แชร์ลูกโซ่ กองทุนเถื่อน ภัยร้ายคุกคามสังคมมุสลิม

ADMIN

แชร์ลูกโซ่ กองทุนเถื่อน ภัยร้ายคุกคามสังคมมุสลิม

หลายๆท่านอาจจะได้ยินมาบ้างแล้วว่าปัจจุบันมีพี่น้องมุสลิมได้ตกเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่ บางแชร์ลูกโซ่ใช้ภาพโฆษณาเป็นคนคลุมหัวถ่ายรูปกับรถหรู มีพี่น้องมุสลิมหลงเชื่อเสียหายจากแชร์ลูกโซ่รวมกันจำนวนหลายร้อยล้านบาท ตำรวจมีการจับกุมมิจฉาชีพที่เข้าข่ายกระทำความผิดเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ทุกๆปี ถ้าย้อนอดีตแชร์ลูกโซ่ดังๆ ก็จะมีแชร์แม่ชม้อย (ชวนลงทุนรถขนน้ำมัน) แชร์ชาเตอร์ (ชวนลงทุนสินค้าโภคภัณฑ์และอัตราแลกเปลี่ยน) แชร์บลิสเซอร์ (ชวนลงทุนการท่องเที่ยวโดยสมัครเป็นสมาชิก) แชร์ยูฟัน (ชวนลงทุนในสกุลเงินที่ตั้งขึ้นใหม่) หรือแม้แต่ OD Capital (ชวนระดมทุนลงทุนในบริษัทต่างประเทศเพื่อนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศ) นอกจากนี้ยังมีอีกหลายร้อยแชร์ลูกโซ่ที่ไม่ได้กล่าวถึง แต่ก็ต้องยอมรับว่าสังคมไทยคงจะยังเจอปัญหาเรื่องแชร์ลูกโซ่ไปอีกเรื่อย ๆ ในอนาคต แม้วิธีการหรือสินค้าที่ถูกใช้อ้างอิงในการสร้างแชร์ลูกโซ่เหล่านี้จะเปลี่ยนไปแค่ไหน แต่หลักการของแชร์ลูกโซ่นั้นแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลยตั้งแต่ในอดีตจนปัจจุบัน นอกจากนี้ในสัคมมุสลิมมีการตั้งกองทุนเถื่อนซึ่งเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ด้วยเช่นกันดังที่จะเห็นข่าวตามหน้าสื่อต่างๆ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่พี่น้องมุสลิมจะต้องติดอาวุธความรู้ เพื่อจะได้ไม่ไปหลงเชื่อกลโกงเหล่านี้

นิยามแชร์ลูกโซ่ คือ การระดมทุนด้วยวิธีทางต่างๆ โดยการใช้ผลตอบแทนสูงเพื่อมาล่อจูงใจเหยื่อ ซึ่งผลตอบแทนที่จริงๆ แล้วมาจากเงินที่ระดมทุนของสมาชิกใหม่นำมาจ่ายให้กับสมาชิกเก่า ไม่ว่าแชร์ลูกโซ่หรือกองทุนเถื่อนจะมีการเปลี่ยนรูปแบบไปบ้างแต่แก่นหลักก็ยังคงอยู่ภายใต้นิยามนี้เสมอ

อิสลามกับข้อห้ามการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่

แชร์ลูกโซ่คืออการโกงหรือการหลอกลวงรูปแบบหนึ่งซึ่งถือเป็นข้อห้ามในหลักการอิสลามจากหลักฐาน
พระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ. ) ตรัสว่า

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا لَا تَأْكُلُوا أَمْوَالَكُم بَيْنَكُم بِالْبَاطِلِ سورة النساء 29

ความว่า โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกท่านทั้งจงอย่ากินทรัพย์สินในระหว่างกันโดยมิชอบ (ซูเราะห์อันนิซาอฺ อายะห์ 29)
ท่านนบีมูฮัมหมัด ซ.ล. ตรัสว่า

قال رسول صلى الله عليه وسلم : ( من غشنا فليس منا) أخرجه مسلم في صحيحه (146)

ความว่า บุคคลใดที่คดโกง ไม่ใช่พวกของเรา

วิธีการหลอกลวงของแชร์ลูกโซ่

• จูงใจด้วยผลตอบแทนสูง อ้างว่านำไปลงทุนในธุรกิจที่มีกำไรดี แต่ไม่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของรายได้ตามกฎหมาย ต้องการสมาชิกใหม่ เพื่อนำเงินจากรายใหม่มาจ่ายให้รายเก่า การันตีผลตอบแทนรายเดือน รายปี ซึ่งเข้าข่าวการจ่ายดอกเบี้ย

• ทำแบบนี้เป็นต่อกันเป็นทอดๆ เป็นลูกโซ่

• เมื่อหมุนเงินไม่ทัน ก็จะเลื่อนการจ่ายผลตอบแทน และหนีไปในที่สุด
รูปแบบแชร์ลูกโซ่ที่พบเห็นได้บ่อย

• แอบแฝงในธุรกิจขายตรง

• อ้างว่าระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์

• อ้างว่านำเงินไปลงทุนในทองคำ และน้ำมัน

• แอบอ้างว่าคนดังชวนทำธุรกิจ

• ล่อลวงด้วยผลิตภัณฑ์รักษาโรคที่ดีเกินจริง

• อ้างว่านำเงินไปลงทุนในอัตราแลกเปลี่ยน FOREX

• อ้างว่าลงทุนโดยการขายทริปท่องเที่ยว

• อ้างว่าลงทุนในสกุลเงินคริปโต(สกุลเงินดิจิตอล)

ตามกฎหมายการลงทุนนี้จะต้องได้รับอนุญาตจากท่านผู้คุมกฎของประเทศไทยก่อนถึงจะให้บริการได้ผู้ที่ดูแลเรื่องนี้คือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือเรียกสั้นๆว่า ก.ล.ต.

โชคดีมากๆ!! เพราะแชร์ลูกโซ่เกี่ยวกับการลงทุนลักษณะนี้จับผิดได้ง่ายมาก เพราะตรวจสอบได้จากเว็ปไซด์ของ ก.ล.ต. ได้ทันที ถ้าจดทะเบียนขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมายก็จะมีประวัติย้อนหลังให้เราค้นหาได้ว่าเป็นบริษัทเกี่ยวกับอะไร ผู้บริหารคือใคร แต่ว่าถ้าดูแล้ว “ไม่มี” แปลว่าน่าสงสัยแล้ว ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว
ตรวจสอบได้ที่ http://market.sec.or.th/public/orap/companyprofile01.aspx

การที่ลงทุนโดยไม่ตรวจสอบหรือ ไม่พิจารณาให้รอบครอบเข้าข่ายการลงทุนในความไม่แน่นอนหรือฆอรอรฺ ซึ่งศาสนาอิสลามได้ห้ามไว้ ดังนี้ มีรายงานหะดีษจากท่านอบูฮุร็อยเราะฮ์ ความว่า “ท่านรอซูรุลลอฮ์ได้ห้ามการค้าขายที่ไม่มีความแน่นอน ไม่โปรงใส” (บันทึกโดยติรมิซีย์) ดังนั้นถ้าต่อไปมีคนชวนไปลงทุนในบริษัทชื่อแปลกๆ ผลตอบแทนสูง การรันตีผลตอบแทน ไม่มีความเสี่ยง ไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐดังที่กล่าวมา ควรมาตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่ามีตัวตนจริงหรือไม่ อย่ามองแค่ผลตอบแทนสูงเพียงอย่างเดียว เพราะจะสูญเสียทรัพย์สินของท่านได้

(โครงการความร่วมมือการให้ความรู้แก่มุสลิม โดยคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพฯ และ บล. KTBST)

KTBST-islamic การออมและการลงทุนตามหลักศาสนาอิสลาม