“สุไลมาน ซันหวัง” สุดยอดช่างไม้ทำประตูกะอฺบะห์ ความภูมิใจของชาวไทยมุสลิม

ADMIN

การทำฮัจย์ที่นครมักกะห์ สิ่งหนึ่งที่ต้องปฏิบัติคือการตอวาฟ (เวียน) รอบบัยตุ้ลลอฮฺ (กะอฺบะห์) และกะอฺบะห์ตั้งอยู่ใจกลางมัสยิดฮะรอม ในนครมักกะห์ เป็น กิบลัต (ชุมทิศ, จุดหมายในการผินหน้าไป) ของมุสลิมยามละหมาด และเป็นสถานที่ตอวาฟในการประกอบพิธีอุมเราะห์และฮัจย์ ถือเป็นสถานที่ที่สำคัญที่สุดของมุสลิมทั่วโลก จึงมีการดูแลรักษาอยู่เสมอ

สลามทูเดย์ฉบับนี้เราจะขอพูดถึงบุคคลสำคัญหนึ่งในทีมงานที่ได้รับเลือกไปทำประตูกะอฺบะห์ หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่าเขาเป็นคนไทยมุสลิม เป็นช่างไม้ฝีมือดี ซึ่งปัจจุบันอายุ 93 ปีแล้ว “ฮัจยีสุไลมาน ซันหวัง” เป็นชาวชุมชนสะและมัด ซอย 1 (ซ.พัฒนาการ20 แยก10) พื้นเพเดิมเป็นคนจังหวัดฉะเชิงเทรา คลอง 19 (หมอนทอง) ย้ายครอบครัวมาตั้งรกรากอยู่ที่ชุมชนแห่งนี้ เมื่อ พ.ศ.2519 และเมื่อ พ.ศ.2520 ฮัจยีสุไลมานและทีมงานได้รับเลือกให้ไปทำประตูบัยตุ้ลลอฮฺ ณ นครมักกะห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย

จุดเริ่มต้นของการทำประตูบัยตุ้ลลอฮฺ

เมื่อปี พ.ศ. 2519 (41ปี) คณะราชวงศ์ประเทศซาอุดิอาระเบียเยือนประเทศไทย โดยมี เจ้าชายอามีร มายิด ผู้ว่าการนครมักกะห์ในขณะนั้น เช็คอับดุลเลาะห์ บินตุรกี เป็นเลขา เช็คอะหมัด อิบรอฮีม บะดุร (ผู้รับผิดชอบทำประตูกะบะห์) และมีฮัจยีอับดุลเลาะห์ นาคนาวา เป็นล่ามถ่ายทอดภาษา

น้องชายของเช็คอะหมัด อิบรอฮีม บะดุร (ผู้รับผิดชอบประตูกะอฺบะห์) ชื่อ ดร.ฟาอีส อิบรอฮีม บะดุร ขณะนั้นเป็นผู้ว่าการท่าเรือยิดดะห์ ได้ติดต่อไม้มะค่าโมงจากประเทศไทยเพื่อเอาไปทำประตูกะอฺบะห์ด้วย

ฮัจยีอับดุลเลาะห์ นาคนาวา จึงจัดทีมงานไป ดังนี้

ช่างไม้ ได้แก่ 1.ฮัจยีอีซา กาสุหลง (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) 2.ฮัจยีฮูเซ็น และอิ่ม (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) 3.ฮัจยีสุไลมาน ซันหวัง ปัจจุบัน อายุ 93 ปี เป็นชาวชุมชนสะและมัด (ซ.พัฒนาการ 20 แยก 10)

ช่างทอง ได้แก่ 1.ฮัจยีอาลี มูลทรัพย์ (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) 2.ฮัจยีฮุไซนี อารีพงษ์ 3.ฮัจยีกอเซ็ม ชนะชัย

ความรู้สึกหลังจากทราบว่าจะได้ไปทำประตูบัยตุ้ลลอฮฺ

ฮัจยีสุไลมาน กล่าวว่า “ครั้งแรกที่ได้ทราบ ยังไม่เชื่อว่าจะได้ไปทำจริง เพราะเราเป็นคนไทยไม่ใช่คนอาหรับก็ไม่แน่ใจกลัวถูกหลอก แต่แล้วเราก็มั่นใจ ตอนที่เขาเอาไม้ไทยและช่างคนไทย โดยผมกับช่างอีก2คน คือฮัจยีอีซา กาสุหลง ฮัจยีฮูเซ็น และอิ่ม มีความรู้สึกปลื้มปิติมาก เพราะงานชิ้นนี้เปรียบเสมือนการได้รับเกียรติจากพระเจ้า ซึ่งมีโอกาสน้อยมากที่จะได้รับเลือกจากมุสลิมทั่วโลก หลังได้รับเลือกก็รู้สึกดีใจมาก และความรู้สึกนั้นก็ถูกส่งผ่านมาถึงครอบครัว ถือเป็นบารอกัตที่ได้รับเกียรติให้ไปทำ และได้ริสกีจากอัลลอฮฺทำให้หลังจากนั้นลูกชายผมได้ไปทำฮัจย์เห็นกะอฺบะห์ที่มีเราเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประตูกะอฺบะห์ ซึ่งสวยงามเหลืองอร่ามลูกชายประทับใจมาก เรียกว่าเป็นความภาคภูมิใจของวงศ์ตระกูลและอยากจะให้ชาวไทยมุสลิมได้รับทราบว่าประตูกะอฺบะห์ที่ท่านเห็นอยู่ทุกวันนี้เป็นฝีมือคนไทย ซึ่งเป็นระยะเวลา 40 กว่าปีแล้วที่ได้ไปทำประตูบัยตุ้ลลอฮฺ ตั้งแต่พ.ศ.2520 จนถึงปัจจุบันประตูก็ยังใช้งานอยู่”

การสร้างการออกแบบ

การสร้างและการออกแบบโดย ชาวซีเรีย ชื่อมุนีร ยุนดี ต้องเป็นไปตามข้อตกลงของกระทรวงเอากอฟ

  1. ต้องออกแบบโดยใช้ลักษณะตัวอักษรอาหรับแบบคอตที่จะเขียนอายะห์อัลกุรอาน
  2. ต้องเลือกแบบลายศิลปะที่เป็นอิสลามและเข้ากับความเป็นจริง
  3. การออกแบบของทองคำที่ใช้แกะตัวอักษรต้องมีส่วนของเงินผสมอยู่ด้วย
  4. ต้องให้ศิลปะสอดคล้องกับวิศวะกรรมสมัยใหม่

ไม้มะค่าโมง ของไทยถูกเลือกจากต้นใหญ่ต้นเดียวอายุ 200 ปี แบ่งตัดเป็นแผ่น ขนย้ายไป ความหนา 3 นิ้วความกว้าง 1.60 เมตร ความยาวกว่า 2 เมตร รวมจำนวน 8 แผ่น ใช้เวลาเลื่อยและอบในประเทศไทยเป็นเวลา 3 เดือน

ปี ฮ.ศ. 1398 เดือนซุลฮิจยะห์ เตรียมการและเริ่มทำการโดยใช้สถานที่บ้านของท่าน เช็คอะหมัด อิบรอฮีม บะดุร (ผู้รับผิดชอบประตูกะอฺบะห์) เป็นโรงงานทำประตูกะอฺบะห์

เช็คอับดุลวาฮับ อับดุลวะเซียะ เป็นรัฐมนตรีฮัจย์ ในสมัยนั้นจะมาตรวจงานเป็นระยะๆ สร้างได้ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ มกุฎราชกุมาร ฟาฮัต ได้มาตรวจอีกครั้ง

อุปสรรคในการทำประตูกะอฺบะห์

การทำประตูกะอฺบะห์ ประสบปัญหาเกี่ยวกับความร้อนในพื้นที่และความชื้น ทำให้ไม้ยืดและหดตัว ต้องใช้วิธีตัดซอยไม้จากแผ่นใหญ่ให้เป็นส่วนเล็กลง เพื่อเข้าลิ่ม เหมือนสร้างบ้านไทยโบราณ ใช้กาวและตะปูเป็นตัวเชื่อมเพื่อรองรับการยืดหยุ่นของไม้

ในส่วนงานทอง ช่างทองต้องหลอมและรีดให้เป็นแผ่นขนาด 1×3 เมตร แล้วเขียนแบบตัวคอต และตอกเป็นตัวนูน ผู้เขียนภาษา คือ เช็คอับดุลรอฮีม อามีน ในขณะนั้นท่านมีปัญหาด้านสุขภาพไม่ดี เข้า-ออก โรงพยาบาลบ่อย การเขียนแบบคอตจึงใช้เวลา 2 ปีกว่า

เมื่อทำประตูเสร็จแล้ว ขั้นตอนการติดตั้ง ผู้ดูแลและถือกุญแจกะอฺบะห์ขณะนั้นคือ เช็คตอฮา อัชฮัยบี ติดตั้งทำนั่งร้านภายในกะอฺบะห์ ซึ่งร้อนมากเปิดพัดลมด้านในไม่ได้ ต้องตั้งด้านนอกพัดให้ลมเข้าไปด้านในเท่านั้น การจัดหา การจัดเตรียม การจัดทำ การควบคุมดูแลไม่ง่าย ต้องใช้ฝีมือและความอดทนสูง ทีมคนไทยมุสลิมเหล่านี้ได้รับเลือกจากช่างฝีมือทั่วโลกหลายล้านคน ถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวไทยมุสลิม

อ.อับดุลเลาะห์ นาคนาวา ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ใช้งบประมาณในการสร้างประตูบัยตุ้ลลอฮฺ 180 ล้านริยัล ซึ่งถือเป็นงานใหญ่มาก งานประตูบัยตุ้ลลอฮฺกี่ปีจะเปลี่ยนที แต่เราไทยมุสลิมได้ทำซึ่งเป็นเวลา 40 กว่าปีแล้วปัจจุบันยังคงใช้อยู่ ไม่เหมือนผ้าคลุม (กิสวะห์) กะอฺบะห์ซึ่งเปลี่ยนทุกปี หากทางซาอุดิอาระเบียจะเปลี่ยนประตูและประเทศไหนได้รับความไว้วางใจให้ไปทำถือว่าสุดยอดแล้ว ตลอดระยะเวลา 40 กว่าปียังไม่มีการเปลี่ยนประตูบัยตุ้ลลอฮฺเลย เราคนไทยมุสลิมในฐานะทีมงานที่ได้ไปทำประตูบัยตุลลอฮฺถือว่าสุดยอดที่สุด อัลฮัมดุลิลลาห์”

ที่มาของเนื้อหา:thaimuslim.com