การอดอาหารช่วยปรับปรุงกลไกในร่างกายให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ

ADMIN

อดอาหารแบบรอมฎอนช่วยปรับปรุงกลไกในร่างกายให้ประโยชน์อย่างมากต่อสุขภาพ

การศึกษาของ Horne BD และคณะตีพิมพ์ในวารสาร Am J Clin Nutr 2015 ตลอดจนงานวิจัยของ Tinsley GM และ La Bounty PM ตีพิมพ์ในวารสาร Nutr Rev ค.ศ.2015 ให้ข้อสรุปตรงกันว่าการอดอาหารนาน 10-14 ชั่วโมงที่เรียกว่า Intermittent fasting หรือ IF

ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับการถือศีลอดของมุสลิมให้ประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมากทางด้านการดูแลน้ำหนักตัว นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด และเบาหวาน

งานวิจัยทั้งสองงานแนะนำคนทั่วไปว่าหากอดอาหารต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานแบบมุสลิมทำตลอดเดือนรอมฎอนไม่ได้สมควรอดอาหารแบบ IF เป็นบางวันในหนึ่งสัปดาห์ นี่คือข้อดีของการถือศีลอดของมุสลิมที่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยืนยันออกมาแล้ว

งานวิจัยของ Peterson RE และคณะตีพิมพ์ในวารสาร J Acad Nutr Diet ค.ศ.2015 ให้ข้อสรุปประโยชน์ของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนของมุสลิมไว้ค่อนข้างดีว่าการไม่กินอาหารกันตามความเคยชินตลอดทั้งปีดังเช่นกินอาหารสามมื้อต่อวัน โดยฝึกอดอาหารแบบมุสลิมในเดือนรอมฎอนหรือแบบอื่นในลักษณะการอดอาหารเป็นช่วงเช่น IF

จะช่วยปรับเปลี่ยนความเคยชินให้เกิดขึ้นกับร่างกายมีผลให้นาฬิกาชีวิต (Circadian clock) ในสมองที่เกี่ยวข้องกับกลไกการควบคุมฮอร์โมน เช่น อินสุลิน ตลอดจนการย่อยสลายกลูโคสและน้ำตาลกลุ่มอื่นมีความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น การปรับเปลี่ยนความเคยชินเช่นนี้ให้ผลดีต่อสุขภาพ ข้อสรุปด้านเมแทบอลิซึมยืนยันออกมาอย่างนั้น

ประโยชน์อื่นๆของการถือศีลอดยังมีอีกมากมาย งานวิจัยของ Mihaylova MM และคณะตีพิมพ์ในวารสาร Cell Stem Cell ค.ศ.2018 พบว่าการอดอาหารอย่างสิ้นเชิง 24 ชั่วโมงรวมทั้งการปรับเปลี่ยนความเคยชินในการกินอาหารของร่างกายเช่นอดอาหารแบบ IF รวมทั้งแบบรอมฎอนช่วยให้สเต็มเซลล์ของลำไส้ทำหน้าที่สร้างเซลล์ลำไส้ใหม่ได้ดีขึ้นจึงเป็นประโยชน์ต่อผู้สูงวัย รวมทั้งผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาทางเคมีบำบัด Seal DR

และคณะตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสาร Am J Physiol Heart Circ Physiol ค.ศ.2018 ระบุว่าผู้สูงอายุมีปัญหากล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอไปตามวัยซึ่งมีผลต่ออายุขัยและโรคหัวใจและหลอดเลือด กลวิธีที่ช่วยลดปัญหาความอ่อนแอของกล้ามเนื้อหัวใจที่ว่านี้นอกเหนือจากการออกกำลังกายแบบแอโรบิกแล้วคือการฝึกอดอาหารเป็นช่วงแบบรอมฎอน การอดอาหารในลักษณะนี้ช่วยชะลอความเสื่อมของกล้ามเนื้อหัวใจลงได้ การอดอาหารแบบรอมฎอนจึงเป็นประโยชน์ในผู้สูงวัย

โรคหนึ่งที่ถือเป็นโรคหลอดเลือดที่ผู้คนกลัวค่อนข้างมากคือภาวะหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลันหรือแตกทำให้เสียชีวิตหรือพิการ งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าการอดอาหารแบบรอมฎอนหรือ IF ช่วยชะลอปัญหาของโรคนี้ได้ ดังเช่น งานของ Fann DY

และคณะตีพิมพ์ในวารสาร Exp Gerontol ค.ศ.2017 ประโยชน์ที่ว่านี้เกิดขึ้นด้วยหลายกลไกโดยกลไกหนึ่งคือการปรับเปลี่ยนการทำงานในระดับการถอดรหัสพันธุกรรมซึ่ง Kim J และคณะเขียนรายงานตีพิมพ์ในวารสาร Hum Mol Genet ค.ศ.2018 อ่านแล้วน่าจะหันมาฝึกการถือศีลอดกันหน่อยหากไม่เคยทำ

ดร.วินัย ดะห์ลัน