ความมหัศจรรย์ของผึ้งที่ปรากฎในคัมภีร์อัลกุรอาน

ADMIN

#ความมหัศจรรย์ของผึ้งที่ปรากฎในคัมภีร์อัลกุรอาน

มนุษย์รู้จักผึ้งและผลิตภัณฑ์ของผึ้งมาตั้งแต่ดึกดำบรรณ จากประวัติศาสตร์โบราณพบว่ากษัตริย์ Menes แห่งอียิปต์ ทรงโปรดให้ผึ้งเป็นสัตว์สัญลักษณ์แห่งอาณาจักรของพระองค์ เพราะผึ้งช่วยผสมเกสรดอกไม้ ทำให้ผู้คนในแผ่นดินของพระองค์มีผลไม้บริโภคอย่างอุดมสมบูรณ์ และคนอียิปต์ก็รู้อีกว่านอกจากน้ำผึ้งจะมีคุณค่าทางอาหารแล้ว มันยังสามารถรักษาโรคได้หลายชนิด และเป็นเครื่องสำอางได้ด้วย นอกจากนี้บางเผ่าพันธุ์ได้ใช้น้ำผึ้งเดาหัวของศัตรูเพราะน้ำผึ้งสามารถรักษาของสดไม่ให้เน่าเปื่อยได้

ด้วยคุณค่าของผึ้งและผลิตภัณฑ์ผึ้งที่มีต่อมวลมนุษย์ อัลลอฮฺได้ตรัสในสูเราะฮฺ อัน-นัหลฺ อายัตที่ 68-69 เกี่ยวกับผึ้งว่าความว่า “และพระเจ้าของเจ้าทรงดลใจแก่ผึ้งว่า จงทำรังตามภูเขาและตามต้นไม้ และตามที่พวกเขา(มนุษย์)ทำขึ้น แล้วเจ้า(ผึ้ง) จงกินจากผลไม้ทั้งหลาย แล้วจงดำเนินตามทางของพระเจ้าของเจ้า โดยสะดวกสบาย มีเครื่องดื่มที่มีสีสรรต่างๆออกมาจากท้องของมัน ในนั้นมีสิ่งบำบัดแก่ปวงมนุษย์ แท้จริงในการนั้นแน่นอนย่อมเป็นสัญญาณแก่กลุ่มชนผู้ตรึกตรอง”

จากสองอายัตนี้ สำหรับคนที่เข้าใจภาษาอาหรับและเข้าใจในไวยากรณ์อาหรับแล้ว จะเห็นว่าอัลลอฮฺดลใจ(วะหยู)หรือพูดคุยกับผึ้งโดยใช้คำที่ใช้กับสตรีหรือเพศเมีย คือคำ اتَّخِذِي (จงทำ) كُلِي (จงกิน) فَاسْلُكِي (จงเดินหรือจงดำเนิน) และ بُطُونِهَا (ท้องของมันที่เป็นตัวเมีย) ทำให้เข้าใจได้ว่าผึ้งที่มีจำนวนมหาศาลและเป็นสัญลักษณ์ของผึ้งจะเป็นเพศเมีย

จากการศึกษาครอบครัวผึ้งพบว่า ผึ้งแต่ละรังเปรียบเสมือนครอบครัวหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วย 3 วรรณะคือ ผึ้งนางพญาหนึ่งตัว ผึ้งตัวผู้หลายร้อยตัว และผึ้งงานอีกจำนวนเป็นหมื่นตัว ถ้าเป็นผึ้งเลี้ยงอาจจะมี ผึ้งงานได้หลายหมื่นตัว

– ผึ้งแม่รังหรือผึ้งนางพญา (queen) มีลักษณะตัวใหญ่กว่าผึ้งงานและลำตัวยาวกว่าผึ้งตัวผู้ ทำหน้าที่ในการผสมพันธุ์ วางไข่และควบคุมการทำงานของประชากรของผึ้งภายในรัง ปกติจะมีอายุ 1-2 ปี แต่บางตัวอาจมีอายุนานถึง 3 ปี

– ผึ้งงาน(worker) เป็นผึ้งเพศเมียที่เป็นหมันมีขนาดเล็กที่สุด มีหน้าที่ทำความสะอาดหลอดรวง ให้ความอบอุ่นแก่ตัวอ่อน ให้อาหารตัวอ่อนและป้อนอาหารนางพญา ซ่อมสร้างหลอดรวง เป็นยามป้องกันหน้ารัง และออกหาอาหาร นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่ าผึ้งงานคือหุ่นยนต์ที่มีชีวิตตัวน้อย ๆ ทำงานเกือบตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย ดังนั้นผึ้งงานจึงมีอายุสั้นเพียง 6-8 สัปดาห์ เท่านั้น

ความแตกต่างของผึ้งเพศเมียทั้งสองวรรณะนี้ ขึ้นอยู่กับอาหารการกิน ผึ้งนางพญาจะกินนมผึ้งหรือรอยัลเยลลี (royal jelly)ตลอดชีวิตส่วนผึ้งงานจะเกินนมผึ้งในสามวันแรกเท่านั้นจากนั้นก็จะกินเกสรกับน้ำผึ้ง

– ผึ้งเพศผู้ (drone) มีขนาดใหญ่ ลำตัวอ้วนและสั้นกว่าผึ้งนางพญา ผึ้งตัวผู้ไม่มีเหล็กใน มีลิ้นสั้นหาอาหารเองไม่ได้ แต่จะรับอาหารจากผึ้งงานเท่านั้น ทำหน้าที่ผสมพันธุ์กับผึ้งนางพญา เมื่อผสมพันธุ์เสร็จหรือสิ้นฤดูผสมพันธ์ ผึ้งเพศผู้นี้ก็จะตายไป

#จะเห็นว่าผึ้งที่มีบทบาทมากที่สุดคือผึ้งงานซึ่งเป็นเพศเมีย

مِنَ الْجِبَالِ بُيُوتًا وَمِنَ الشَّجَرِ وَمِمَّا يَعْرِشُونَ

รังตามภูเขาและตามต้นไม้ และตามที่พวกเขา(มนุษย์)ทำขึ้น ตรงส่วนนี้ของอายัต แจงให้เรารู้ว่าบ้าน(بيت)หรือรังของผึ้งนั้นมีสามชนิด คือ ชนิดที่สร้างตามภูเขา พบว่าชนิดนี้พึ้งจะก่อสร้างขึ้นจากดิน ชนิดที่สองจากต้นไม้ ส่วนชนิดที่สามคือ สร้างจากสิ่งที่มนุษย์สร้าง รวมถึงกล่องที่มนุษย์ทำขึ้นเพื่อเลี้ยงผึ้งด้วย จากการสังเกตของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ผึ้งพบว่า น้ำผึ้งที่มาจากผึ้งภูเขาจะมีคุณสมบัติที่ดีสุด ซึ่งก็เป็นไปตามลำดับที่อัลลอฮฺได้เรียงในอายัตนี้

ثُمَّ كُلِي مِنْ كُلِّ الثَّمَرَاتِ

(แล้วเจ้า(ผึ้ง)จงกินจากผลไม้ทั้งหลาย) เมื่อผึ้งสร้างบ้าน(รัง)เสร็จ ก็จะออกหากิน เพราะอัลลอฮฺใช้คำว่า ثُمَّ แปลว่า แล้วหรือหลังจากนั้น หมายถึงหลังจากสร้างบ้านตามที่กล่าวข้างบน ก็ให้ไปหากิน كُلِي (เจ้าจงกิน) คนทั่วไปจะเข้าใจว่าผึ้งเมื่อให้น้ำหวานแล้ว อาหารของเขาก็ควรเป็นน้ำหวาน เมื่ออัลลอฮฺใช้ให้ผึ้งกินแทนที่จะบอกให้ดื่น(اشربي) นั้นแสดงให้เห็นชัดแล้วอาหารของผึงไม่ใช่มีแต่ของเหลวที่ผึ้งจะดื่มอย่างเดียว ผึ้งต้องออกไปกินด้วย

#จากการศึกษาพบว่าอาหารของผึ้งมี2ชนิดคือ

1. น้ำหวานจากดอกไม้ เป็นอาหารประเภท คาร์โบไฮเดรต ที่ให้พลังงานแก่ผึ้งและเป็นวัตถุดิบในการสร้างรัง

2. เกสรดอกไม้ ประกอบด้วย โปรตีน วิตามิน ไขมัน เกลือแร่ชนิดต่างๆ เป็นอาหารที่ใช้สำหรับเลี้ยงตัวอ่อนและนางพญาผึ้ง ตลอดจนการผลิตโรยัลเยลลี่(นมผึ้ง)

كُلِّ الثَّمَرَاتِ

(ผลไม้ทั้งหลาย) อาหารที่ผึ้งไปกินไม่เฉพาะเจาะจงชนิดใดชนิดหนึ่ง เพราะอัลลอฮฺใช้ ในอายัตนี้ว่า เป็นผลไม้ทั้งหลายหรือทุกอย่าง และผลไม้ในที่นี้หมายถึงเกสรดอกที่เป็นเหตุสำคัญของการเป็นผลไม้ ผึ้งไปเก็บรวบรวมเกษรที่เป็นเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ของดอกไม้โดยไปคลุกเคล้ากับอับเกสร ให้เกสรติดตามตัว และใช้ขาปัดเขี่ยรวมกันเป็นก้อนติดไว้ที่ขาหลังบริเวณอวัยวะที่เรียกว่าตะกร้าเก็บเกสร และนำกลับมาเก็บยังรังเพื่อ ใช้เป็นอาหารประเภทโปรตีนสำหรับประชากรในรังและโดยเฉพาะใช้เลี้ยงตัวอ่อน และบ่มในรังจนผนังเกสรนุ่ม จะถูกนำไปเลี้ยงผึ้งงานตัวอ่อนที่อายุมากกว่า 3 วัน โดยผึ้งจะบดผสมกับน้ำผึ้ง เกสรนี้เราเรียกว่า เกสรผึ้ง
(bee pollen)

#พืชที่เป็นอาหารของผึ้งสามารถแยกแยะได้3ลักษณะดังนี้

1. มีน้ำหวานมากแต่จะมีเกสรน้อย เช่น เงาะ ลิ้นจี มันสำประหลัง เป็นต้น

2. มีน้ำหวานน้อยแต่จะมีเกสรมาก เช่น ข้าวโพด นางนกยูง จามจุรี เป็นต้น

3. มีน้ำหวานและเกสรในปริมาณเท่าๆกัน เช่น นุ่น ลำไย ทานตะวัน เป็นต้น

فَاسْلُكِي سُبُلَ رَبِّكِ ذُلُلا

(แล้วจงดำเนินตามทางของพระเจ้าของเจ้าโดยสะดวกสบาย) ส่วนนี้ของอายัตนี้ทำให้เข้าใจได้ว่า หลังจากอัลลอฮฺบอกให้ไปหาอาหารจากที่เป็นผลไม้(เกสร ส่วนที่จะโตเป็นผลไม้) อัลลอฮฺก็สั่งให้ผึ้งเดินทางตามแนวทางที่กำหนด แม้ว่าบนเขา ในป่า หรือที่อื่นๆ จะมีพื้นที่ที่เป็นแหล่งอาหาร เป็นพืชสวน ต้นไม้ หรือพืชป่ากว้างใหญ่ไพศาลขนาดไหนก็ตาม แต่อัลลอฮฺก็ได้กำหนดแนวทางที่ง่ายดาย(ذُلُلا)สำหรับพวกเขา ไม่มีการหลงทาง

จากค้นพบของนักวิจัย อย่าง ศาสตราจารย์ คาร์ล ฟอนฟริช แห่งประเทศเยอรมนี ซึ่งได้เฝ้าดูผึ้งตัวน้อยๆ และสรุปว่า ลักษณะการบินของผึ้งหรือที่เรียกว่าการเต้นรำของผึ้งเป็นบอกทิศทางสำหรับผึ้ง โดยใช้วิธีการเต้นและทิศการบินแบบส่ายท้องที่ทำกับดวงอาทิตย์และรังเป็นการบอกทิศทางของแหล่งอาหาร และกลิ่นน้ำหวานที่ติดตัวผึ้งก็บ่งบอกแก่ผึ้งตัวอื่นๆ ถึงทิศทางของเส้นทางด้วย

يَخْرُجُ مِنْ بُطُونِهَا شَرَابٌ مُخْتَلِفٌ أَلْوَانُهُ فِيهِ شِفَاءٌ لِلنَّاسِ

(มีเครื่องดื่มที่มีสีสรรต่างๆออกมาจากท้องของมัน ในนั้นมีสิ่งบำบัดแก่ปวงมนุษย์) โดยทั่วไปแล้วอายัตนี้จะกล่าวถึงน้ำผึ้งที่มีสีสันต่างๆและมีสรรพคุณทางยาแก่มนุษย์ เมื่อผึ้งเก็บน้ำหวานจากดอกไม้ลงสู่กระเพาะก็จะมีน้ำย่อย(enzyme)จากต่อมน้ำลายขับออกมา ย่อยเปลี่ยนหรือเรียกว่าเมตรบอไลซ์ น้ำตาลกลูโคสและฟรุคโตสให้เป็นน้ำตาลแปรรูป (invert sugar) คือน้ำตาลลีวูโลสและเดคโทรส นอจากนั้นยัง มีน้ำตาลอื่นๆ อีกแต่มีจำนวนน้อยมาก ปฏิกิริยาการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ผึ่งเริ่มบินกลับรัง ในขณะที่ผึ้งกระพือปีกจะเกิดพลังงานความร้อนช่วยเร่งการทำงานของเอมไซม์ ตลอดจนช่วยเผาผลาญลดความชื้นในน้ำหวานให้กลายเป็นน้ำผึ้งเร็วขึ้น

เมื่อผึ้งงานกลับมาถึงรังจะคายน้ำหวานแปรรูปนี้ให้กับผึ้งงานประจำรังซึ่งจะรับกันด้วยปากต่อปาก น้ำหวานแปรรูปนี้ยังไม่เป็นน้ำผึ้งที่สมบูรณ์เพราะยังมีความชื้นหรือน้ำในน้ำหวานมากถึงร้อยละ 30-40 ต่อมาผึ้งงาน ประจำรังจะนำน้ำหวานนี้ไปเก็บในหลอดรวงน้ำผึ้ง ตอนเย็นผึ้งกลับรังกันเป็นส่วนใหญ่ จะช่วยกันกระพือปีกช่วยให้มีการระเหยของน้ำหวานอีกจนเป็นน้ำผึ้งที่สมบูรณ์ มีน้ำเหลืออยู่เพียงร้อยละ 20-25 เท่านั้น หลังจากนั้นผึ้งงานจะใช้ไขผึ้งปิดหลอดรวงที่เก็บน้ำผึ้งนี้ไว้ใช้เป็นอาหาร เพื่อให้พลังงานในชีวิตประจำวันและยามขาดแคลนอาหารต่อไป

#สรรพคุณของน้ำผึ้ง

ได้รับการกล่าวมาตั้งแต่ยุคโบราณ ชาวกรีกจะดื่มน้ำผึ้งก่อนลงแข่งกีฬาโอลิมปิก เพราะเชื่อว่าน้ำผึ้งช่วยขจัดความเมื่อยล้าได้ แพทย์ชาวอียิปต์ได้ใช้น้ำผึ้งช่วยสมานแผลในการผ่าตัดเพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อนที่จะรู้จักแบคทีเรียเสียอีก ซึ่งในปัจจุบัน เราทราบดีแล้วว่าคุณสมบัติของน้ำผึ้งในการป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อโรคนั้น เนื่องมาจากการที่น้ำผึ้งมีความชื้นน้อย มีแรงดูดซึม (osmotic pressure) สูง ดังนั้นจึงดูดซึมน้ำจากเซลล์จุลินทรีย์ต่าง ๆ ออกมาหมดทำให้เชื้อโรคตายได้ ด้วยเหตุนี้แพทย์ในสมัยปัจจุบันจึงยอมรับในเรื่องการใช้น้ำผึ้งเป็นยารักษาแผลบางชนิดได้เช่นกัน

– ผู้ที่บริโภคน้ำผึ้งเป็นประจำเท่านั้นที่จะรู้ว่าตนเองมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ น้ำผึ้งมีสารอาหาร ประเภทคาร์โบไฮเดรต ที่ให้พลังงานสูง นอกจากนี้ยังมีเกลือแร่ วิตามิน โปรตีน และสารอื่น ๆ ที่มีประโยชน์มากมายและเหมาะสำหรับ ทุกเพศทุกวัยตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้อ่อนเพลีย และผู้ป่วยระยะพักฟื้น

– นอกจากน้ำผึ้งที่เป็นผลิตภัณฑ์ของผึ้งที่รู้จักมาตั้งแต่โบราณและนิยมใช้กันมากแล้ว นอกจากจานี้ผลิตภัณฑ์จากผึ้งที่รู้จักกันดีและเป็นนิยมกันอยู่ในสมัยนี้ คือ เกสรผึ้งและนมผึ้ง

#เกสรผึ้ง (Bee Pollen)

คือ ละอองเกสรดอกไม้นานาชนิด ที่ผึ้งเก็บรวบรวมสะสมไว้ในรวงรังผึ้ง เกสรผึ้งประกอบด้วยโปรตีน เป็นส่วนใหญ่ วิตามินเกลือแร่ กรดอะมิโน เอนไซม์ และแร่ธาตุต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโต และสร้างภูมิต้านทานโรค บำรุงร่างกาย นับเป็นอาหารเสริม ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ

เกสรผึ้ง นับเป็นอาหารเสริมที่มีคุณค่าสามารถกระตุ้นร่างกายที่เมื่อยล้าจากการทำงานหนักให้ปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับระบบย่อยอาหารเพราะเกสรผึ้งมีฤทธิ์ต่อการทำงานของแบคทีเรียและช่วยควบคุมแบคทีเรียในลำไส้อีกด้วย

#เกสรผึ้งประกอบด้วยสารต่างๆดังต่อไปนี้

คาร์โบไฮเดรต ร้อยละ 40

โปรตีน ร้อยละ 35

กรดอะมิโน ร้อยละ 15-25

น้ำ ร้อยละ 18

ไขมัน ร้อยละ 5

นอกจากนี้ยังประกอบด้วยวิตามินบี วิตามินซี วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเค แมกนีเซียม แคลเซียม อะลูมิเนียม เหล็ก ทองแดง สังกะสี ฟอสฟอรัส และกำมะถัน ฯลฯ

#นมผึ้งหรือโรยัลเยลลี่ (Royal Jelly)

คือ อาหารที่ผึ้งงานวัยอ่อนผลิตจากต่อมในส่วนหัว เพื่อป้อนนางพญาผึ้งเท่านั้น มีลักษณะเป็น ของเหลวข้นสีขาวครีม เป็นอาหารธรรมชาติที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก ประกอบด้วยสารอาหารหลายชนิดคือ มีคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ กรดอะมิโน ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย การบริโภคนมผึ้งอย่างต่อเนื่องกัน จะให้ผลดีต่อสุขภาพของ ร่างกายเป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้นนี่คือความมหัศจรรย์ของคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งเป็นคัมภีร์เล่มสุดท้ายของมวลมนุษยชาติ ที่องค์อัลลอฮได้ทรงประทานคัมภีร์นี้ลงมา เพื่อให้เป็นทางนำแก่มวลมนุษยชาติทั้งมวล

Ref : Al-islam.com