้น ต้องได้รับมาจากผู้บัญญัติศาสนา(ที่ซอฮิหฺ) เพราะการยืนยันด้วยกับหะดิษฏออีฟ ถือเป็นการประดิษฐ์เรื่องอิบาดะฮ์ขึ้นมาและทำการบัญญัติในเรื่องศาสนาที่อัลเลาะฮ์มิได้ทรงอนุญาต” ซึ่งท่านอิบนุหะญัร ได้โต้ตอบว่า “มติของปวงปราชญ์(เกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติด้วยกับหะดิษฏออีฟ) นี้ บางครั้งเป็นมติที่เด็ดขาดแน่นอนและบางครั้งเป็นมติที่คาดว่าค่อนข้างมีน้ำหนักที่ไม่สามารถจะถูกปฏิเสธด้วยการกล่าวอ้างเฉกเช่นสิ่งดังกล่าว หากแม้ว่าไม่มีคำโต้ตอบให้ก็ตาม ดังนั้น จะอย่างไรเล่า ในเมื่อคำตอบจริง ๆ นั้น ย่อมมีความชัดเจนแล้วว่า คือ การปฏิบัติด้วยกับหะดิษฏออีฟมิใช่เป็นเรื่องของการประดิษฐ์หรือวางบทบัญญัติขึ้นมาเอง แต่ทว่าที่จริงแล้ว มันเป็นเรื่องของการแสวงหาและมุ่งหวังในความดีงามด้วยฮะดิษที่ฏออีฟโดยไม่มีผลเสียติดตามมา” ดู หนังสือ อัลฟุตูฮาต อัรร๊อบบานียะฮ์ อธิบาย อัลอัษการอันนะวาวียะฮ์ ของท่าน อิบนุอะลาน 1/83
วิเคราะห์ทัศนะของท่านอิบนุ อัลอะรอบีย์ อัลมาลิกีย์

นักวิชาการส่วนน้อยที่ไม่ปฏิบัติฮะดิษฎออีฟ มักจะอ้างทัศนะของท่านอิบนุ อัลอะรอบีย์ มาสนับสนุนในทัศนะของตน ซึ่งความจริงแล้วมิใช่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เนื่องจากเมื่อตรวจสอบแล้ว ท่านอิบนุ อัลอะรอบีย์ได้เปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกจากทัศนะดังกล่าว
ท่านอิบนุ อัลอะลาล กล่าวว่า “ท่านอิมาม อัซซัรกาชีย์ ได้ทำการถ่ายทอดทัศนะของท่านอิบนุ อัลอะรอบีย์ จากหนังสือบางเล่มของท่านอิบนุ อัลอะรอบีย์ ซึ่งกล่าวว่า “หะดิษฏออีฟไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้เลย” ดู อัลฟุตูฮาต อัรร๊อบบานียะฮ์ เล่ม 1/83
“ท่าน อัลกอฏี อบูบักร อิบนุ อัลอะรอบีย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ มะรอกี อัซฺซุลัฟ ของท่านว่า หะดิษของท่านอิบนุอับบาสที่ว่า “เมื่อคนหนึ่งจากพวกท่าน ได้ร่วมสังวาสกับภรรยาหรือทาสหญิงของเขา ก็อย่ามองไปยังอวัยวะเพศของนาง” หากแม้นว่าหะดิษนี้ไม่ได้รับการยืนยันถึงหุกุ่มมักโระฮ์ก็ตาม แต่ทว่า หะดิษฏออีฟนั้น ย่อมดีกว่าความเห็นในเรื่องการกิยาสตามทัศนะของปวงปราชญ์”
ท่านอิบนุอะลาน ได้กล่าวว่า

وَأَمَّا كَلاَمُ الْحَافِظِ اِبْنِ الْعَرَبِيِّ فَيُحْمَلُ عَلَى شَدِيْدِ الضَّعْفِ الْمُتَّفَقِ عَلَى عَدَمِ الْعَمَلِ بِهِ، كَمَا أَشَارَ إِلَيْهِ السَّخَاوِيُّ

“ในหนังสือฮาวาชีย์อิบนุอัศศ่อลาห์ ขอท่านอัซซัรกาชีย์ ได้ถ่ายทอดการยืนยันบางส่วนจากตำราของท่านอิบนุอัลอะร่อบีย์ อัลมาลิกีย์ ที่ท่านได้กล่าวว่า “ฮะดีษฎออีฟจะไม่ถูกนำมาปฏิบัติได้เลย”…สำหรับคำพูดของอัลฮาฟิซ อิบนุ อัลอะรอบีย์นั้น ถูกตีความหมายถึง ฮะดีษฎออีฟอย่างมากที่สอดคล้องกันว่าไม่อนุญาตนำมาปฏิบัติ ตามที่ท่านอัศศ่อคอวีย์ได้บ่งชี้ไว้” ดู อัลฟุตูฮาต อัรร๊อบบานียะฮ์ 1/83
ท่านอิบนุ อับอะรอบีย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ อัลอาริเฏาะฮ์ อธิบายสุนันอัตติรมีซีย์ว่า

وَهُوَ وَإِنْ كَانَ مَجْهُوْلًا فَإِنَّهُ يُسْتَحَبُّ الْعَمَلُ بِهِ لِأَنَّهُ دُعَاءٌ بِخَيْرٍ وَصِلَةٌ لِلجَلِيْسِ وَتَوَدُّدٌ لَهُ

“ฮะดิษ(ที่ท่านอัตติรมีซีย์ได้รายงาน)นั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นหะดิษมัจญโฮลก็ตาม ดังนั้น ก็ถือว่าเป็นสุนัตให้ทำการปฏิบัติกับมันได้ เพราะว่ามันเป็นการขอดุอาอ์ เกี่ยวกับสิ่งดีงามและเชื่อมความสัมพันธ์และรักใคร่กับมิตรสหาย” ถ่ายทอดจากหนังสือ อัสซุนนะฮ์ วะ อัลบิดอะฮ์ ของท่าน อับดุลเลาะฮ์ มะหฺฟูซฺ อัลหัดดาด บะลาวีย์ หน้า 95
ดังนั้น จากคำกล่าวของท่านอิบนุอะรอบีย์ โดยตรวจสอบจากบรรดาตำราที่ท่านประพันธ์ขึ้นมานั้น สรุปได้ว่า ท่านอิบนุอะรอบีย์ไม่ได้ปฏิเสธหลักการปฏิบัติหะดิษฏออีฟเสียทั้งหมด แต่หากว่าเป็นหะดิษฏออีฟมากๆ นั่นย่อมนำมาใช้ปฏิบัติไม่ได้เลย

วิเคราะห์ทัศนะของท่านอิมามบุคคอรีย์
ท่านอัลกอสิมีย์ กล่าวว่า “และสิ่งที่ปรากฏให้เห็นนั้น แท้จริงทัศนะของท่านบุคอรีย์ คือสิ่งดังกล่าว (หมายถึงไม่รายงานหะดิษเฏาะอีฟในหนังสือซอฮิห์บุคอรี) ซึ่งบ่งชี้ว่า นั้นคือ เงื่อนไขของท่านบุคอรีไว้ในหนังสือเศาะเฮียะของท่าน” เกาะวาอิดุตตะห์ดีษ หน้า 113

อิมามอัลบุคอรีย์ไม่มีตัวบทที่ชัดในคำพูดของท่านเลยว่าท่านได้ปฏิเสธและห้ามปฏิบัติฮะดิษฎออีฟ และหนังสือ “อัลอะดับอัลมุฟร็อด” ของท่านที่กล่าวถึงการปฏิบัติคุณงามความดีและจรรยามารยาทซึ่งมีบรรดาฮะดีษฎออีฟอยู่ด้วย ซึ่งหากท่านจะทำให้มันบริสุทธิ์ไร้ฎออีฟดั่งที่ทำในหนังสือซอฮิห์บุคอรีย์หรือหนังสืออัลญามิฮฺอัซซอฮิหฺของท่านทำไมท่านไม่ทำ นั่นก็เพราะว่าการที่ท่านบุคอรีย์ได้นำเสนอฮะดิษฎออีฟไว้ในหนังสือ อัลอะดับอัลมุรัด ก็เพราะท่านมีทัศนะให้ผ่อนปรนในการรายงานฮะดิษที่เกี่ยวกับคุณค่าของอะมัล

ส่วนคำพูดของท่านอัลกอซีมีย์ที่ว่า “นั้นคือ เงื่อนไขของท่านบุคอรีไว้ในหนังสือเศาะเฮียะของท่าน” ประโยคนี้มิได้หมายถึงท่านบุคอรีมีทัศนะว่าไม่รายงานบรรดาฮะดิษฎออีฟ แต่ชัยค์อัลกอสิมีย์ต้องการบอกว่าท่านอิมามอัลบุคอรีย์ไม่เอาฎออีฟในเรื่องฟะฎออิลนั้น ก็คือ เงื่อนไขที่ท่านวางไว้ในการเขียนหนังสือศอฮิห์อัลบุคอรีย์หรือหนังสืออัลญาเมียอ์อัศศอเฮียฮ์อัลมุสนัดฯ ของท่านเป็นการเฉพาะเท่านั้น เพราะถ้าท่านบุคอรียึดทัศนะไม่รายงานฮะดิษฎออีฟจริง แน่นอนว่าบรรดาฮะดิษฎออีฟจะไม่มีปรากฎในหนังสือ “อัลอะดับอัลมุฟร็อด” ของท่านอย่างเด็ดขาด แต่ความจริงได้ยืนยันแล้วว่าในหนังสืออัลอะดับอัลมุฟร็อดของท่านบุคอรีย์มีบรรดาฮะดิษฎออีฟด้วย(ตามการยืนยันของอัลอัลบานีย์เอง)

ส่วนท่านมุสลิมนั้น แม้ท่านจะไม่รายงานฮะดิษฎออีฟไว้ในหนังสือซอฮิห์ของท่าน แต่ท่านได้รายงานฮะดิษฎออีฟไว้ในบทนำของหนังสือซอฮิห์ของท่านเอง ซึ่งบ่งชี้ว่าท่านผ่อนปรนในเรื่องการรายงานฮะดิษฎออีฟด้วยเช่นกัน
ด้วยเหตุดังกล่าวทั้งหมดนี้ ท่านอิมามอันนะวาวีย์จึงกล่าวไว้ในหนังสือ อัลอัษการ ของท่านว่า

وَ ذَكَرَ الفُقَهَاءُ وَ المُحَدَّثُوْنَ أَنَّهُ يَجُوْزُ وَ يُسْتَحَبُّ الْعَمَلُ فِى الفَضَائِلِ وَالتَّرْغِيْبِ وَالتَّرْهِيْبِ بِالحَدِيْثِ الضَّعِيْفِ مَا لَمْ يَكُنْ مَوْضُوْعاً

“บรรดานักปราชญ์นิติศาสตร์อิสลามและนักปราชญ์หะดิษกล่าวว่า แท้จริง อนุญาตและสุนัตกับการปฏิบัติคุณงามความดี , ส่งเสริมให้ชอบกระทำความดี และเตือนให้เกรงกลัวด้วยกับหะดิษฏออีฟ ตราบใดที่มันไม่เมาฏั๊วะ” ดู หนังสือ อัลฟุตูฮาต อัรร๊อบบานียะฮ์ อธิบาย อัลอัษการอันนะวาวียะฮ์ ของท่าน อิบนุอะลาน เล่ม 1 หน้า 82
แต่เป็นที่น่าเสียใจ ที่ปรากฏว่าปัจจุบันยังมีบางกลุ่มพยายามนำประเด็นเรื่องฮะดิษฎออีฟมาเป็นปัจจัยในการฮุกุ่มพี่น้องมุสลิมที่ปฏิบัติฮะดิษฎออีฟในเรื่องคุณความดีตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ ว่าเป็นผู้กระทำบิดอะฮ์ เป็นคนชั่ว และลุ่มหลงตกนรก ทั้งที่การปฏิบัติฮะดิษฎออีฟเป็นแนวทางของสะละฟุศศอลิห์ ดังนั้นพฤติกรรมของบางกลุ่มที่อ้างว่าไม่ยึดฮะดิษฎออีฟ แล้วทำการฮุกุ่มต่อผู้อื่นที่ทัศนะต่างกับตนในเรื่องการปฏิบัติฮะดิษฎออีฟตามเงื่อนไขนั้น ถือว่าพวกเขากำลังก่ออุตริกรรมบิดอะฮ์ในศาสนาที่น่ารังเกียจ ฉะนั้นพวกเขากล้าพูดไหมล่ะครับว่า บรรดาฮะดิษฎออีฟตามหลักการดังกล่าวไม่เรียกว่าฮะดิษนบี?!
วัลลอฮุอะลัม

credit
http://www.muslim2world.com/1431/index.php?option=com_content&view=article&id=15&Itemid=29