สิ่งที่อนุญาต และสิ่งที่ควรละเว้น ในขณะถือศีลอด

ADMIN

การถือศีลอด มาจากภาษาอาหรับว่า “อัศ-เศาม” หรือ “อัศ-ศิยาม” ในทางภาษาหมายถึง การละ การงด การระงับยับยั้ง การควบคุม ครองตน เช่น การละความชั่ว ยับยั้ง สิ่งต่างๆ ที่เกิดจากอารมณ์ฝ่ายต่ำ ส่วนความหมายในทางศาสนา หมายถึง การละเว้นการบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม การร่วมสังวาส ระหว่างรุ่งสาง จนตะวันลับขอบฟ้า งดเว้นการพูดจาโกหก เหลวไหล ไร้สาระ เว้นจากการประพฤติชั่ว ทั้งโดยลับ และเปิดเผย ถือปฏิบัติตามแบบอย่างที่ท่านศาสดามุฮัมหมัด (ซ .ล.) ได้ทรงกำหนดไว้โดยให้ควบคุม พร้อมทั้งมือ เท้า หู ตา ใจ ลิ้น และอวัยวะทุกส่วน มิให้ใช้ไปในทางไร้สาระ

โองการในอัลกุรอาน มีปรากฏว่า “โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย การถือศีลอดนั้น ได้ถูกกำหนดแก่สูเจ้าดั่งที่ได้ถูกกำหนด แก่เขาเหล่านั้น ก่อนหน้าสู เจ้ามาแล้ว เพื่อว่าสูเจ้าจะได้สำรวมตนจากความชั่ว”

สิ่งจำเป็นที่ผู้ถือศีลอดควรละเว้น

ผู้ถือศีลอดคือผู้ที่อวัยวะทุกส่วนของเขาจะต้องระงับจากการกระทำที่เป็นบาปและเป็นโทษ ลิ้นของเขาจะต้องระงับจากการพูดเท็จ คำพูดที่ไร้สาระเหลวไหล คำพูดที่หยาบคายลามก ท้องของเขาจะต้องระงับจากการกินการดื่ม

อวัยะเพศของเขาจะต้องระงับจากการกระทำที่เป็นลามก ถ้าหากเขาพูดจะต้องไม่พูดในสิ่งที่ทำให้การถือศีลอดของเขาไร้ผล และถ้าหากเขาจะทำกิจกรรมใดจะต้องไม่กระทำในสิ่งที่ทำให้การถือศีลอดของเขาเสียหาย คำพูดของเขาที่ออกมาควรเป็นคำพูดที่ดีและการกระทำของเขาก็เช่นเดียวกัน ควรเป็นการกระทำที่ดีบังเกิดผล

ท่านนะบี สนับสนุนให้มุสลิมผู้ถือศีลอดมีมรรยาทที่ดีงาม และความประพฤติปฏิบัติเป็นที่ยอมรับและน่าสรรเสริญ และปลีกตัวให้ห่างไกลจากการกระทำที่น่าเกลียดน่าชัง และการพูดจาที่หยาบคายสามหาวลามก อนาจาร นี่คือ การงานที่เป็นผิด เป็นบาป ถ้าหากมุสลิมถูกใช้ให้ปลีกตัวให้ห่างไกล และละเว้นมิให้ประพฤติปฏิบัติในทุกๆ วัน แน่นอนการห้ามมิให้ปฏิบัติในระหว่างการถือศีลอดก็เป็นเรื่องที่ควรระมัดระวังเป็นที่สุด

จำเป็นแก่มุสลิมผู้ถือศีลอดจะต้องปลีกตัวออกมาจากการกระทำที่จะทำให้การถือศีลอดของเขาต้องสูญเสียไป และเพื่อที่จะทำให้การถือศีลอดของเขาบังเกิดผลและบรรลุสู่การยำเกรง (ตักวา) ซึ่งอัลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ในเรื่องนี้ว่า

ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย ! การถือศีลอดได้ถูกบัญญัติแก่พวกเจ้า ดังเช่นได้ถูกบัญญัติแก่ประชาชาติก่อนหน้าพวกเจ้า เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง” (2/183)

เพราะว่าการถือศีลอดเป็นสื่อนำไปสู่การยำเกรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งมันจะช่วยระงับจิตใจมิให้โน้มเอียงไปสู่การไม่เชื่อฟังและขัดคำสั่ง สมจริงดังคำกล่าวของท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า “การถือศีลอดเป็นเกราะคุ้มกัน” ซึ่งเราได้กล่าวไว้ในหัวข้อเรื่อง คุณประโยชน์ของการถือศีลอดแล้ว ต่อไปนี้ขอให้เรามาทำความรู้จักกับสิ่งที่ผู้ถือศีลอดควรหลีกเลี่ยง เพื่อให้การถือศีลอดของเราสมบูรณ์ และเป็นที่รับรอง ณ ที่อัลลอฮฺ คือ

1. การกล่าวคำเท็จ

มีรายงานจากอะบีฮุรอยเราะฮฺ แจ้งว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม(ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) กล่าวว่า
ความว่า “ผู้ใดไม่ละเว้นการพูดเท็จและการกระทำที่เป็นเท็จ อัลลอฮฺก็ไม่ทรงประสงค์การอดอาหารและเครื่องดื่มของเขา” บันทึกโดย : อัลบุคอรีย์
กล่าวคือเขาจะไม่ได้รับการตอบแทนใด ๆ หรือผลบุญจากการถือศีลอดของเขา

2.การพูดหรือการกระทำที่ไร้สาระ และการพูดจาหยาบคาย

มีรายงานจากอะบีฮุรอยเราะฮฺ แจ้งว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
ความว่า “การถือศีลอดมิใช่ (การละเว้น) จากการกินการดื่มเท่านั้น แต่การถือศีลอด (จะต้องละเว้น) จากการพูดจาหรือการกระทำที่ไร้สาระและการพูดจาหยาบคายด้วย หากมีผู้ใดมาสบประมาทหรือเยาะเย้ยท่าน ก็จงกล่าวแก่เขาว่าฉันเป็นผู้ถือศีลอด ฉันเป็นผู้ถือศีลอด”

บันทึกโดย : อับนคุซัยมะฮฺ และอัลฮากิม และว่าเป็นสายสืบที่หะซัน

ด้วยเหตุนี้จึงมีสัญญาร้ายจากท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แก่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติไม่ดี ไม่เหมาะสมว่า

ความว่า “บางทีผู้ถือศีลอดนั้น ส่วนได้ของเขาจากการถือศีลอดของเขาก็คือ การหิวและการกระหายเท่านั้น”

บันทึกโดย : อิบนฺมาญะฮฺและอะหมัด รายงานจากอะบีฮุรอยเราะฮฺ ด้วยสายสืบที่ศ่อเฮี๊ยะฮฺ

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ผู้ใดที่มีพฤติกรรมเช่นนั้น เนื่องจากเขาไม่ตระหนักถึงข้อเท็จจริงของการถือศีลอดที่อัลลอฮฺทรงใช้ให้เขายึดถือปฏิบัติ ดังนั้นพระองค์จึงลงโทษเขาด้วยการทำให้ผลบุญและการตอบแทนสูญเสียไป

สิ่งที่อนุญาตให้ผู้ถือศีลอดปฏิบัติได้

บ่าวที่จงรักภักดีมีความเข้าใจในกิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺจะไม่สงสัยเลยว่า แท้จริงอัลลอฮฺ ทรงประสงค์ที่จะให้ปวงบ่าวของพระองค์มีความสะดวกสบาย และไม่ทรงประสงค์ที่จะให้พวกเขาได้รับความยากลำบากในการถือศีลอด พระองค์ทรงอนุญาตให้ผู้ถือศีลอดกระทำได้ในเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1. ผู้ถือศีลอดเมื่อเกิดมีหะดัษใหญ่

ปรากฎว่าท่านนะบีเกิดมีหะดัษใหญ่กับภรรยาของท่านจนกระทั่งถึงเวลาฟัจร หลังจากนั้นท่านได้อาบน้ำญะนาบะฮฺและถือศีลอด

2. การแปรงฟันสำหรับผู้ถือศีลอด

ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า
ความว่า “หากไม่เป็นการยากลำบากแก่ประชาชาติของฉันแล้ว ฉันจะใช้ให้พวกเขาแปรงฟันในเวลาอาบน้ำละหมาดทุกครั้ง”

บันทึกโดย : อัลบุคอรีย์และมุสลิม

ท่านร่อซูลมิได้เจาะจงให้แปรงฟันเฉพาะผู้ถือศีลอดเท่านั้น ในการนี้เป็นการบ่งชี้ให้แปรงฟันสำหรับผู้ถือศีลอด และผู้ที่ไม่ได้ถือศีลอดด้วยในขณะเวลาอาบน้ำละหมาดทุกครั้งและทุกเวลาละหมาด
และเช่นเดียวกัน เป็นการบ่งชี้โดยรวมในทุกเวลาทั้งก่อนและหลังตะวันคล้อย อัลลอฮฺทรงรอบรู้ดียิ่ง

3. การใช้น้ำกลั้วปากและสูดน้ำเข้าจมูก

เพราะท่านนะบีเคยใช้น้ำกลั้วปากแล้วบ้วนทิ้งและสูดน้ำเข้าจมูกแล้วสั่งออกด้วยมือซ้ายในขณะที่ท่านถือศีลอด แต่ท่านห้ามมิให้ผู้ถือศีลอดกระทำมากเกินไป
ท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า “…….จงสูดน้ำเข้าจมูกมาก เว้นแต่ท่านจะถือศีลอด”

4. การหยอกล้อและการจูบขณะถือศีลอด

มีรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺแจ้งว่า “ท่านร่อซูลุลลอฮฺจูบขณะที่ท่านถือศีลอด และท่านหยอกล้อขณะที่ท่านถือศีลอด แต่ปรากฎว่าท่านเป็นผู้ที่ควบคุมอารมณ์ได้ดียิ่งกว่าพวกท่าน”

การกระทำดังกล่าวนี้ไม่ชอบที่จะให้สามีภริยาที่อยู่ในวัยหนุ่มกระทำกัน

มีรายงานจากอับดุลลอฮฺอิบนฺอมัร อิบนุลอ๊าศ แจ้งว่า พวกเรานั่งอยู่ร่วมกับท่านนะบี มีชายหนุ่มคนหนึ่งเข้ามาหาท่านนะบี เขากล่าวถามขึ้นว่า โอ้ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ฉันจะจูบขณะถือศีลอดได้ไหม ? ท่านนบีตอบว่า “ไม่ได้” ต่อมาได้มีชายแก่คนหนึ่งเข้ามาหา และกล่าวขึ้นว่า ฉันจะจูบขณะถือศีลอดได้ไหม ? ท่านนบีตอบว่า “ได้” พวกเราก็มองตาซึ่งกันและกันในเชิงสงสัย ท่านร่อซูลุลลอฮฺได้ตอบข้อสงสัยของพวกเราว่า
“แท้จริงชายคนแก่นั้นสามารถควบคุมอารมณ์ของเขาได้”

5. การตรวจเลือดและฉีดยาที่มิใช่บำรุงกำลัง

การกระทำดังกล่าวนี้ไม่ทำให้ต้องเสียศีลอด

6. การกรอกเลือด

ปรากฏว่าการกรอกเลือดอยู่ในประเภทที่ทำให้เสียศีลอด ต่อมาได้ถูกยกเลิก มีรายงานจากท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่าท่านได้กรอกเลือดขณะถือศีลอด ทั้งนี้ตามรายงานของอิบนฺ อับบาส แจ้งว่า“แท้จริงท่านนะบีได้กรอกเลือดขณะที่ท่านถือศีลอด” บันทึกโดย : อัลบุคอรีย์

7. ชิมอาหาร

ทั้งนี้โดยมีขอบเขตมิให้อาหารเข้าสู่ลำคอ โดยมีรายงานจากอิบนฺอับบาส กล่าวว่า “ไม่เป็นความผิดหรือไม่เป็นไรที่จะชิมรสชาติของน้ำส้มหรืออาหาร ตราบใดที่ไม่เข้าสู่ลำคอในขณะถือศีลอด”บันทึกโดย : อิบนฺอะบีชัยยะฮฺ และอันบัยฮะกีย์

8. ผงทาตาและยาหยอดตาและอื่น ๆ

การใช้สิ่งเหล่านี้ทาและหยอดตาไม่เป็นการเสียศีลอดถึงแม้จะมีรสชาดของมันในลำคอหรือไม่มีก็ตาม นี่คือแนวคามคิดที่ชัยคุลอิสลามให้น้ำหนักมากกว่าในบทความเรื่อง “ข้อเท็จจริงของการถือศีลอด” และลูกศิษย์ของเขาคืออิบนุก็อยยิม ในหนังสือของเขา “ซาดุลมะอ๊าด” และอิหม่ามอัลบุคอรีย์ในหนังสือ “ศ่อเฮี้ยะฮฺ” ของเขา ได้กล่าวว่าอะนัส อิบนมาลิก และอัลหะซัน อัลบัศรีย์ และอิบรอฮีมอันนัคอีย์ มีความเห็นว่าการใช้สิ่งเหล่านี้ทาและหยอดตาสำหรับผู้ถือศีลอดไม่เป็นไร คือไม่เป็นการเสียศีลอด

9. รดน้ำเย็นบนศีรษะและการอาบน้ำ

อับบุคอรีย์กล่าวไว้ในหนังสือ “ศ่อเฮี้ยะฮฺ” ของเขาในบทว่าด้วย “การอาบน้ำของผู้ถือศีลอด” โดยกล่าวว่าอิบนอุมัรได้นำเอาผ้ามาชุบน้ำให้เปียกแล้วห่มตัวในขณะที่ถือศีลอด และอัลชะอฺบีย์ได้อาบน้ำรดหัวเมื่อเขาถือศีลอด และอัลหะซันกล่าวว่า ไม่เป็นการเสียศีลอดสำหรับผู้ที่เอาน้ำกลั้วปากหรือเอาน้ำราดเพื่อให้เกิดความเย็น

ในบันทึกของอะบูดาวู๊ดและอะหมัดระบุว่า ท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้เอาน้ำราดบนศีรษะของท่านขณะที่ท่านถือศีลอด เพราะความกระหายหรือเพราะความร้อน

ที่มา: www.annisaa.com

hot.muslimthaipost.com