หน้าที่ของมุสลิมที่พึงมีต่อคนต่างศาสนิก

ADMIN

หน้าที่ของมุสลิมที่พึงมีต่อคนต่างศาสนิก

คำถาม

อะไรคือหน้าที่ของมุสลิมที่พึงมีต่อผู้ที่ไม่ได้รับนับถือศาสนาอิสลาม โดยไม่ว่าคนต่างศาสนิกนั้นจะอาศัยอยู่ในประเทศของมุสลิมหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระผมใคร่ขอทราบข้อพึงปฏิบัติทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกล่าวคำทักทาย จนกระทั่งถึงการเข้าร่วมงานพิธีกรรมต่าง ๆ ของคนต่างศาสนิก และเป็นการอนุญาตสำหรับเราหรือไม่ ในการที่เราจะทำการติดต่อหรือประสานงานกับคนต่างศาสนิก ผมขอคำแนะนำด้วยครับ ขอพระองค์อัลลอฮฺ ทรงโปรดประทานรางวัลให้กับท่านด้วยเทอญ

บรรดาการสรรเสิรญเป็นเอกสิทธิ์ แด่พระองค์อัลลอฮฺ

คำตอบ

หน้าที่ของมุสลิมที่พึงมีต่อคนต่างศาสนิกนั้นมีอยู่หลายข้อด้วยกันดังนี้

1. มุสลิมนั้น มีหน้าที่ในการเรียกร้องเชิญชวนคนต่างศาสนิก ให้มาสู่หนทางของพระองค์อัลลอฮฺ โดยเมื่อมีโอกาสเราจะต้องทำการอธิบายถึงศาสนาอิสลามที่แท้จริงให้กับคนต่างศาสนิก ในเรื่องที่เขาสงสัยหรือได้รับรู้มา ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้จะเป็นรูปแบบการเผยแพร่ศาสนาที่ดีที่สุด เนื่องจากเมื่อเขาได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับศาสนาอิสลามแล้ว เขาก็จะสามารถนำสิ่งเหล่านี้ไปบอกกล่าวแก่บรรดาเพื่อนฝูงหรือคนที่เขารู้จักต่อไป ซึ่งบุคคลเหล่านั้น อาจจะเป็นชาวยิว คริสต์ รวมถึงผู้ที่นับถือพระเจ้าหลายองค์ (มุชรีกีน) ด้วย ดังที่ท่านนบีมุฮัมมัด ได้กล่าวเอาไว้ว่า

“ใครก็ตามที่แนะนำบุคคลอื่นในเรื่องของความดีงาม เขาก็จะได้รับรางวัลตอบแทนเท่ากับผู้ที่ได้ลงมือกระทำความดีนั้น ๆ ด้วย”

และท่านนบี ได้กล่าวกับท่านอาลี ว่า เมื่อท่านได้เดินทางไปถึงกะบะฮฺแล้ว ให้ท่านทำการเรียกร้องเชิญชวนชาวยิวให้มาเข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม และ

“หากเป็นพระประสงค์ของพระองค์อัลลอฮฺ ในการที่จะให้ทางนำแก่ผู้ใด โดยผ่านการเผยแพร่ของท่าน นั้นย่อมเป็นการดีกว่าที่ท่านจะรับฝูงอูฐพันธุ์ที่ดีที่สุด”

และท่านนบี ยังได้กล่าวอีกว่า

“บุคคลใดก็ตามที่เรียกร้องเชิญชวนผู้อื่นมาสู่หนทางที่ถูกต้อง เขาจะได้รับรางวัลเหมือนกับผู้ที่ได้ปฏิบัติตามสิ่งที่เขาได้แนะนำเอาไว้ โดยรางวัลของเขาจะไม่ถูกตัดทอนให้ลดน้อยลงเลยแม้แต่น้อย”

ดังนั้นการเรียกร้องเชิญชวนผู้อื่นมาสู่หนทางของอิสลาม จึงเป็นการกระทำที่แสดงออกให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ใจที่เรามีต่อพระองค์อัลลอฮฺ ซึ่งจะเป็นแนวทางที่จะทำให้เราได้เข้าใกล้ต่อพระองค์อัลลอฮฺ

2. มุสลิมนั้น จะต้องไม่ตำหนิหรือว่าร้ายต่อคนต่างศาสนิก ไม่ว่าบุคคลดังกล่าวนั้นจะอยู่ในประเทศหรือนอกประเทศของมุสลิม หรือบุคคลดังกล่าวนั้นจะอยู่ภายใต้หรือไม่ได้อยู่ภายใต้กฏหมายของอิสลาม มุสลิมก็จะต้องไม่ตำหนิเขาทั้งในเรื่องของรูปร่าง ฐานะ หรือเกียรติยศของเขา และเราจะต้องมอบสิทธิอันชอบธรรมให้แก่เขา ไม่ริดรอนหรือเอาเปรียบเขาในเรื่องของทรัพย์สิน ไม่ว่าจะโดยการลักขโมย หรือหลอกลวงเอาทรัพย์สินของเขามาโดยไม่ชอบธรรม และจะต้องไม่ทำร้ายร่างกายของเขา ทั้งด้วยการใช้กำลังหรือเข่นฆ่าเขา เพราะผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามนั้น เขาได้รับการคุ้มครองตามกฎของชารีอะฮ์

3. มุสลิมนั้น สามารถที่จะทำการติดต่อหรือประสานงานกับคนต่างศาสนิกได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการค้าขาย การให้เช่า หรือการว่าจ้าง และอื่น ๆ ซึ่งมีรายงานจากฮะดีษที่ซอเฮี้ยะว่า ท่านนบี ได้ทำการซื้อของจากชาวกุฟฟาร ซึ่งเป็นผู้ที่ทำการเคารพภักดีต่อรูปปั้น และท่านนบี ได้ทำการซื้อของจากชาวยิวด้วย ซึ่งนี้แสดงถึงหลักฐานของการติดต่อระหว่างชาวมุสลิมและคนต่างศาสนิก และครั้นเมื่อท่านนบี ได้กลับไปสู่ความเมตตาของพระองค์อัลลอฮฺแล้ว โล่ห์ของท่านได้ถูกนำไปใช้ในการแลกเป็นเงินจากชาวยิว เพื่อที่จะนำเงินที่ได้มานั้น มาใช้ในการซื้ออาหารให้แก่คนในครอบครัวของท่านนบี

4. สำหรับกรณีของการกล่าวคำทักทายนั้น มุสลิมจะต้องไม่ให้สลามแก่คนต่างศาสนิกก่อน แต่เราสามารถตอบรับคำกล่าวทักทายได้ ดังที่ท่านนบี ได้กล่าวเอาไว้ว่า

“ท่านอย่าเป็นผู้กล่าวให้สลามแก่ชาวยิวหรือชาวคริสต์ก่อน”

และท่านนบี ได้กล่าวว่า

“ถ้าชาวคัมภีร์ได้ทักทายท่านด้วยคำว่า “อัสลามมุอะลัยกุม” ก็ให้ท่านจงกล่าวตอบว่า “วะอะลัยกุม”

กล่าวคือ มุสลิมนั้นจะไม่ให้สลามแก่กาเฟรก่อน แต่ถ้าคนต่างศาสนิกไม่ว่าจะเป็น กาเฟร ยิว คริสต์ หรือใครก็ตาม ได้กล่าวสลามแก่เรา ก็ให้เราตอบกลับว่า วะอะลัยกุม ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ท่านนบี ได้กล่าวเอาไว้

สำหรับเรื่องสิทธิต่าง ๆ ที่มุสลิมพึงมีแต่คนต่างศาสนิกนั้น มีอยู่ด้วยกันหลายประการดังนี้

– สิทธิของเพื่อนบ้าน มุสลิมนั้นจะต้องปฏิบัติอย่างดีต่อเพื่อนบ้านของเรา ต้องไม่ทำการรบกวนเพื่อนบ้าน และต้องให้ความช่วยเหลือแบ่งปัน หากเพื่อนบ้านนั้นเป็นผู้ที่ขัดสน จงมอบของขวัญให้กับเขา ให้คำแนะนำที่ดีแก่เขา เนื่องจากท่านนบี ได้กล่าวถึงสิทธิของเพื่อนบ้านเอาไว้

“ท่านญิบลีส ได้กล่าวย้ำแก่ฉันว่าให้ทำดีต่อเพื่อนบ้าน จนกระทั่งฉันคิดว่าเขาสามารถที่จะเป็นผู้รับมรดกจากฉันได้”

ซึ่งมีฮะดีษที่ซอเฮี้ยะ รายงานสอดคล้องกันว่า แม้ว่าเพื่อนบ้านนั้นจะเป็นชาวกาเฟร เขาก็มีสิทธิของเพื่อนบ้านที่เขาพึงจะได้รับจากชาวมุสลิม และถ้าหากชาวกาเฟรนั้นเป็นญาติของเราด้วย เขาก็จะได้รับสิทธิถึง 2 สิทธิ์ด้วยกัน คือสิทธิของเพื่อนบ้านและสิทธิของญาติที่พึงจะได้รับจากเรา

หนึ่งในสิทธิของเพื่อนบ้านที่ควรจะได้รับคือ การได้รับเงินช่วยเหลือ ถ้าหากเขาเป็นผู้ที่ยากจน (ซึ่งเงินดังกล่าวนี้ไม่ใช่เงินซะกาต) ซึ่งพระองค์อัลลอฮฺ ได้ตรัสเอาไว้ว่า

“อัลลอฮฺ มิได้ทรงห้ามพวกเจ้าเกี่ยวกับบรรดาผู้ที่มิได้ต่อต้านพวกเจ้าในเรื่องศาสนาและพวกเขามิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้าในการที่พวกเจ้าจะทำความดีแก่พวกเขา และให้ความยุติธรรมแก่พวกเขา แท้จริงอัลลอฮฺ ทรงรักผู้มีความยุติธรรม” (ซูเราะฮฺ al-Mumtahanah 60 : 8)

และมีฮะดีษซอเฮี้ยะ ที่รายงานโดยท่านหญิง อัสมา บิน อะบีบักร (ขอความโปรดปรานจากพระองค์อัลลอฮฺ ทรงมีแด่ท่านด้วยเทอญ) ได้กล่าวว่า

“แม่ของเธอซึ่งเป็นชาวมุชรีก ได้มาหาเธอในช่วงที่มีการสงบศึกระหว่างท่านนบี และชาวมักกะฮฺ ซึ่งแม่ของเธอนั้นต้องการความช่วยเหลือ ท่านหญิงอัสมา จึงได้ถามท่านนบี เพื่อขออนุญาตจากท่านว่าเธอจะสามารถให้ความช่วยเหลือแด่แม่ของเธอได้หรือไม่ ซึ่งท่านนบี ได้กล่าวตอบว่า “จงให้การดูแลช่วยเหลือแม่ของเธอเถิด”

– แต่สำหรับการเข้าร่วมงานในพิธีการต่าง ๆ ของคนต่างศาสนิกนั้น ชาวมุสลิมจะต้องไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ยกเว้นเป็นการแสดงความเสียใจต่อการจากไปของบุคคลซึ่งเป็นที่รักของท่านที่เป็นคนต่างศาสนิก ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้นไม่ถือเป็นความผิดแต่อย่างใด ซึ่งท่านสามารถที่จะกล่าวว่า

“ขอพระองค์อัลลอฮฺ ทรงโปรดประทานสิ่งที่ดีทดแทนให้แก่คุณ เนื่องจากการที่คุณสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป”

หรือการกล่าวถ้อยคำที่ดีๆ แต่คุณไม่ควรจะกล่าวว่า

“ขอให้พระองค์อัลลอฮฺ ทรงโปรดอภัยในความผิดบาปของเขา หรือขอความเมตตาพระองค์จากพระองค์ทรงมีแด่เขา”

ถ้าหากว่าผู้ตายนั้นเป็นชาวกาเฟร และเราต้องไม่ทำการละหมาดคนตายให้กับเขา แต่เราสามารถที่จะทำการละหมาดและขอดุอาให้กับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อขอให้พระองค์อัลลอฮฺ โปรดประทานทางนำหรือขอให้พระองค์ทดแทนสิ่งที่ดีต่าง ๆ ให้กับเขาได้

ที่มา islamqa.com

ขอขอบคุณ islammore.com

แปลโดย นูรุ้ลนิซาอ์