การฟื้นคืนชีพในวันกิยามะฮฺ

ADMIN

ประเด็นที่คุณจำเป็นต้องประจักษ์และยอมตนกับสิ่งคลุมเครือ (หากเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า) 1.ไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานหรือคัมภีร์ใดๆ ในโลก (รวมทั้งอัล-กุรอานและวจนะของท่านนบีว่าจะมีโลกใหม่ แต่มีชาติหน้า แผ่นดินหน้า) (1/12)

นี่คือความจริง

โลกนี้ ชาติหน้า (ดุนยา วันอาคิเราะฮฺ และวันกียามัต) ที่แท้จริง

“ดุนยา” ความหมายที่แท้จริง “สภาพ เหตุการณ์ การกระทำ (อามาล) หรือสิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า , ต่ำต้อย , ชั่วคราว , ลวง , มายา ฯ”

“กิยามะฮฺ” ความหมายที่แท้จริง “การลุก (ขึ้นมาจากสุสานหรือโลกแห่งบัคซัรของมนุษย์ทุกคน)

“อาคีเราะฮฺ” ความหมายที่แท้จริง “สุดท้าย” , สภาพ , ยุคสุดท้าย , จุดจบ , (ผล) บั้นปลายหรือผลที่ได้รับปรากฏจากสภาพดุนยา (เป็นการตอบแทนหรือการลงโทษ)

“ซาอะฮฺ” ความหมายที่แท้จริง “ชั่วโมง (เวลา)” อันนั้น

“บะฮฺซา” ความหมายที่แท้จริง “การฟื้น (คืนชีพ)” กลับมาเกิดอีกครั้งเหมือนกับการเกิดครั้งแรก

หมายเหตุ คำว่า “โลกหน้า” ภาษาอาหรับ ใช้คำว่า “อาละมุลกอดิม”  “โลกนี้” ภาษาอาหรับ ใช้คำว่า “ฮารัน อาลัม” (3/12, 4/12)

*ที่เขียนมาเช่นนั้น แสดงว่าผู้เขียนติดอยู่กับรูปคำทางภาษา เพราะคำว่า “โลก” เป็นคำนาม มีความหมายว่า “แผ่นดิน” (อัล-อัรฎ์) ดังนั้นจะใช้คำว่า โลกหน้าหรือแผ่นดินหน้า ก็ไม่ต่างกันในด้านความหมาย คำว่า “อาลัม” ในภาษาอาหรับ มีความหมายว่า สิ่งถูกสร้างทั้งปวง ดังนั้นจะใช้คำว่า “แผ่นดิน” หรือ “โลก” (อาลัม) ย่อมมิใช่สาระสำคัญ เพราะไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินนี้ โลกนี้ แผ่นดินหน้า โลกหน้า ก็ล้วนเป็นสิ่งถูกสร้างด้วยกันทั้งสิ้น

 

1201-1-1-islamm

 

ในคัมภีร์อัล-กุรอานใช้คำทั้ง 2 คำ เหมือนกัน คือใช้ทั้งคำว่า อัล-อัรฺฎ์ และคำว่า อัล-อาลัม เช่น

“มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิแด่อัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก” (อัล-ฟาติหะฮฺ : 2)

คำว่า “สากลโลก” ก็คือ บรรดาสิ่งถูกสร้างทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นโลกมนุษย์ โลกของเหล่ามะลาอิกะฮฺ โลกของหมู่ญิน โลกของสรรพสัตว์ โลกของวัตถุธาตุ ทั้งแผ่นดิน ฟากฟ้า จักรวาล ฯลฯ ซึ่งคำว่าโลกนี้เป็นเครื่องหมายที่บ่งถึงมหิทธานุภาพของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.)

การสรรเสริญทั้งมวลไม่ว่าจะเป็นในโลกนี้และโลกหน้า ไม่ว่าจะเป็นสิ่งถูกสร้างในโลกใดๆ ก็ตาม ล้วนเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทั้งสิ้น เพราะพระองค์คือ พระผู้อภิบาล ผู้ทรงสร้างโลกทั้งปวง (ร็อบบุลอาละมีน) พระองค์มิใช่เป็นพระผู้ทรงสร้างโลกของสรรพสิ่ง ณ เวลานี้เท่านั้น แต่พระองค์คือพระผู้ทรงสร้างโลกหน้าอีกด้วย ซึ่งก็ไม่แปลกถ้าจะเรียกโลกหน้าหรือแผ่นดินหน้าว่า โลกใหม่ เพราะโลกใหม่ ไม่ใช่โลกเดิมเช่นทุกวันนี้

ความว่า “ดังนั้นเป็นสิทธิแด่อัลลอฮฺซึ่งการสรรเสริญทั้งมวล พระผู้ทรงอภิบาลชั้นฟ้า และพระผู้ทรงอภิบาลผืนแผ่นดิน และพระผู้อภิบาลแห่งโลกทั้งผอง” (อัล-ญาซิยะฮฺ : 36)

ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นชั้นฟ้า ผืนแผ่นดิน และโลกทั้งหลาย ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต คือโลกหน้าหรือโลกใหม่สุดแท้แล้วแต่จะเรียก พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงสร้างทั้งสิ้น ไม่ว่าพวกคุณจะเรียกว่า แผ่นดินไหนๆ หรือโลกไหนๆ ก็ตาม มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทั้งสิ้น

*ในคัมภีร์อัล-กุรอาน ใช้คำว่า “แผ่นดิน” (อัล-อัรฺฎ์) ทั้งสองความหมาย คือ โลกและแผ่นดิน

ความว่า “และแผ่นดินนั้นพระองค์ทรงวางมัน (ให้ต่ำลาดแผ่ยื่น) แก่สรรพสิ่งที่ถูกสร้าง (มนุษย์, ญินและอื่นๆ)” (อัร-เราะหฺมาน : 10)

ความว่า “พระองค์คือพระผู้ทรงกำหนดให้สูเจ้าทั้งหลายเป็นผู้สืบทอด (จากคนรุ่นก่อน) ในแผ่นดิน” (ฟาฏิร : 39)

ทั้ง 2 อายะฮฺ กล่าวถึงแผ่นดินและโลก เพราะโลกก็คือแผ่นดินตามความหมายของภาษา แผ่นดินเป็นส่วนหนึ่งของโลก โลกก็คือสิ่งถูกสร้างที่มีแผ่นดินและเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่มีมนุษย์อาศัยอยู่

ความว่า “วันซึ่งแผ่นดินและชั้นฟ้าได้ถูกเปลี่ยนเป็นอื่นจากแผ่นดินนั้น” (อิบรอฮีม : 48)

วันที่ถูกกล่าวในอายะฮฺนี้คือวันกิยามะฮฺ ซึ่งวันนั้นแผ่นดินและท้องฟ้าถูกเปลี่ยนเป็นแผ่นดินและท้องฟ้าอื่นที่มิใช่แผ่นดิน หรือท้องฟ้าที่เห็นอยู่ขณะนี้ แผ่นดินก็คือโลก โลกก็คือแผ่นดิน จึงไม่แปลกที่เราจะกล่าวว่า โลกที่เห็นอยู่ขณะนี้จะเปลี่ยนเป็นโลกอื่นที่มีลักษณะและสภาพต่างออกไป

และคำว่าโลกก็ครอบคลุมทั้งผืนแผ่นดินและท้องฟ้า เมื่อโลกเปลี่ยน แผ่นดินและท้องฟ้าก็เปลี่ยน คำว่า “แผ่นดินหน้า” ก็คือแผ่นดินอื่นที่มิใช่แผ่นดินนี้ คำว่า “โลกใหม่” ก็คือโลกที่ไม่เหมือนเดิมทั้งแผ่นดินและท้องฟ้า ดังนั้น การที่คัมภีร์อัล-กุรอานใช้คำว่า “แผ่นดิน” ก็ไม่ได้หมายความว่า นั่นเป็นการปฏิเสธโลกใหม่ เพราะแผ่นดินใหม่หรือแผ่นดินหน้า ก็คือโลกใหม่หรือโลกหน้านั่นเอง

*คำว่า “ชาติ” เป็นคำนาม แปลว่า การเกิด เช่น ชาตินี้ ชาติหน้า แปลว่า กำเนิด เช่น มีชาติมีสกุล แปลว่าเหล่ากอเทือกเถา เผ่าพันธุ์ เช่น ชาติเสือ ชาติขี้ข้า แปลว่า ชนิด , จำพวก , ชั้น , หมู่ ก็ได้ ดังนั้นเมื่อคำว่า ชาติ แปลว่า การเกิด แล้วนำมาสมาสกับคำว่า “หน้า” ซึ่งเป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า ถัดไป ชาติหน้า ก็แปลว่า การเกิดถัดไป หรือการเกิดในครั้งถัดไป

ถ้าอธิบายอย่างพวกที่เชื่อว่ามีการเวียนว่ายตายเกิด (สังสารวัฏ) บนโลกใบนี้ หรือเกิดบนแผ่นดินนี้และตายลงต่อมาก็เกิดใหม่บนแผ่นดินเดียวกันนี้ วนเวียนอยู่เช่นนั้น คำว่าชาติหน้า ตามความหมายนี้มิใช่ความเชื่อของศาสนาอิสลาม เพราะแผ่นดินนี้หรือโลกนี้ต้องถึงวันสิ้นโลก คือพินาศและถูกเปลี่ยนสภาพไปดังที่กล่าวมาแล้ว

และถ้าพวกคุณอธิบายการเกิดในลักษณะเวียนว่ายตายเกิดเช่นนี้ แล้วพวกคุณจะไปพูดถึงแผ่นดินหน้าทำไม ทั้งๆ ที่พวกคุณก็ยกหลักฐานจากอัล-กุรอานที่ระบุถึงวันที่แผ่นดินจะถูกเปลี่ยนเป็นแผ่นดินอื่นและท้องฟ้าก็ถูกเปลี่ยน (หน้า 6 บรรทัดที่ 17 จากข้างบน) แต่ถ้าอธิบายความหมายของคำว่า ชาติหน้า โดยปริยายว่าหมายถึง การเกิดในครั้งหน้าถัดจากความตายในโลกนี้ คือ การเกิดหรือฟื้นคืนชีพอีกครั้งในวันกิยามะฮฺเพื่อการการพิพากษาและการตอบแทน

 

TOPSHOT - Muslim devotees pray during the Friday noon prayers during the World Muslim Congregation, also known as Biswa Ijtema, at Tongi, some 30 kms north of Dhaka on January 13, 2017. Muslims joined in prayer on the banks of a river in Bangladesh as the world's second largest annual Islamic congregation started. / AFP / STR (Photo credit should read STR/AFP/Getty Images)

 

ซึ่งก่อนที่จะเกิดวันกิยามะฮฺนั้น คนที่ตายไปแล้วและอยู่ในโลกบัรซัค (ซึ่งพิมพ์ผิดว่า “บัคซัร” และนั่นก็แสดงว่าคุณเชื่อว่ามีโลกบัรซัค) จะไม่สามารถกลับมามีชีวิตหรือเกิดใหม่อีกบนแผ่นดินหรือโลกนี้ ถ้าอธิบายอย่างนี้ก็ย่อมไม่มีปัญหา เพราะสอดคล้องกับหลักความเชื่ออันเป็นความจริงที่มาจากพระเจ้า แต่ดูเหมือนว่าพวกคุณจะอธิบายคำว่า ชาติหน้าตามลักษณะเวียนว่ายตายเกิดเสียมากกว่า

เพราะพวกคุณบอกว่า “วันนี้คือ “วันกิยามะฮฺแล้ว” และพวกเรากำลังอยู่ใน (ทุ่ง) มะซัร” (หน้า 5 บรรทัดที่ 4 จากข้างล่าง)  หากวันนี้คือวันกิยามะฮฺแล้วและพวกเรากำลังอยู่ใน (ทุ่ง) มะชัร (มะหฺชัร) อย่างที่พวกคุณว่า พวกคุณก็สับสนและตกอยู่ในความขัดแย้งทางความเชื่อของพวกคุณเองแล้ว เพราะพวกคุณบอกว่า “ไม่มีหลักฐานว่าจะมีโลกใหม่ แต่มีชาติหน้า แผ่นดินหน้า” (หน้า 1 ข้อที่ 1) วันนี้ก็ยังเป็นวันของโลกนี้ แผ่นดินก็ยังคงเป็นแผ่นดินเดิม ท้องฟ้าก็ยังไม่ถูกเปลี่ยนเป็นอื่น แผ่นดินหน้าก็ต้องถูกเปลี่ยนจากแผ่นดินเดิมหรือแผ่นดินก่อนนั้น ถึงจะเป็นวันกิยามะฮฺที่เรียกว่า กิยามะฮฺใหญ่ หากเป็นความจริงจากพระเจ้าอย่างที่พวกคุณอ้างแล้ว ความจริงย่อมไม่ขัดแย้ง ไม่สับสนและคลุมเครือ เพราะอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงตรัสว่า

ความว่า “และมาตรแม้นปรากฏว่า (อัล-กุรอาน) มาจากอื่นนอกจากอัลลอฮฺแล้วไซร้ พวกเขาย่อมพบว่าในนั้น (อัล-กุรอาน) มีการขัดแย้งเป็นอันมาก” (อัน-นิสาอฺ : 82)

อัล-กุรอานคือความจริงจากพระเจ้าจึงไม่พบว่ามีความขัดแย้งกันเอง ในถ้อยความหรือนัยของอัล-กุรอาน ฉะนั้น สิ่งที่พบว่ามีความขัดแย้งกันนั่นย่อมมิใช่ความจริงจากพระเจ้า!

*การให้ความหมายของ ดุนยา, กิยามะฮฺ, อาคีเราะฮฺ, ซาอะฮฺ และบะฮฺซา (อัล-บะอฺษุ) ตามความหมายที่แท้จริงอย่างที่กล่าวมานั้น โดยมากเป็นการให้ลักษณะ หรือไขความ ไม่ใช่ความหมายตามหลักภาษา ซึ่งหากจะให้ความหมายในเชิงบอกลักษณะหรือไขความ ก็ไม่ได้ผิดอะไร

ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า การให้ความหมายแบบนั้น มีเป้าหมายเพื่อให้สอดคล้องกับการตีความของพวกคุณถึงสภาพของมนุษย์ในยุคสุดท้ายและสภาวะทางจิตวิญญาณที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ในวันกิยามะฮฺ ซึ่งพวกคุณเชื่อว่าเกิดขึ้นแล้วและคือวันนี้ซึ่งพวกคุณอ้างว่า เรากำลังอยู่ในทุ่งมะหฺชัรใช่หรือไม่? ถ้าตอบว่าใช่! นั่นก็คือความสับสนของพวกคุณเอง เพราะทุกมะหฺชัรซึ่งปวงบ่าวของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) จะถูกไล่ต้อนให้มารวมกันอยู่ที่นั่นในวันกิยามะฮฺ เป็นคนละแผ่นดินที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้

ดังอายะฮฺที่ 48 สูเราะฮฺอิบรอฮีม ระบุเอาไว้ และท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้บอกให้เราทราบถึงลักษณะของแผ่นดินใหม่หรือแผ่นดินหน้าซึ่งจะเป็นสถานที่รวมปวงบ่าวของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.)  คือ ทุ่งมะหฺชัรนั้น  ในอัล-หะดีษที่บันทึกไว้ในเศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ และมุสลิม จากท่านสะฮฺล์ อิบนุ สะอฺด์ ว่า ฉันได้ยินท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า

“มนุษย์จะถูกไล่ต้อนให้มารวมกันในวันกิยามะฮฺบนแผ่นดินสีขาวบริสุทธิ์ (หรือขาวแกมสีแดงเล็กน้อย) คล้ายกับแผ่นกลมแบนของแป้งละเอียดที่ถูกร่อน”

สะฮฺล์ หรือผู้รายงานหะดิษบทนี้กล่าวว่า

“ไม่มีเครื่องหมาย (หรือสัญลักษณ์) ใดสำหรับผู้ใดในแผ่นดินนั้น” (ฟัตหุลบารียฺ 11/372, มุสลิม หะดีษเลขที่ 2790)

คำว่า มะอฺลัม หมายถึงเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ที่ใช้นำทาง เช่น ภูเขาและก้อนหิน หรือหลักเขตที่มนุษย์วางเอาไว้เพื่อชี้เส้นทางหรือแบ่งเขต แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในขณะนี้หรือวันนี้ในปี พ.ศ.2554/ ค.ศ.2011 แผ่นดินยังคงมีหลักเขต มีเครื่องหมายที่ใช้ในการกำหนดเส้นทางการคมนาคม มีอาคารตึกรามบ้านช่อง มีภูเขา ต้นไม้ เนินเขา มีสิ่งกีดขวางสายตามากมายไม่ได้โล่งเตียนสุดสายตาแต่อย่างใด

อีกทั้งแผ่นดินในวันนี้ก็ยังไม่ได้กลายสภาพเป็นแผ่นดินสีขาวเหมือนแผ่นแป้งกลมอย่างที่ระบุใน อัล-หะดีษ ฟ้าก็ยังคงเป็นฟ้าเหมือนเดิม ดวงอาทิตย์ก็ยังไม่ได้กลับไปขึ้นทางทิศตะวันตก น้ำทะเลก็ยังไม่เดือดและลุกเป็นไฟ ดวงดาวก็ยังไม่ได้ร่วงหล่นลงมาใส่แผ่นดินของมนุษย์โลก ภูเขาก็ยังอยู่ในที่เดิม ยังไม่ได้มีสภาพปลิวว่อนเหมือนปุยนุ่นที่ถูกเป่า ฯลฯ การอธิบายว่าวันนี้เป็นวันกิยามะฮฺใหญ่แล้ว และเรากำลังอยู่ในทุ่งมะหฺชัรโดยใช้คำว่า “โลกยุคไร้พรมแดน” (หน้า 6 บรรทัดที่ 16 จากข้างบน) จึงเป็นการตีความเอาเอง

เพราะถึงแม้มนุษย์ในปัจจุบันจะเรียกยุคนี้ว่า “ยุคโลกไร้พรมแดน” นั่นก็เป็นเพียงเรื่องของข้อมูลข่าวสารที่สามารถรับรู้ได้โดยทั่วถึง แต่นั้นก็เป็นสภาพที่เกิดขึ้นเฉพาะในพื้นที่ของโลกที่มีความเจริญทางด้านโกเบิ้ลเนทเวิร์ค ชนเผ่าอินเดียนในอเมริกาใต้ หรือชนเผ่าที่อยู่ในป่าดงดิบอเมซอน ก็ยังไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นในอีกซีกโลกหนึ่งอยู่ดี พรมแดนทางภูมิศาสตร์กายภาพก็ยังคงมี มีการกระทบกระทั่งกันในเรื่องเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ ทั้งหมดเป็นคนละเรื่องกับแผ่นดินหน้าที่กล่าวมาโดยสิ้นเชิง

 

silhouette-of-man-praying-at-sunset-shutterstock-800x430

 

แต่ถ้าพวกคุณบอกว่า “ไม่ใช่” เพราะว่า วันนี้คือวันกิยามะฮฺแล้ว หมายถึง วันนี้เป็นส่วนหนึ่งของช่วงเวลาที่กำลังดำเนินสู่วันกิยามะฮฺใหญ่ซึ่งเริ่มนับถอยหลังอายุของโลกและจักรวาลนี้สู่วันสุดท้ายตั้งแต่การแต่งตั้งท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) มาประกาศศาสนาและสัญญาณของวันกิยามะฮฺก็เริ่มปรากฏต่อจากนั้นเรื่อยมา เชื่อและอธิบายอย่างนี้ไม่ผิด แต่ก็ไม่พ้นตรงกรณีที่ว่า “ขณะนี้เรากำลังอยู่ในทุ่งมะหฺชัรอยู่ดี” เพราะทุ่งมะหฺชัรเป็นสภาพของแผ่นดินในวันนั้น คือวันกิยามะฮฺใหญ่ ความจริงที่อ้างว่ามาจากพระเจ้าก็ยังคงสับสนและขัดแย้งกันอยู่ดี!

*การให้ความหมาย คำว่า โลกหน้า ในภาษาอาหรับว่า “อาละมุลกอดิม” และคำว่า โลกนี้ ในภาษาอาหรับว่า “ฮารัน อาลัม” (น่าจะเป็นฮาซา อัล-อาลัม มากกว่า) นั่นเป็นการกำหนดคำขึ้นมาเอง (อยู่ในหมายเหตุ หน้า 4 บรรทัดที่ 3 จากข้างบน) ไม่ใช่เป็นการอิงกับถ้อยคำที่มีระบุไว้ในอัล-กุรอาน เพราะอัล-กุรอานเรียกโลกหน้า ในวันกิยามะฮฺว่า อัล-อาคิเราะฮฺ เรียกโลกนี้ว่า อัล-อูลา ก็มี เช่น

ความว่า “และแน่นอนสถานสุดท้าย (คือโลกหน้าอันเป็นโลกสุดท้ายหรือแผ่นดินสุดท้าย) ย่อมดีกว่าสถานแรก (คือโลกนี้) สำหรับท่าน” (อัฎ-ฎุฮา : 4)

ความว่า “และแน่นอนสถานสุดท้ายย่อมดีกว่าสำหรับบรรดาผู้มีความยำเกรง ไฉนเลยพวกท่านจึงไม่ใช้ปัญญาใคร่ครวญ” (ยูสุฟ : 109)

ในคัมภีร์อัล-กุรอาน ไม่มีการใช้คำว่า “อัล-อาลัม อัล-กอดิม” อย่างที่พวกคุณกำหนดขึ้นมาว่าหมายถึงโลกหน้าก็ถูกต้องแล้ว แต่การไม่ได้ใช้คำนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีโลกหน้า มีแต่แผ่นดินหน้าอย่างที่พวกคุณกล่าวอ้าง เพราะโลกก็คือแผ่นดิน แผ่นดินก็คือโลก มีความหมายเดียวกัน เมื่อไม่ใช้คำว่าโลกหน้าก็ไม่เสียหาย เพราะโลกหน้ากับแผ่นดินหน้ามีความหมายเดียวกันอยู่แล้ว แต่การใช้คำว่า “อาละมุล-กอดิม” ของคุณนั้นเป็นการใช้ตามภาษาซึ่งอัล-กุรอานไม่ได้ใช้คำนี้ และการไม่ได้ใช้คำนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีหลักฐานยืนยันว่า มีโลกหน้า แต่อย่างใด

 

ขอขอบคุณอาจารย์อาลี เสือสมิง