จะทำอย่างไร เมื่อมีเสียงเรียกเข้าของโทรศัพท์มือถือขณะที่คุณกำลังละหมาด

ADMIN

 

ในยุคปัจจุบันนี้เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นยุคของเทคโนโลยีอย่างแท้จริง เพราะมีอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ถูกผลิตมาเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการดำรงค์ชีวิตของมนุษย์เรามากมายนับไม่ถ้วน สมัยที่ผู้เขียนเรียนอยู่ที่ต่างประเทศ คิดถึงบ้านอยากคุยกับพ่อแม่เพื่อถามถึงสาระทุกข์สุกดิบของคนทางบ้าน มีอยู่ไม่กี่วิธีที่หรอกครับสามารถติดต่อกับทางบ้านได้ บางทีก็ใช้วิธีการเขียนจดหมาย บางทีก็ใช้วิธีโทรศัพท์ทางไกลซึ่งต้องเสียเงินเยอะมาก แต่ละครั้งหลายสิบปอนด์จึงไม่สามารถโทรศัพท์กลับบ้านได้บ่อยๆ ผู้เขียนมักจะเลือกใช้วิธีการเขียนจดหมายเสียเป็นส่วนใหญ่เพราะประหยัดที่สุด สมัยก่อนนักศึกษาไทยในกรุงไคโรขึ้นไปเรียนกันในแต่ละปีจะต้องพกเงินกันไปให้พอใช้ หรือไม่ก็ใช้วิธีฝากกันขึ้นไป เพราะสมัยนั้นไม่สามารถกดเงินจากตู้ เอ ที เอ็ม ได้สะดวกเหมือนสมัยนี้

ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ ในยุคปัจจุบันนี้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่นับว่าเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยและนับวันจะไฮเทคขึ้นทุกวันจนเราเกือบจะก้าวตามจะไม่ทัน และถือว่าเป็นอุปกรณ์มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของผู้คนทุกวัยไม่เว้นแม้แต่เด็กตัวเล็กๆก็ยังมีอุปกรณ์ชิ้นนี้ ผมพูดเช่นนี้ท่านผู้อ่านก็คงจะนึกออกขึ้นมาทันทีเลยว่ามันเป็นสิ่งอื่นไปไม่ได้นอกจากโทรศัพท์มือถืออย่างแน่นอน ท่านผู้อ่านเคยพบปัญหานี้ไหมครับ ขณะกำลังละหมาดอยู่มีเสียงเรียกของโทรศัพท์ดังขึ้นมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะที่เราลังละหมาดญะมาอะฮ์ที่มีพี่น้องร่วมละหมาดอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก คำถามคือว่า ” เราจะทำอย่างไร ??? ปล่อยให้เสียงนั้นดังต่อไป หรือเอื้อมมือมาปิดโทรศัพท์ทั้งๆที่ใจก็เกรงว่าจะเสียละหมาด ”

ผู้เขียนขอแนะนำอย่างนี้ครับว่า เราควรที่จะตรวจสอบก่อนที่เข้ามัสยิดว่าโทรศัพท์มือถือของเรานั้นปิดเรียบร้อยหรือยังก่อนเข้าสู่มัสยิดซึ่งเป็นบ้านของพระองคอัลลอฮ์ (ซบ.) เพราะถ้าเราสังเกตุ เราจะเห็นว่าหลายมัสยิดมีการแปะป้ายติดประกาศชัดเจนว่า ” งดใช้โทรศัพท์มือถือในมัสยิด หรือกรุณาปิดโทรศัพท์มือถือขณะอยู่ในมัสยิด ” เพราะเกรงว่าเสียงเรียกเข้าของโทรศัพท์มือถือนั้นจะรบกวนสมาธิของผู้กำลังทำอิบาดะฮ์ในมัสยิดได้

 

iphone

 

ในประเด็นนี้นักวิชาการมีความเห็นว่าอย่างไร ก่อนอื่นผู้เขียนต้องบอกว่าเรื่องนี้มีความเกี่ยวพันกับการเคลื่อนไหวในขณะที่เรากำลังละหมาดโดยตรง ดังนั้นจะต้องย้อนกลับไปศึกษาเรื่องการเคลื่อนไหวร่างกายในขณะที่เรากำลังละหมาดว่านักวิชาการมีมุมมอง หรือมีความเห็นอย่างไรในเรื่องนี้ เราลองมาศึกษาความเห็นของบรรดานักวิชาการในแต่ละสำนัก (มัสฮับ) กันดูนะครับว่าแต่ละท่านมีความเห็นอย่างไรในเรื่องนี้

กลุ่มที่หนึ่ง นักวิชาการในสังกัดมัสฮับอีหม่ามฮานาฟี พวกเขามีความเห็นว่า การเคลื่อนไหว หรือการขยับร่างกายที่ไม่เกี่ยวข้องกับท่วงท่าของการละหมาดมากๆจะทำให้เสียละหมาด ยกเว้นในกรณีที่การเคลื่อนไหวดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้นจึงจะได้รับการอภัยให้โดยไม่เสียละหมาด นอกจากนั้นแล้วนักวิชาการกลุ่มนี้ยังได้ให้คำนิยามของคำว่าเคลื่อนไหวมากเอาไว้ว่า ” การเคลื่อนไหวมากในที่นี้หมายถึง การที่คนภายนอกทั่วๆไปเห็นแล้วคิดว่าเขาไม่ได้อยู่ในสภาพที่กำลังละหมาด ”

กลุ่มที่สอง นักวิชาการในสังกัดมัสฮับอีหม่ามมาลีกี พวกเขามีความเห็นว่า หากผู้ที่กำลังละหมาดมีการขยับ หรือเคลื่อนไหวร่างกายมากจนเกินไป ไม่ว่าจะกระทำโดยตั้งใจ หรือโดยลืมก็ตาม การกระทำดังกล่าวมีผลทำให้เสียละหมาด เช่น เกา หรือถูผิวหนัง, การจับเคราบ่อยครั้งในขณะละหมาด เป็นต้น ในมุมกลับถ้าหากว่าการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยไม่ถือว่ามีผลต่อการละหมาดแต่ประการใด

กลุ่มที่สาม นักวิชาการในสังกัดมัสฮับชาฟีอียฺและฮัมบาลี พวกเขามีความเห็นในเรื่องนี้ตรงกันว่า หากผู้ละหมาดได้มีการเคลื่อนไหว หรือขยับร่างกายบ่อยครั้งและต่อเนื่องกันเป็นจำนวนมากๆ ไม่ว่าเขาจะตั้งใจกระทำหรือไมก็ตามถือว่าเสียละหมาด ยกเว้นในกรณีที่การกระทำดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย เช่น การเดิน 1 ก้าว หรือ 2 ก้าว ไม่ทำให้เสียละหมาด หากแต่ว่าการเดิน 3 ก้าวต่อเนื่องกันทำให้เสียละหมาด เพราะนักวิชาการกลุ่มนี้โดยเฉพาะนักวิชาการในสังกัดอีหม่ามชาฟีอียฺมีความเห็นว่า การกระทำ หรือการเคลื่อนไหวใดๆจะถือว่ามากหรือน้อยให้ใช้ประเพณีตัดสิน ดังนั้นการการขยับหรือการเคลื่อนไหวร่างกายเกิน 3 ครั้งติดๆกันถือว่ามาก จึงเป็นเหตุทำให้เสียละหมาด แต่ถ้าว่าการขยับหรือการเคลื่อนร่างกายเบาๆติดๆกัน เช่น การขยับนิ้วมือ, ขยับริมฝีปาก, ขยับลิ้น, การเกาเบาๆ เป็นต้น ไม่ทำให้เสียละหมาดแต่ประการใด นักวิชาการในสังกัดอีหม่ามชาฟีอียฺได้ตั้งกฏเกณฑ์ในเรื่องนี้เอาไว้ว่า ต้องเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายที่มากจนเกินไป, ต้องเกิดขึ้นด้วยความมั่นใจ, การกระทำที่เกิดขึ้นต้องไม่ใชท่วงท่าของการละหมาด, ผู้กระทำต้องรู้ว่าเป็นสิ่งต้องห้าม, มีการเคลื่นไหวที่ต่อเนื่องกันไม่เว้นระยะ, และจะต้องไม่ได้อยู่ในสภาวะสงคราม หรือตกอยู่ในสภาวะคับขัน

 

prod-smartphone

 

นอกจากนั้นแล้วจากการศึกษาเรายังพบอีกว่า บรรดานักวิชาการได้ทำการแบ่งการเคลื่อนไหวร่างกายในละหมาดออกเป็น 5 ประเภทตามหุก่มตักลีฟียฺทั้ง 5 ประการ

1- การเคลื่อนไหวร่างกายในละหมาดที่เป็นวาญิบ (จำเป็นต้องปฏิบัติ) เช่น ชายคนหนึ่งละหมาดในสภาพหันไปยังทิศกิบลัตที่ผิด ต่อมามีคนบอกว่ากับชายผู้นั้นว่าท่านหันกิบลัตผิด การเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อหันมายังกิบลัตที่ถูกต้องเป็นวาญิบ (จำเป็น) ต้องกระทำโดยไม่มีผลต่อการละหมาดแต่ประการใด

2- การเคลื่อนไหวร่างกายในละหมาดที่เป็นสุนัต (สมควรปฏิบัติ) เช่น การก้าวเท้าขึ้นข้างหน้า หรือถอยหลังลง 1 ก้าว เพื่อจัดแถวให้ตรง หรือขยับไปทางขวาหรือทางซ้ายของแถวละหมาดเพื่อเติมแถวที่ว่างให้เต็มในการละหมาดญะมาอะฮ์ เป็นต้น

3- การเคลื่อนไหวร่างกายในละหมาดที่เป็นมุบาห์ (อนุญาตให้กระทำได้) เช่น การก้าวเท้าขยับไปข้างหน้า หรือข้างหลัง ทางขวา หรือทางซ้ายเล็กน้อยเพื่อหลบแดดในกรณีที่ละหมาดอยู่กลางแสงแดด

4- การเคลื่อนไหวร่างกายในละหมาดที่เป็นมักรูฮ์ (ไม่ควรปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง) เป็นการขยับอวัยวะร่างกายเล็กน้อยโดยไม่มีความจำเป็น เช่น การแหงนมองนาฬิกา, การเอามือจับเสื้อ, เอามือจับหมวกที่ใส่อยู่บนศรีษะโดยไม่มีความจำเป็น เป็นต้น

5- การเคลื่อนไหวร่างกายในละหมาดที่หะรอม (ห้ามปฏิบัติโดยเด็ดขาด) เช่น การเคลื่อนไหวหรือขยับร่างกายหลายครั้งต่อเนื่องกันโดยไม่เว้นระยะ หรือหยุดพักโดยไม่มีความจำเป็น

ส่วนในประเด็นที่ว่า เมื่อมีเสียงเรียกเข้าของโทรศัพท์ดังขึ้นขณะที่เรากำลังละหมาดอยู่นั้นควรทำอย่างไร ??? จากการศึกษาคำวินิจฉัย (คำฟัตวา)ของนักวิชาการส่วนใหญ่พบว่า นักวิชาการเหล่านั้นมีความเห็นว่า อนุญาตให้ใช้มือขยับปิดโทรศัพท์มือถือขณะนั้นได้ โดยจะต้องระมัดระวังไม่ให้มีการเคลื่อนไหวมากจนเกินไป หรือในบางครั้งการกระทำดังกล่าวอาจถึงขั้นวาญิบต้องรีบปิดเสียงเรียกเข้าของโทรศัพท์ดังกล่าวโดยทันทีอย่างระมัดระวังโดยการพยายามเคลื่อนไหวร่างกายให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อไม่ให้รบกวนสมาธิของผู้ร่วมละหมาดคนอื่นๆ เราลองมาศึกษาตัวบทอัลหะดีษบางบทที่ชี้ให้เห็นว่าการเคลื่อนไหว หรือการขยับร่างกายอย่างระมัดระวังไม่มากจนเกินไปในขณะที่มีเหตุจำเป็นสามารถกระทำได้ เช่น อัลหะดีษที่รายงานโดยท่านอบูสะอีด อัลคุดรียฺ (ร.ฏ.) ที่ได้กล่าวว่า

عن أبي سعيد الخدري رضي الله عنه قال: بينما رسول الله صلى الله عليه وسلم يُصلي بأصحابه، إذ خَلع نعليه، فوضعهما عن يساره، فلما رأى ذلك القوم ألقوا نعالهم، فلما قضى رسول الله صلى الله عليه وسلم صلاته قال: “ما حملكم على إلقائكم نعالكم”؟ قالوا رأيناك ألقيت نعليك فألقينا نعالنا، فقال: رسول الله صلى الله عليه وسلم: “إن جبريل صلى الله عليه وسلم أتاني فأخبرني أن فيهما قذرًا ”

ความว่า ” ขณะที่ท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) ร่วมละหมาดอยู่กับบรรดาอัครสาวกของท่านนั้น ท่านศาสดาได้ถอดรองเท้าออก และวางรองเท้าทั้งสองข้างไว้เบื้องซ้ายของท่าน ดังนั้นเมื่อบรรดาศ่อฮาบะฮ์เห็นการกระทำดังกล่าวพวกเขาจึงทำตามโดยถอดรองเท้าของพวกเขาออกเช่นเดียวกัน เมื่อท่านร่อซู้ลทำการละหมาดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านร่อซูซู้ลจึงกล่าวถามพวกเขาว่า ” อะไรทำให้พวกท่านต้องโยนรองเท้า (ถอดรองเท้า) ของพวกท่าน พวกเขาตอบว่า พวกเราเห็นท่านถอดรองเท้าของท่าน พวกเราจึงทำตาม ท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) จึงได้อธิบายว่า ที่เราถอดรองเท้าก็เพราะญิบรีลได้มาหาเราแล้วบอกกับเราว่า ในรองเท้าของเรานั้นมีสิ่งสกปรกอยู่ ”  รายงานโดยอบูดาวูด, อีหม่ามอะหฺหมัด

นอกจากนั้นท่านอิบนุมัสอูด (ร.ฏ.) ได้เล่าว่า

عن ابن مسعود رضي الله عنهما قال: “رآني النبي صلى الله عليه وسلم ‏وقد وضعت شمالي على يميني في الصلاة ‏ ‏فأخذ بيميني فوضعها على شمالي” أخرجه النسائي.

ความว่า ” ครั้งหนึ่งท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) เห็นฉันละหมาดในสภาพที่ฉันนั้นกอดอกโดยมือซ้ายของฉันวางทับอยู่บนมือขวา ทันใดนั้นท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) ได้จับมือขวาของฉันให้กลับมาวางทับมือซ้าย ” รายงานโดยนะซาอียฺ

นี่เป็นเพียงตัวบทอัลหะดีษบางส่วนที่ชี้ให้เราเห็นว่า การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างระมัดระวังไม่มากจนเกินไปสามารถกระทำได้ตามความจำเป็นดังที่เราได้เห็นจากแบบฉบับของท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) แต่ถ้าว่าการกดรับโทรศัพท์ หรือการหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาตรวจเช็คชื่อบุคคล หรือเบอร์โทรที่ติดต่อเข้ามาในขณะละหมาดนั้นถือว่าเป็นการกระทำที่มากเกินความจำเป็นจึงถือว่ามีผลเสียต่อการละหมาดถึงขั้นทำให้เสียละหมาดได้

 

โดย ดร.สมชาย (ฮัสบุ้ลเลาะหฺ) เข็มมี