เอียะอฺติกาฟ

ADMIN

เอียะอฺติกาฟ ตามหลักภาษา : การยืนหยัดกระทำสิ่งหนึ่งและผูกพันอยู่กับสิ่งนั้น
ตามหลักศาสนา : การอยู่ในมัสยิดพร้อมด้วยตั้งเจตนา (เนียต)

หลักฐานการบัญญัติ เอียะอฺติกาฟ :

หลักการในการบัญญัติเอียะอฺติกาฟคือ คำดำรัสของอัลเลาะห์ตาอาลาที่ว่า :
“และท่านทั้งหลายอย่าร่วมประเวณีกับภรรยาของพวกท่าน ขณะที่พวกท่านอยู่ในมัสยิด (โดยตั้งเจตนาเอียะอฺติกาฟ)” อัลบะกอเราะห์ : 167

และฮะดิษที่บุคอรี (1922) และมุสลิม (1172) ได้รายงานจากอาอิชะฮ์ (ร.ด.) ว่า
“ท่านนบี (ซ.ล.) ได้เอียะอฺติกาฟในสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมาดอน ต่อมาบรรดาภรรยาของท่านได้ทำการเอียะอฺติกาฟ ภายหลังจากท่านจากไป”

การเอียะอฺติกาฟเป็นบัญญัติศาสนาที่เก่าแก่เป็นที่รู้จักกันดีก่อนอิสลาม ด้วยหลักฐาจากคำดำรัสของอัลเลาะห์ตาอาลาที่ว่า :
“และเราได้บัญชาให้อิบรอฮีมและอิสมาอีลทำความสะอาดบ้านของเรา เพื่อพวกที่ตอวาฟ พวกที่พำนักอยู่ (เอียะอฺติกาฟ) และพวกที่รุกัวะอฺสุยูด” อัลบะกอเราะห์ : 125

เคล็ดลับการบัญญัติเอียะอฺติกาฟ :

มุสลิมจำเป็นต้องเป็นผู้ที่หักห้ามอารมณ์ปรารถนาของตนอยู่ตลอดเวลา แม้บางครั้งเป็นความปรารถนาที่ศาสนาอนุมัติก็ตาม ทั้งนี้เพื่อทำตัวให้ว่าง เพื่อการทำอิบาดะห์ต่ออัลเลาะฮ์ตาอาลา และเพื่อที่อารมณ์ปรารถนาของตนได้โน้มเอียงมาสู่ความรักในอัลเลาะห์ และเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ตัวเองเกิดความยินดีที่จะสลัดความชั่วทิ้งไปจากอารมณ์ปรารถนาของเขา แท้ที่จริงอารมณ์ปรารถนานั้นมักคอยแต่จะบงการไปสู่ความชั่ว และเร่งเร้าไปสู่ความเลวทรามต่ำช้า

อัลเลาะห์ตาอาลาตรัสว่า :

“แท้จริงอารมณ์นั้นคอยแต่จะบงการไปสู่ความชั่ว เว้นแต่บุคคลที่อัลเลาะห์ทรงเมตตาเขา” ยูซุฟ : 53

การดิ้นรนเพื่อแสวงหาความสุขโลกนี้ ยิ่งจะเพิ่มบทบาทของอารมณ์ให้ร้อนแรงยิ่งขึ้น มนุษย์จะไม่สนใจว่าปัจจัยที่ตนได้มาเพื่อหาความสุขนั้น ฮะลาลหรือฮะรอม และมนุษย์ก็จะยิ่งเตลิดไปตามอารมณ์ปรารถนาของตน อย่างยากที่จะสยบมันลงได้ นอกจากจะได้รับการเพาะบ่ม และขัดเกลาอยู่ภายในบรรยากาศ ที่อบอวลด้วยกลิ่นไอของการตออะห์และภักดีต่ออัลเลาะห์ ภายในมัสยิดอันสงบ มุสลิมสามารถจะเรียกจิตใจที่เตลิดของตนกลับคืนมาให้ได้รับการขัดเกลาด้วยอิบาดะฮ์ต่าง ๆ

ด้วยเหตุนี้การเอียะอฺติกาฟจึงถูกบัญญัติมา เพื่อให้จิตใจสงบ เพื่อขัดเกลาจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์และให้สลัดทิ้งอารมณ์ปรารถนาที่เร่าร้อนต่าง ๆ

ข้อกำหนดของการเอียะอฺติกาฟ :

การเอียะอฺติกาฟเป็นสุนัตปฏิบัติได้ทุกเวลา และที่ควรปฏิบัติอย่างยิ่งคือในช่วงเดือนรอมาดอนแต่ในช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมาดอนนั้นควรปฏิบัติที่สุด ยกเว้นผู้ที่บนบาน (นะซัร) เอาไว้ การเอียะอฺติกาฟก็กลายเป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ) ที่เขาจะต้องปฏิบัติ โดยสรุปกล่าวได้ว่าข้อกำหนดสำหรับการเอียะอฺติกาฟ

เงื่อนไขที่จะทำให้การเอียะอฺติกาฟมีผลใช้ได้ :

การเอียะอฺติกาฟที่จะมีผลใช้ได้ต้องประกอบด้วยเงื่อนไขหลักสองประการ :

เงื่อนไขข้อที่หนึ่ง :

การตั้งเจนตา (เนียต) : ขณะเริ่มต้นทำการเอียะอฺติกาฟ โดงตั้งเจตนาอยู่ในมัสยิดช่วงเวลาหนึ่งที่แน่นอนเพื่อทำอิบาดะฮ์ ถ้าหากเขาเข้ามัสยิดเพื่อจุดประสงค์ทางดุนยาหรือโดยไม่ได้มีเจตนาใด ๆ ก็ไม่ถือว่าการที่เขาเข้าไปอยู่ในมัสยิดนั้นเป็นการเอียะอฺกาฟตามหลักศาสนา

เงื่อนไขข้อที่สอง :

ต้องอยู่ในมัสยิด : ควรอยู่ในมัสยิดช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งตามปกติแล้วเรียกว่า เป็นการเอียะอฺติกาฟ

และยังมีเงื่อนไขอีกหลายประการเข้าอยู่ภายใต้เงื่อนไขข้อนี้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้เข้าไปอยู่ในมัสยิดได้นั่นก็คือ : ต้องสะอาดปราศจากญุนุบ, เลือดประจำเดือนและนิฟาส เสื้อผ้าและร่างกายต้องสะอาดปราศจากนะยิส ที่อาจทำให้มัสยิดสกปรกได้

ถ้าหากออกจากมัสยิดโดยไม่มีความเหตุจำเป็น ถือว่าการเอียะอฺติกาฟนั้นขาดตอนคือการเอียะอฺติกาฟนั้นเสีย ส่วนกรณีที่ออกจากมัสยิดเพราะเหตุจำเป็น การเอียะอฺติกาฟนั้นไม่เสีย และยังถือว่าแป็นการเอียะอฺติกาฟที่ต่อเนื่อง

ระเบียบการเอียะอฺติกาฟ :

1. ผู้เอียะอฺติกาฟควรยุ่งอยู่กับการทำอิบาดะฮ์ต่ออัลเลาะห์ เช่น ซิกรุ้ลเลาะห์ อ่านอัลกุรอาน ทบทวนความรู้ เพราะนั่นคือเป้าหมายของการเอียะอฺติกาฟ
2. ควรถือศีลอด เพราะการเอียะอฺติกาฟขณะถือศีลอดนั้นเป็นสิ่งที่ประเสริฐยิ่ง และเป็นการทำให้สามารถสยบอารมณ์ต้องการต่าง ๆ ลงได้ อีกทั้งเป็นการชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์
3. ควรเอียะอฺติกาฟในมัสยิดที่มีการละหมาดวันศุกร์
4. ไม่ควรพูดอะไรนอกจากคำพูดที่ดี จะต้องไม่ด่า นินทา ยุแหย่และพูดไร้สาระ

สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ (มักรูห์) ขณะทำการเอียะอฺติกาฟ :

1. การกรอกเลือดและการเจาะเส้นเลือด เมื่อไม่ทำให้มัสยิดสกปรก ถ้าหากกลัวว่าจะทำให้มัสยิดสกปรก ก็ถือเป็นสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม)
2. ทำงานอาชีพ เช่น ทอผ้า และเย็บผ้า เป็นต้น และค้าขายแม้เล็กน้อยก็ตาม

สิ่งที่ทำให้การเอียะอฺติกาฟเสีย :

1. ร่วมประเวณีโดยเจตนา แม้ไม่ถึงขั้นหลั่งอสุจิก็ตาม อัลเลาะห์ตาอาลาทรงตรัสว่า :
“และท่านทั้งหลายอย่าร่วมประเวณีกับภรรยาของพวกท่าน ขณะที่พวกท่านพำนักอยู่ (เอียะอฺติกาฟ) ในมัสยิด” อัลบะกอเราะฮ์ : 187
2. ออกจากมัสยิดโดยเจตนาและโดยไม่มีความจำเป็น
3. สิ้นสภาพจากการเป็นอิสลาม, มึนเมา และเป็นบ้า
4. มีเลือดประจำเดือน และเลือดนิฟาส เพราะไม่อาจอยู่ในมัสยิดได้
ยินยอมให้ผู้เอียะอฺติกาฟเลิกการเอียะอฺติกาฟที่เป็นสุนัตได้ และออกจากมัสยิดเมื่อเขาต้องการ เมื่อเขากลับเข้าไปในมัสยิดอีก ก็ให้เนียตทำการเอียะอฺติกาฟใหม่

——————————-

อ้างอิงจาก : หนังสืออัลฟิกฮ์อัลมันฮะญีย์ มัซฮับอิมามอัชชาฟิอีย์ หรือหนังสืออัลฟิกห์ (นิติศาสตร์อิสลาม) แปลโดย ท่านอาจารย์ อรุณ บุญชม เล่ม 2 หน้า 33 – 36 จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ ส.วงศ์เสงี่ยม – sunnahstudent