การมอบหมายต่ออัลลอฮฺ ตะวักกุ้ล

ADMIN

การมอบหมายต่ออัลลอฮ์ (ตะวักกุ้ล)

โดย…ปริญญา ประหยัดทรัพย์

ตะวักกุ้ลคืออะไร ?

ตะวักกุ้ล หมายถึง การปฏิบัติหน้าที่ ภารกิจ การทำงานด้วยความแน่วแน่ มีการวางแผนและใช้ความพยายาม โดยเชื่อว่า ถ้าหากในงานนั้นมีความดีงาม และเป็นไปตามพระประสงค์ของอัลลอฮ์ พระองค์ก็จะทำให้งานนั้นสำเร็จบรรลุผลสัมฤทธิ์

อิบนุรอญับได้ให้คำนิยามของตะวักกุ้ลว่า : ตะวักกุ้ล คือ ความซื่อสัตย์ของหัวใจที่พึ่งพาพระองค์อัลลอฮ์ ในการแสวงหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ และป้องกันสิ่งที่เป็นอันตรายทั้งในเรื่องดุนยาและอาคีเราะฮ์ และมอบหมายกิจการทั้งหมดแด่พระองค์ และการบรรลุซึ่งแก่นแท้ของอีหม่านว่า ไม่มีผู้ใดมีอำนาจที่จะให้ หรือ ห้าม และให้โทษหรือให้คุณใด ๆ นอกจากพระองค์เท่านั้น

ตะวักกุ้ลในกรอบของอัล-กุรอาน

พระองค์อัลลอฮ์ ตรัสความว่า

“เมื่อท่านตั้งมั่นแล้ว ท่านจงมอบหมายต่ออัลลอฮ์เถิด แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรักผู้ที่มอบหมายต่อพระองค์ ”

(ซูเราะฮ์ อาลิอิมรอน โองการที่ 159)

ตะวักกุ้ลในกรอบของอัล-หะดีษ

เล่าจากท่านอุมัร อิบนุลค๊อฏฏ๊อบ ว่า : ท่านนบีมูฮำหมัด ได้กล่าวว่า

” ถ้าหากพวกท่านมอบหมายแด่อัลลอฮ์อย่างถูกต้องแล้ว

แน่แท้พระองค์จะทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่พวกท่านเหมือนดังที่พระองค์ทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่นก

มันออกไปในยามเช้าตรู่ในสภาพที่หิวโหย และกลับมาในสภาพที่ท้องอิ่มแปร้”

(รายงานโดยอะหมัด,ติรมีซีย์)

สุนทรียภาพในการมอบหมายต่ออัลลอฮ์

อันที่จริงสรรพสิ่งทั้งหลายรวมทั้งมนุษย์และสัตว์ พระองค์อัลลอฮ์เป็นผู้ทรงบันดาลให้เกิดมาทั้งสิ้น ส่วนพ่อแม่และปัจจัยหรือเงื่อนไขอื่น ๆ เป็นเพียงมูลเหตุแห่งการเกิดเท่านั้น หาใช่ผู้ทำให้เกิดไม่ จะสังเกตได้ว่า บางครั้งปัจจัยและเงื่อนไขของการเกิดมีอยู่พร้อม ซึ่งน่าจะเกิดได้แล้ว แต่ก็มีเหตุอื่นที่ทำให้เกิดไม่ได้ ความไม่แน่นอนของปัจจัยและเงื่อนไขนี้เป็นไปโดยอำนาจของอัลลอฮ์เพียงองค์เดียวเท่านั้น พระองค์เป็นผู้ให้มนุษย์และสัตว์เกิดมา และทรงให้เครื่องปัจจัยยังชีพเพื่อความอยู่รอดของชีวิต ดังโองการจากพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานได้ระบุว่า

“ไม่ว่าสัตว์ใดก็ตามที่อาศัยอยู่บนพื้นพิภพนอกจากสัตว์เหล่านั้นอัลลอฮ์ทรงให้ปัจจัยยังชีพแก่มันทั้งสิ้น”

(ซูเราะฮ์ ฮูด โองการที่ 6)

เมื่อเราเชื่อมั่นว่าปัจจัยยังชีพที่ได้รับนั้นล้วนมาจากพระองค์ทั้งสิ้น ดังนั้นจำเป็นที่เราจะต้องปฏิบัติตามและภักดีต่อพระองค์พร้อมกับประกอบอาชีพตามอัตภาพ และมอบหมายต่อพระองค์ด้วยใจศรัทธา ดังโองการจากพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานได้ระบุว่า

” และเจ้าจงใช้ครอบครัวของเจ้าให้ปฏิบัติละหมาดและจงอดทนเพื่อการนั้น

เรามิได้ขอปัจจัยยังชีพจากเจ้า เราต่างหากที่ให้ปัจจัยยังชีพแก่เจ้า และบั้นปลายนั้นสำหรับผู้ที่มีความยำเกรง”

(ซูเราะฮ์ ฎอฮา โองการที่ 132)

จึงกล่าวได้ว่า คนที่มอบหมายต่ออัลลอฮ์นั้นจะไม่รู้สึกหวาดหวั่นพรั่นพรึงต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะยืนหยัดหนักแน่นต่อความทุกข์ยาก และคิดแก้ไขหาทางออกของปัญหาให้แก่ชีวิต เพื่อให้หลุดพ้นจากปัญหาสารพัน และก้าวผ่านไปด้วยดี

สถานะของการตะวักกุ้ล

* อิบนุ ก็อยยิม ได้กล่าวถึงสถานะของการตะวักกุลได้อย่างน่าสนใจว่า : ตะวักกุลคือครึ่งหนึ่งของศาสนา และอีกครึ่งหนึ่งคือ อินาบะฮ์ (การผินหน้าเข้าหาอัลลอฮ์โดยสิโรราบ และจำนน) เพราะแท้จริงแล้วศาสนาคือการขอความช่วยเหลือต่ออัลลอฮ์ และการเคารพภักดีต่อพระองค์ในฐานะบ่าว การมอบหมายคือ การขอความช่วยเหลือต่อพระองค์

* ท่าน หะซัน อัล-บัศรีย์ กล่าวว่า : การตะวักกุลของบ่าวต่อพระผู้อภิบาลของเขา คือ การที่เขาตระหนักดีว่าอัลลอฮ์เท่านั้นคือผู้ที่เขาเชื่อถือไว้วางใจได้

* ท่านสะอีด อิบนุ ญบัยร์ กล่าวว่า ตะวักกุลคือ องค์รวมของการศรัทธา

* ท่านอิบนุ ตัยมียะฮ์ กล่าวว่า การตะวักกุลนั้นมีความหมายครอบคลุมมากกว่าการมอบหมายแค่เรื่องสิ่งที่เป็นประโยชน์ในโลกดุนยาเท่านั้น หากแต่ผู้ที่ตะวักกุลนั้น จะมอบหมายต่ออัลลอฮ์ทั้งในสิ่งที่มีประโยชน์ต่อหัวใจของเขา ร่างกายของเขา และในการรักษาลิ้นและความต้องการของเขาจากการทำความชั่ว และนี่ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับเขาที่ต้องตะวักกุล และด้วยเหตุนี้เองเขาจึงได้วิงวอนต่อพระผู้อภิบาลของเขาในการละหมาดทุกครั้งโดยมีความหมายว่า : “เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เราเคารพภักดี และเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เราขอความช่วยเหลือ”

สัมพันธภาพระหว่างอีหม่านกับตะวักกุล

มนุษย์ทุกคนที่อาศัยอยู่ในโลกดุนยาใบนี้ ก้าวเท้าลงสู่พื้นดินล้วนปรารถนาต้องการผู้ที่จะคอยพยุงช่วยเหลือให้ยืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคง ด้วยเหตุนี้การตะวักกุลต่ออัลลอฮ์และพึ่งพาในเดชานุภาพของพระองค์ต่อการแสวงหาสิ่งที่ให้คุณประโยชน์ ป้องกันสิ่งที่ให้โทษ และการได้มาซึ่งปัจจัยยังชีพ การรักษาให้หายจากโรคภัยต่าง ๆ และอื่น ๆนั้น จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์

จึงกล่าวได้ว่า การมอบหมายเป็นส่วนหนึ่งจากคุณลักษณะของผู้ศรัทธา เป็นเงื่อนไขที่ผูกพันธ์กับการอีหม่านอันเป็นเหตุทำให้จิตใจมีความเข้มแข็ง มีความกระตือรือร้น มีความสงบสุข และผ่อนคลาย พระองค์อัลลอฮ์ ทรงกำชับให้มวลผู้ศรัทธาก้าวเดินไปสู่สถานีแห่งการตะวักกุล ดังระบุไว้ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานว่า :

” และแด่อัลลอฮ์ นั้นพวกเจ้าจงมอบหมายเถิดหากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธา”

(ซูเราะฮ์ อัล-มาอิดะฮ์ โองการที่ 23)

และพระองค์อัลลอฮ์ ทรงกล่าวถึงลักษณะของบรรดาผู้มีอีหม่านโดยผูกพันกับการตะวักกุลว่า : ความว่า

” แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธานั้นคือ ผู้ที่เมื่ออัลลอฮ์ถูกกล่าวขึ้น หัวใจของพวกเขาก็หวั่นเกรง

และเมื่อบรรดาโองการของพระองค์ถูกอ่านแก่พวกเขา โองการเหล่านั้นก็เพิ่มพูนความศรัทธาแก่พวกเขา

และเพื่อพระเจ้าของพวกเขาเท่านั้นที่พวกเขามอบหมาย”

(ซูเราะฮ์ อัล-อัมฟาล โองการที่ 2)

ผลตอบแทนสำหรับผู้ที่ตะวักกุล

เป็นที่ทราบกันในหน้าประวัติศาสตร์อิสลามที่ผ่านมาแต่ละยุคแต่ละสมัย เหล่าบรรดานบี บรรดารอซูล และผู้ที่ยืนหยัดต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์นั้น พระองค์ทรงทำให้ภารกิจของพวกเขาประสบความสำเร็จและได้รับรางวัลตอบแทน ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการตะวักกุล (มอบหมายตนต่ออัลลอฮ์) ดังที่พระองค์ทรงกล่าวถึงหลักการดังกล่าวนี้ไว้ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานความว่า

“และผู้ใดมอบหมายต่ออัลลอฮ์ พระองค์ก็เพียงพอแล้วสำหรับเขา”

(ซูเราะฮ์ อัฎ-ฏอล๊าก โองการที่ 3)

โองการพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานข้างต้นนี้ ได้ชี้ให้เห็นว่า มุสลิมทุกคนจะต้องยืนหยัดต่อสู้กับอุปสรรคนานัปการที่กล้ำกรายเข้ามาในชีวิต ด้วยความหนักแน่น มั่นคงไม่หวาดหวั่น โดยมีความศรัทธาอย่างเต็มเปี่ยม และมอบหมายวางใจว่า ภารกิจและกิจการงานต่าง ๆ ของเขานั้นจะบรรลุผลตามที่ต้องการปรารถนาด้วยความช่วยเหลือจากอัลลอฮ์ อันเป็นความสำเร็จที่โอบล้อมด้วยความรัก ความโปรดปรานและความเมตตาจากอัลลอฮ์ อย่างแท้จริง

สำนักจุฬาราชมนตรี