หลักการง่ายๆ ในการคำนวณการออกซะกาต วิธีการคำนวณซะกาตเงิน ซะกาตทอง

ADMIN

เรื่อง การออกซะกาต

1. คือว่า มีทองรูปประพรรณ อยู่  10 บาท   แล้วที่ใช้เป็นประจำจริงๆ มี  6  บาท ครับ  แล้วจะต้องออกซะกาต อย่างไรครับ
จะออกแค่ 4 บาท หรือ ต้องออกทั้งหมด 10 บาท ครับ   มีเงินอยู่ ใน ธนาคารแค่  25,000  บาท เอง ครับ จะออกอย่างไร

2. แล้วในส่วนของเงินธนบัตร   คิดตาม ราคาทอง  6 บาท ใช่หรือ ไม่ ครับ

3. แล้วสมมุติ ว่า มี ทองรูปประพรรณอยู่ 10 บาท  มีเงินอยู่ 90,000 บาท  จะคิดออกซะกาตอย่างไร
คิดรวมกันไปเลยหรือเปล่า   หรือคิดแยกกันครับ

ข้อ 1 ทองรูปพรรณที่มีอยู่ 10 บาทนี้ถ้าเป็นของคุณผู้ชายเองซึ่งตามหลักศาสนาบัญญัติห้ามคุณผู้ชายสวมใส่เครื่องประดับจำพวกทองรูปพรรณยกเว้นแหวนเงิน เมื่อมีจำนวนถึงอัตราพิกัดคิดเป็นบาทได้ราว 6 บาทขึ้นไปก็ถือว่าวาญิบต้องออกซะกาตเมื่อครบรอบปีในการครอบครองกรรมสิทธิโดยสมบูรณ์ และกรณีนี้ต้องคิดคำนวณจำนวนของทั้ง 10 บาทพร้อมด้วยเงินนธนาคารที่มีอยู่ 25,000 บาท และตีราคาเป็นเงินทั้งหมดว่าเท่าไหร่ก็ให้หักออก 2.5% เป็นซะกาต

แต่ถ้าทองรูปพรรณ 10 บาทนั้นเป็นของคุณผู้หญิงและมีการใช้สอยอยู่ด้วย กรณีนี้นักวิชาการมีความเห็นต่างกัน ฝ่ายที่หนึ่ง มีความเห็นว่าจำเป็นต้องออกซะกาตตามเงื่อนไขที่ศาสนากำหนดไว้ คือ มีกรรมสิทธิครอบครองโดยสมบูรณ์ถึงพิกัดอัตรา (คือ 6 บาทขึ้นไป) และครบรอบปี ก็ให้ออกซะกาตเหมือนวิธีแรก

ฝ่ายที่สอง ถือว่าไม่วาญิบต้องออกซะกาตแต่อย่างใด ในกรณีที่มีการใช้สอยอยู่เป็นประจำ ไม่ได้เก็บสะสมเอาไว้เฉยๆ และมีมากเกินความจำเป็น โดยถือหลักจารีตเป็นการกำหนด ทัศนะของฝ่ายที่สองนี้มีน้ำหนักและเป็นทัศนะของมัซฮับอัช-ชาฟีอียฺ

หากถือตามทัศนะที่สอง ทองจำนวน 10 บาทนี้ก็ไม่วาญิบต้องออกซะกาต เพราะเป็นทองรูปพรรณที่ใช้สอยอยู่ถึงแม้เพียงแค่ 4 บาทก็ตาม และการมีทองรูปพรรณเพียง 10 บาทก็ไม่ได้ถือว่ามีมากเกินความจำเป็นตามหลักจารีต ส่วนเงินในธนาคารที่มีอยู่ 25,000  ก็ยังไม่วาญิบต้องออกซะกาตเพราะยังไม่ถึงอัตราพิกัดที่ศาสนากำหนดเอาไว้

ข้อ 2  เงินธนบัตร ให้คิดตามราคาทอง 6 บาทครับ

ข้อ 3  ถ้าถือตามทัศนะของฝ่ายแรกก็ต้องคิดรวมทั้ง 2 อย่าง คือทั้งทองรูปพรรณจำนวน 10 บาทบวกด้วยเงินที่มีอยู่ 90,000  บาท เมื่อครบเงื่อนไขที่ศาสนากำหนด โดยคิดจำนวนเป็นเงินรวมทั้งหมดแล้วหักออกเป็นซะกาต 2.5%

แต่ถ้าถือทัศนะของฝ่ายที่สอง ก็คิดเฉพาะเงินในบัญชีว่ามีจำนวนอัตราพิกัดเท่ากับทองคำ 6 บาทหรือไม่ หากตีเสียว่า ทองคำ 1 บาท 2 หมื่นถ้วน (ตัวเลขกลมๆ) ทองคำ 6 บาทก็เท่ากับจำนวนเงิน 120,000 บาทก็จะเห็นว่าเงินจำนวน 90,000 บาทที่อยู่ในธนาคาร ณ เวลานั้นยังไม่ถึงอัตราพิกัดขั้นต่ำที่จะต้องออกซะกาตครับ!

โดย อ.อาลี เสือสมิง