12 วิธี จัดการกับความโกรธ ตามแนวทางอิสลาม

ADMIN

“ความโกรธ” คือหนึ่งในบรรดาเสียงกระซิบชั่วร้ายของชัยฎอน ที่นำไปสู่ความเลวร้ายและโศกนาฎกรรมมากมาย ซึ่งมีเพียงอัลลอฮฺพระองค์เดียวเท่านั้นที่ทรงรู้ถึงอาณาเขตทั้งหมดของมัน ด้วยเหตุผลนี้ อิสลามจึงได้กล่าวถึง “คุณลักษณะที่เลวร้ายนี้” ไว้อย่างมากมาย และท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมเองก็ได้บอกถึงวิธีการเยียวยา “โรคร้ายนี้” และวิธีการที่จะจำกัดผลกระทบของมัน ซึ่งมีดังต่อไปนี้

(1)ขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺให้พ้นจากชัยฏอนมารร้าย  

ท่านสุลัยมาน อิบนุ ซัรดฺ กล่าวว่า “ขณะที่ฉันนั่งอยู่กับท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม มีชายสองคนกำลังด่าทอใส่ร้ายกันอยู่ คนหนึ่งหน้าแดงกล่ำ เส้นเลือดที่คอของเขานูนขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด ท่านเราะสูลจึงกล่าวว่า “ฉันทราบถึงถ้อยคำหนึ่ง ที่หากว่าเขากล่าวมันแล้ว สิ่งที่เขารู้สึกอยู่นั่นจะมลายหายไป หากเขากล่าวว่า “ฉันขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺให้พ้นจากชัยฎอน” และสิ่งที่เขากำลังรู้สึกอยู่นั้น (คือ ความโกรธ) จะหายไป” (รายงานโดยบุคอรียฺ และอัลฟัตฮฺ 6/337)

ท่านเราะสูลกล่าวว่า “หากบุคคลหนึ่งเกิดความโกรธ และกล่าวว่า “ฉันขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺ” ความโกรธของเขาจะหายไป” (เศาะหีฮฺ อัล ญามิอฺ อัศ เศาะฆีรฺ)

(2) การนิ่งเงียบ

ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “หากผู้ใดในหมู่พวกท่านเกิดความโกรธ เขาจงนิ่งเงียบเสีย” (รายงานโดยอีม่ามอะหมัด อัลมุสนัด 1/329; ดูเศาะหีฮฺ อัลญามิอฺ693, 4027)

นี่เป็นเพราะว่าโดยส่วนใหญ่แล้ว “ผู้ที่มีความโกรธ” มักจะสูญเสียการควมคุมตัวเอง และเขาอาจกล่าวถ้อยคำแห่งกุฟรฺ (จากสิ่งที่เราขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺ) หรือคำสาปแช่ง หรือถ้อยคำของการหย่าร้าง (เฏาะลาก) ซึ่งเป็นเหตุที่ทำลายครอบครัวของเขา หรือถ้อยคำของการใส่ร้ายที่จะนำพาเขาไปสู่การเป็นศัตรู และความเกลียดชัยต่อผู้อื่น ดังนั้น “การนิ่งเงียบ” คือวิธีแก้ที่ช่วยให้คนคนหนึ่งออกห่างจากความเลวร้ายที่กล่าวมาทั้งหมดนี้

(3) การอยู่นิ่ง

ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “เมื่อผู้ใดก็ตามในหมู่พวกท่านเกิดความโกรธ และหากเขากำลังนั่งอยู่ เขาจงนั่งเสีย เพื่อที่ว่าความโกรธของเขาจะหายไป และหากว่ามันไม่หายไป เขาจงนอนเอนกายลงเสีย”

ผู้รายงานหะดีษบทนี้คือท่านอบู ซัรรฺ (เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ) และมีเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องจากการรายงานหะดีษบทนี้ด้วย นั่นคือ ท่านอบูซัรรฺได้พาอูฐของท่านไปดื่มน้ำที่รางน้ำที่ท่านเป็นเจ้าของ จากนั้นมีคนบางคนได้ตามท่านมาและกล่าว (ต่อกัน) ว่า “ใครสามารถแข่งขันกับอบูซัรรฺ (ในการนำบรรดาสัตว์มาดื่มน้ำ) ได้?”ชายคนหนึ่งจึงกล่าวขึ้นมาว่า “ฉันทำได้” ดังนั้นเขาจึงนำบรรดาสัตว์ของเขามาและแข่งขันกับท่านอบูซัรรฺ แต่ผลที่เกิดขึ้นคือรางน้ำเกิดพังขึ้นมา ( ท่านอบู ซัรรฺคาดหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือในการป้อนน้ำให้กับอูฐของท่าน หากแต่ว่าชายคนดังกล่าวกลับประพฤติตัวไม่เหมาะสมและทำให้รางน้ำพัง) ซึ่งขณะนั้นท่านอบูซัรรฺกำลังยืนอยู่ ดังนั้นท่านจึงนั่งลง และจากนั้นท่านก็ได้เอนกายลงนอน จีงมีคนถามท่านว่า “โอ้ ท่านอบูซัรรฺ เหตุใดท่านจึงนั่งลง และจากนั้นก็เอนกายลงเล่า” ท่านตอบว่า “ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “เมื่อผู้ใดก็ตามในหมู่พวกท่านเกิดความโกรธ และหากเขากำลังนั่งอยู่ เขาจงนั่งเสีย เพื่อที่ว่าความโกรธของเขาจะหายไป และหากว่ามันไม่หายไป เขาจงนอนเอนกายลงเสีย” (หะดีษบทนี้ และเรื่องราวนี้อยู่ในมุสนัดอะหมัด 5/152 และดูเศาะหีฮฺ อัลญามีอฺ เลขที่ 694)

อีกหนึ่งรายงานบอกเล่าว่า “ท่านอบูซัรรฺกำลังให้น้ำแก่บรรดาสัตว์ของท่านที่รางน้ำ เมื่อมีชายคนหนึ่งทำให้ท่านโกรธ ท่านจึงนั่งลง…” (ฟัยดฺ อัลกอดีรฺ อัลมะนาวียฺ 1/408)

“ข้อดีของคำแนะนำตักเตือนของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ  อะลัยฮิ วะสัลลัม” คือ ข้อเท็จจริงที่ว่า “การกระทำดังกล่าวจะยับยั้งคนที่กำลังโกรธให้พ้นจากการสูญเสียการควบคุม เพราะเขาอาจพลาดพลั้งและทำร้ายผู้อื่น หรือแม้แต่อาจจะทำให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิต  หรือเขาอาจทำลายข้าวของและสิ่งอื่นๆ ก็เป็นได้ “การนั่งลง” ย่อมทำให้แรงกระตุ้นเร้าของเขาลดลง และการเอนกายลงนอนย่อมปกป้องเขาจากการกระทำที่บ้าคลั่งหรือการก่ออันตราย  อัลอัลลามะฮฺ อัลค็อฏฏอบียฺ (เราะหิมะฮุลลอฮฺ) กล่าวไว้ในคำอธิบายในหนังสือหะดีษอบูดาวูดว่า “ผู้ที่กำลังยืนอยู่ คือ (ผู้ที่อยู่ใน) ท่าทางที่พร้อมจะจู่โจมและเข้าทำลาย ขณะที่ผู้ที่กำลังนั่งอยู่ ย่อมเป็นการยากสำหรับเขาที่จะทำเช่นนั้น และสำหรับผู้ที่เอนกายนอนย่อมไม่สามารถกระทำสิ่งนั้นได้เช่นกัน จึงเป็นไปได้ว่าที่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม บอกต่อผู้ที่มีความโกรธให้นั่งลง หรือเอนกายลง เพื่อที่เขาจะไม่กระทำสิ่งใดที่เขาอาจเสียใจภายหลัง และอัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง” (สุนัน อบี ดาวูด พร้อมทั้ง มะอฺอาลิม อัสสุนนะหฺ 5/141)

(4) ปฏิบัติตามคำสอนของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม

ท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ กล่าวว่า “มีชายคนหนึ่งกล่าวต่อท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมว่า “จงให้คำตักเตือนแก่ฉันด้วยเถิด” ท่านเราะสูลกล่าวว่า “ท่านจงอย่าโกรธ” ชายคนเดิมถามคำถามเดิมต่อท่านเราะสูลซ้ำๆ อยู่หลายครั้ง และทุกๆ ครั้งท่านเราะสูลก็ตอบเขาเช่นเดิมว่า “ท่านจงอย่าโกรธ” (รายงานโดยอัลบุคอรียฺ ฟัตหุลบารียฺ10/456)

อีกหนึ่งรายงาน ชายคนหนึ่งกล่าวว่า “ฉันใคร่ครวญถึงสิ่งที่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้กล่าวไว้ และฉันได้ตระหนักว่าความโกรธนั้นประกอบด้วยความชั่วร้ายทุกประเภท” (มุสนัด อะหมัด 5/373)

(5) จงอย่าโกรธ แล้วสวนสวรรค์จะเป็นของท่าน (จากหะดีษเศาะหีฮฺ ดูเศาะหีฮฺ อัลญามฺีอฺ  7374. อิบนุ ฮัจญฺร ให้ความเห็นว่าเป็นหะดีษของอัฏฏ็อบบะรอนียฺ ดูอัลฟัตฮฺ 4/465):

พึงรำลึกถึงสิ่งที่อัลลอฮฺทรงให้สัญญาต่อบรรดาผู้ศรัทธาที่ดี (มุตตากีน) ที่ออกห่างจากเหตุแห่งความโกรธ และต่อสู้อย่างหนักกับตัวเองด้วยการควบคุมมัน ซึ่งนั่นคือหนึ่งในวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการขจัดไฟแห่งความโกรธ หนึ่งในหะดีษที่บรรยายถึงรางวัลการตอบแทนอันยิ่งใหญ่ต่อการกระทำนี้ คือ “ผู้ใดก็ตามที่ควบคุมอารมณ์โกรธของเขา ขณะที่เขามีหนทางที่จะแสดงมันออกมา อัลลอฮฺจะทรงเติมเต็มหัวใจของเขาด้วยความสุขในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ” (รายงานโดย อัฎฎ็อบบะรอนียฺ 12/453, ดูหะดีษอัลญามีอฺ, 6518)

อีกหนึ่งรางวัลการตอบแทนที่ยิ่งใหญ่นั้น ได้ถูกบรรยายไว้ในถ้อยคำของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ว่า “ผู้ใดก็ตามที่ควบคุมความโกรธของเขา ขณะที่เขามีหนทางที่จะแสดงมันออกมาก อัลลอฮฺจะทรงเรียกเขาผู้นั้นออกมาต่อหน้ามวลมนุษย์ทั้งหลายในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ และจะให้เขาได้เลือกฮูรุลอัยนฺ (นางสวรรค์) นางใดก็ตามที่เขาปรารถนา” (รายงานโดยอบู ดาวูด 4777, และท่านอื่นๆ  จัดว่าเป็นหะดีษหะซันในเศาะหีฮฺ อัลญามีอฺ 6518).

(6)  พึงรำลึกถึง “สถานะอันสูงส่ง และสิ่งดีงาม” ที่จะถูกมอบให้กับผู้ที่ควบคุมตัวของเขา

ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “ผู้ที่แข็งแรงไม่ใช่ผู้ที่สามารถเอาชนะผู้อื่นได้ (ในการต่อสู้) หากแต่ผู้ที่แข็งแรงนั้นคือผู้ที่สามารถควบคุมตัวของเขาได้ ในยามที่เขาโกรธ” (รายงานโดยอะหมัด  2/236)  ยิ่งระดับความโกรธมีมากเพียงใด สถานะของผู้ที่ควบคุมความโกรธของเขานั้นยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น

ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “ผู้ที่แข็งแรงที่สุด คือผู้ที่เมื่อเขาเกิดความโกรธ และหน้าของเขาแดงกล่ำ และเอนที่คอของเขานูนขึ้น หากแต่เขาสามารถต่อสู้กับอารมณ์ความโกรธของเขาได้” (รายงานโดยอีม่ามอะหมัด  5/367, จัดเป็นหะดีษหะซันในเศาะหีฮฺ อัลญามีอฺ 3859)

ท่านอนัสรายงานว่า “ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เดินผ่านคนกลุ่มหนึ่งที่กำลังต่อสู้กันอยู่ ท่านถามขึ้นมาว่า “นี่คืออะไรกัน” พวกเขาจึงตอบว่า “คนนั้น คนนี้ คือผู้ที่แข็งแรงที่สุด เขาสามารถเอาชนะ (ในการต่อสู้) กับผู้ใดก็ตาม” ท่านเราะสูล กล่าวว่า “ฉันควรบอกแก่ท่านให้ทราบเกี่ยวกับผู้ที่มีความแข็งแรงเหนือเขาหรือไม่?  นั่นคือผู้ที่เมื่อเขาถูกอธรรมจากผู้อื่น เขาก็ควบคุมอารมณ์โกรธของเขา และต่อสู้กับชัยฎอนในตัวเขาและชัยฎอนของผู้ที่ทำให้เขาโกรธ” (รายงานโดยอัลบัซซารฺ และอิบนุ ฮัจญรฺ กล่าวว่าอิสนาดของหะดีษบทนี้นั้นเศาะหีฮฺ , อัลฟัตฮฺ  10/519)

(7)  ปฏิบัติตามแบบอย่างของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ในยามที่ท่านโกรธ   

ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม คือผู้นำของเราและได้เป็นแบบอย่างที่ดีงามที่สุดในเรื่องนี้ ดังที่มีการรายงานไว้ในหะดีษหลายบท หนึ่งในหะดีษที่เป็นที่รู้จักกันดีนั้นถูกรายงานโดยท่านอนัส เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ ซึ่งท่านเล่าว่า “ฉันกำลังเดินอยู่กับท่านเราะสูล ขณะนั้นท่านสวมใส่เสื้อคลุมนัจรอนียฺ ที่มีคอเสื้อที่หยาบ ระหว่างนั้นมีชาวเบดูอีนคนหนึ่งเข้ามาและคว้าดึงขอบคอเสื้อคลุมของท่าน และฉันได้เห็นรอยตรงคอด้านซ้ายของท่าน ที่เกิดจากคอเสี้อ จากนั้นชาวเบดูอินได้สั่งท่านเราะสูลให้นำทรัพย์สินของอัลลอฮฺที่ท่านมีอยู่ มามอบให้แก่เขา ท่านเราะสูลจึงหันไปหาเขาและยิ้มให้ จากนั้นท่านจึงสั่ง (พวกเรา) ว่าชายเบดูอินท่านนั้นควรได้รับบางสิ่งบางอย่าง” (หะดีษ ผู้รายงานเห็นพ้องต้องกัน ฟัตฮุลบารียฺ, 10/375)

อีกหนทางที่เราสามารถปฏิบัติตามแบบอย่างของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้นั้นคือ“การทำให้ความโกรธของเราเป็นไปเพื่ออัลลอฮฺเมื่อสิทธิ์ของพระองค์ถูกทำร้าย (ละเมิด)” นี่คือประเภทของความโกรธที่น่ายกย่อง ดังนั้นท่านเราะสูลจึงเกิดความโกรธ เมื่อท่านได้ทราบเกี่ยวกับอีม่ามท่านหนึ่งที่นำผู้คนละหมาดเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน และเมื่อท่านเห็นม่านที่มีรูปสิ่งถูกสร้างประดับอยู่ในบ้านของท่านหญิงอาอิชะฮฺ และเมื่ออุซามะฮฺบอกกับท่านเกี่ยวกับสตรีมักฮฺซูมียฺที่มีความผิดฐานทำการขโมย และท่านกล่าวว่า “พวกท่านเข้ามาขัดขวางหนึ่งในการลงโทษที่ถูกกำหนดไว้โดยอัลลอฮฺกระนั้นหรือ?” และเมื่อท่านถูกถามคำถามที่ท่านไม่ชอบ เป็นต้น “ความโกรธของท่านเป็นไปเพื่ออัลลอฮฺด้วยความบริสุทธิ์ใจ”

(8)  พึงรู้ว่าการยับยั้งความโกรธ คือหนึ่งสัญญาณของความดีงาม (ความยำเกรง:ตักวา)

“ผู้ยำเกรง (อัลมุตตากูน)” คือผู้ที่ได้รับการยกย่องด้วยอัลลอฮฺในอัลกุรอานและด้วยศาสนทูตของพระองค์ “สวนสวรรค์ที่กว้างใหญ่เท่ากับชั้นฟ้าและผืนแผนดินได้ถูกเตรียมไว้สำหรับพวกเขา” หนึ่งในคุณลักษณะที่ว่าคือ “จงใช้จ่าย (ในหนทางของอัลลอฮฺ) ทั้งในยามที่สุขสบาย และในยามที่เดือดร้อน (พวกเขา) ข่มอารมณ์โกรธ และ (พวกเขา) ให้อภัยแก่เพื่อนมนุษย์ แท้จริง อัลลอฮฺทรงรักอัลมุฮฺซินูน (ผู้กระทำความดีทั้งหลาย)” (อะลิ อิมรอน 3:134)

(9) รับฟังคำตักเตือน

ความโกรธ คือส่วนหนึ่งในธรรมชาติของความเป็นมนุษย์” ผู้คนมีความแตกต่างกันในเรื่องของความโกรธ มันอาจจะเป็นการยากสำหรับคนคนหนึ่งที่จะไม่รู้สึกโกรธ หากทว่า “ผู้ที่มีความบริสุทธิ์ใจ” ย่อมรำลึกถึงอัลลอฮฺ เมื่อพวกเขาใคร่ครวญ และพวกเขาจะไม่ก้าวข้ามขอบเขตที่กำหนดไว้ มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับชนยุคก่อนเช่น

ท่านอิบนุ อับบาส (เราะฏิยัลลอฮุ อันฮุ) รายงานว่า มีชายคนหนึ่งขออนุญาตที่จะเข้าไปพูดคุยกับท่านอุมัรฺ อิบนุ ค็อฏฏ็อบ (เราะฏิยัลลอฮุ อันฮุ) จากนั้นเขากล่าวได้ขึ้นมาว่า “โอ้ บุตรของอัล ค็อฏฏ็อบ ท่านไม่ได้ให้แก่พวกเรามากนัก และท่านก็ไม่ได้ทำการตัดสินระหว่างพวกเราด้วยความยุติธรรม” เมื่อได้ยินเช่นนั้น ท่านอุมัรฺจึงเกิดความโกรธเป็นอย่างมากจนท่านเกือบที่จะเข้าไปทำร้ายชายคนดังกล่าว หากแต่ท่านอัลฮุรรฺ อิบนุ ฆ็อยซฺ หนึ่งในผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น กล่าวขึ้นมาว่า “โอ้ อะมีรฺ อัลมุอฺมินีน อัลลอฮฺตรัสต่อศาสนทูตของพระองค์ว่า “จงยึดถือไว้ซึ่งการอภัย และจงใช้ให้กระทำสิ่งที่ชอบ และจงผินหลังให้แก่ผู้โฉดเขลาทั้งหลายเถิด (อัลอะร็อฟ 7:199) ชายคนนั้นคือหนึ่งในบรรดาผู้ที๋โง่เขลา ด้วยพระนาม่ของอัลลอฮฺ อุมัรฺไม่สามารถทำสิ่งใดไปได้มากกว่านั้นหลังจากที่ท่านอัลฮุรรฺได้กล่าวถึงอายะฮฺนี้ต่อท่าน และท่านอุมัรฺเองก็คือบุรุษที่มีความระมัดระวังต่อการยึดมั่นต่อคัมภีร์แห่งอัลลอฮฺคนหนึ่ง (รายงานโดย อัลบุคอรียฺ อัลฟัตฮฺ  4/304) นี่คือวิธีการที่มุสลิมควรปฏิบัติ

บรรดามุนาฟีกที่ชั่วร้าย (ผู้กลับกลอก) ไม่ได้ปฏิบัติตัวเช่นนี้เมื่อเขาได้รับการบอกกล่าวถึงหะดีษของท่านเราะสูล และเมื่อหนึ่งในบรรดาเศาะฮาบะฮฺได้บอกแก่เขาว่า “จงขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺให้พ้นจากชัยฎอนเถิด” เขากล่าวต่อผู้ที่ให้การตักเตือนแก่เขาว่า “ท่านคิดว่าฉันบ้ากระนั้นหรือ จงไปให้ไกลเสีย”(รายงานโดย อัลบุคอรียฺ อัลฟัตฮฺ  1/465) เราวิงวอนขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺจากความล้มเหลว (ความพ่ายแพ้ต่อชัยฎอน) ด้วยเถิด

(10) พึงรู้ถึงผลเสียของความโกรธ

“ผลเสียของความโกรธมีอยู่มากมาย” คือ “ความโกรธ” เป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดผลร้ายทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น ผู้ที่มีความโกรธอาจกล่าวถ้อยคำที่ใส่ร้ายและถ้อยหยาบคาย และเขาอาจเข้าไปทำร้าย (ร่างกาย) ผู้อื่นในลักษณะที่สูญเสียการควบคุม และมันอาจนำพาเขาไปสู่จุดที่ก่อให้เกิดการฆ่า เรื่องราวที่จะกล่าวต่อไปนี้ได้ให้บทเรียนที่มีคุณค่าแก่เรา นั่นคือ

“ท่านอิลกิมะฮฺ อิบนุ วาอฺอิล รายงานว่าบิดาของท่านบอกต่อท่านว่า “ขณะที่ฉันนั่งอยู่ร่วมกับท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม  มีชายคนหนึ่งเดินเข้ามาด้วยการนำชายอีกคนหนึ่งมาด้วยโดยผูกเขาไว้กับเชือก เขากล่าวว่า “โอ้ เราะสูลุลลอฮฺ ชายคนนี้ได้ฆ่าพี่ชายของฉัน” ท่านเราะสูลจึงถามชายคนนั้นว่า “ท่านได้ฆ่าเขาจริงหรือไม่” เขาตอบว่า “ใช่ขอรับ ฉันได้ฆ่าเขา” ท่านเราะสูลถามว่า “ท่านฆ่าเขาอย่างไร” เขาตอบว่า “ขณะที่ฉันและเขาตีต้นไม้เพื่อให้ใบไม้ตกลงมา เป็นอาหารสัตว์ เขาได้กล่าวร้ายต่อฉัน ดังนั้นฉันจึงตีเขาที่ข้างศีรษะด้วยขวาน และทำให้เขาเสียชีวิตลง” (รายงานโดยมุสลิม 1307, แก้ไขโดยอัลบากียฺ)

“ความโกรธ” สามารถนำไปสู่ สิ่งที่อาจร้ายแรงน้อยกว่าการฆ่า นั่นคือการทำร้ายให้บาดเจ็บ หรือกระดูกหัก หากว่าผู้ที่สร้างความโกรธแก่อีกฝ่ายหนีออกไป ผู้ที่มีความโกรธอาจจะปลดปล่อยความโกรธลงตัวเอง ซึ่งเขาอาจจะฉีกเสื้อผ้าของตัวเอง ตบตีที่ใบหน้าของตัวเอง หรืออาจเกิดความโมโหมาก และเสียสติ หรือเขาอาจจะทำลายข้าวของจานชาม หรือแม้แต่เฟอร์นิเจอร์ก็เป็นได้

ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือ “ความโกรธ” ก่อให้เกิดความหายนะทางสังคมและการแตกหักของความสัมพันธ์ภายในครอบครัว เช่น “การหย่าร้าง” หากเราลองถามผู้ที่หย่าขาดกับภรรยาของพวกเขา พวกเขาย่อมบอกกับคุณว่า “มันเกิดขึ้นในช่วงเวลาแห่งความโกรธ” และแน่นอนว่า  “การหย่าร้าง” ย่อมนำไปสู่ความทุกข์แก่บรรดาลูกๆ และการมีชีวิตที่เต็มไปด้วยความเสียใจ ความผิดหวัง ความยากลำบากและความทุกข์เข็ญ นั่นคือผลที่เกิดจากความโกรธ หากพวกเขารำลึกถึงอัลลอฮฺ กลับมามีสติ ยับยั้งความโกรธของพวกเขาและขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺ สิ่งเลวร้ายเหล่านี้ย่อมไม่เกิดขึ้น

การปฏิบัติในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับชารีอะฮฺมีเพียงแต่จะนำไปสู่ความสูญเสีย

“การมีสุขภาพเลวร้าย” ก็เป็นผลที่เกิดจากความโกรธ ที่มีเพียงแพทย์เท่านั้นที่สามารถอธิบายถึงสิ่งนี้ได้ เช่นภาวะเส้นเลือดอุดตัน ความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ และการหายใจถี่ ซึ่งสามารถนำไปสู่อาการหัวใจวายและก่อให้เกิดโรคเบาหวานได้ เป็นต้น เราขอวิงวอนต่ออัลลอฮฺ โปรดประทานสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงแก่พวกเราด้วยเถิด

 (11) ผู้ที่มีความโกรธ ควรคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับตัวของเขา ในช่วงเวลาแห่งความโกรธ

หากผู้ที่กำลังโกรธสามารถมองเห็นตัวของเขาเองภายในกระจก ขณะที่เขากำลังโกรธ เขาย่อมเกลียดพฤติกรรมและหน้าตาของเขาขณะนั้น หากเขาสามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเขา และเวลาที่ร่างกายทั้งตัวของเขาสั่นเทา ดวงตาที่จ้องเขม็งของเขา และการสูญเสียการควบคุมและพฤติกรรมที่บ้าคลั่งของเขา เขาย่อมรังเกียจตัวเองและหน้าตาท่าทางของเขา

เป็นที่ทราบกันดีว่า “ความน่าเกลียดภายใน” นั้นมีความเลวร้ายมากยิ่งกว่า “ความน่าเกลียดภายนอกเสียอีก” ลองคิดดูสิว่า “ชัยฏอน” จะมีความสุขเพียงใตเมื่อบุคคลหนึ่งอยู่ในสภาพดังกล่าว เราขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺให้พ้นจากชัยฎอนและความพ่ายแพ้ (ต่อมัน) ด้วยเถิด

(12) การดุอาอฺ

การดุอาอฺ คืออาวุธสำหรับผู้ศรัทธาเสมอ เพราะเขาได้วิงวอนขออัลลอฮฺให้ทรงคุ้มครองเขาให้พ้นจากความชั่วร้าย ปัญหา และพฤติกรรมที่เลวร้ายทั้งหลาย และขอความคุ้มครองจากพระองค์ให้พ้นจากการตกลงไปสู่หลุมพลางของกุฟรฺ หรือการกระทำที่ชั่วร้ายอันเนื่องมาจากความโกรธ หนึ่งในสามสิ่งที่สามารถช่วยปกป้องเขาได้คือการมีความพอดีในช่วงเวลาที่มีความสุขและในช่วงเวลาที่มีความโกรธ (เศาะหีฮฺ อัลญามีอฺ 3039).

หนึ่งในดุอาอฺของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม คือ

“โอ้ อัลลอฮฺ ด้วยความรอบรู้ต่อสิ่งที่มองไม่เห็นของพระองค์และอำนาจของพระองค์ที่มีเหนือบรรดาสิ่งถูกสร้างของพระองค์ โปรดทำให้ข้าพระองค์มีชีวิตอยู่ตราบเท่าที่พระองค์ทรงรู้ว่า “การมีชีวิต” นั้นดีสำหรับข้าพระองค์ และโปรดทำให้ข้าพระองค์เสียชีวิตลงเมื่อพระองค์ทรงรู้ว่า “ความตาย” นั้นดีสำหรับข้าพระองค์ โอ้อัลลอฮฺ ข้าพระองค์ขอความวิงวอนต่อพระองค์ โปรดทรงทำให้ข้าพระองค์ยำเกรงต่อพระองค์ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง และข้าพระองค์วิงวอนขอต่อพระองค์โปรดทำให้ข้าพระองค์พูดในสิ่งที่เป็นสัจธรรมทั้งในยามสุขและยามโกรธ  ข้าพระองค์ขอวิงวอนต่อพระองค์โปรดอย่าปล่อยให้ข้าพระองค์ยากจนมากเกินไปและสุขมากเกินไป ข้าพระองค์วิงวอนขอการอำนวยพรที่ต่อเนื่องจากพระองค์ และความพึงพอใจที่ไม่มีวันสิ้นสุด ข้าพระองค์วิงวอนขอพระองค์โปรดทำให้ข้าพระองค์น้อมรับต่อการกำหนดของพระองค์ และวิงวอนขอต่อการมีชีวิตที่ดีหลังจากความตาย ข้าพระองค์วิงวอนขอต่อพระองค์ซึ่งความเบิกบานแห่งการได้เห็นพระพักตร์ของพระองค์และความปรารถนาที่จะได้พบกับพระองค์ โดยปราศจากการต้องพบเจอกับโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายและฟิตนะฮฺที่นำไปสู่หนทางที่ผิดทั้งหลาย (บททดสอบ) โอ้อัลลอฮฺ โปรดประดับประดาพวกเราด้วยเครื่องประดับแห่งความศรัทธาและโปรดทำให้พวกเราอยู่ในหมู่ชนของผู้ที่ได้รับทางนำ การสรรเสริญเป็นของพระองค์ พระผู้เป็นเจ้าแห่งสากลโลก” 

anabintalislam.wordpress.com