ผู้ถือศีลอดจะบ้วนปากและสูดน้ำเข้าจมูกจะได้หรือไม่?

ADMIN

ผู้ถือศีลอดจะบ้วนปากและสูดน้ำเข้าจมูกจะได้หรือไม่?

สำหรับผู้ถือศีอลอดที่จะบ้วนปากและสูดน้ำเข้าจมูกแล้วสั่งออกนั้น ถือว่าไม่ทำให้เสียศีลอด แต่ต้องกระทำอย่างค่อยๆอย่าให้รุนแรงมากนัก เพราะจะทำให้น้ำเข้าด้านในของลำคอและจมูกได้

ท่านนบี(ซ.ล.) สอนไว้ความว่า “จงให้รุนแรงในการสูดน้ำเข้าจมูกแล้วสั่งออก ยกเว้นท่านจะเป็นคนถือศีลอด” (ควรกระทำค่อยๆ)

กรณีการบ้วนปากและสูดน้ำเข้าจมูกนั้น ในหมู่นักวิชาการนิติศาสตร์อิสลาม(ฟุกอฮาอ์) ได้แยกแยะไว้หลายประเด็น แต่ประเด็นก็มีข้อตัดสิน(ฮุก่ม) ที่แตกต่างกันออกไป ดังจะได้มาเรียนพอเป็นสังเขปดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง ศาสนาส่งเสริมให้บ้วนปากและสูดน้ำเข้าจมูก เพื่อทำความสะอาด สำหรับผู้ถือศีอลอดและไม่ได้ถือศีลอด แต่ผู้ถือศีลอดนั้นควรกระทำอย่างค่อยๆ ถ้าน้ำไม่เข้าสู่ด้านใน ถือว่าไม่เสียศีลอด โดยเอกฉันท์

ประเด็นที่สอง เมื่อคนหนึ่งถือศีลอด เขาบ้วนปากหรือสูดน้ำเข้าจมูกน้ำได้เข้าสู่ด้านในของจมูกและปาก(เข้าล้ำลำคอที่ออกเสียงฮาเล็ก) ต้องพิจารณาต่อไปว่า การกระทำ(บ้วนปากและสูดน้ำเข้าจมูก) นั้น กระทำอย่างรุนแรงหรือธรรมดา ถ้าหากกระทำอย่างธรรมดาและน้ำมันพลัดเข้าด้านในโดยไม่ตั้งใจถือว่าไม่เสียศีลอด

แต่ถ้ากระทำอย่างรุนแรงแล้วน้ำเข้าสู่ด้านในถือว่าทำให้เสียศีลอด นี้คือทัศนะคติของส่วนใหญ่ของมัซฮับซาฟิอี หะนะฟี และมาลิกี ส่วนมัซฮับฮำบาลี และบางส่วนของซาฟิอี ถือว่า เสียศีอลดทั้งสิ้นเมื่อมีน้ำเข้าสู่ด้านใน ไม่ว่าจะกระทำอย่างค่อยๆ หรืออย่างรุนแรงก็ตาม

ประเด็นที่สาม การบ้วนปากก็ดี การสูดน้ำเข้าจมูกก็ดี กระทำในโอกาสอะไร? หากกระทำในโอกาสอาบน้ำละหมาดหรืออาบน้ำวายิบ(ยกหะดัษ)หรือการที่ศาสนาส่งเสริมให้กระทำ ก็ให้ถือตามข้อตัดสินดังกล่าวแล้ว แต่ถ้าทำความสะอาดธรรมดา กรณีนี้ ถือว่าเสียศีลอดแน่นอน ถ้ามีน้ำเข้าสู่ด้านใน จะกระทำอย่างค่อยๆหรืออย่างรุนแรงก็ตาม

ขอขอบคุณอาจารย์ ชารีฟ ศรีเจริญ