ประวัติท่าน อะลียฺ บิน อบี ฏอลิบ

ADMIN

ประวัติท่าน อะลียฺ บิน อบี ฏอลิบ

มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิของอัลลอฮฺ ขอการเจริญพรและความสันติมีแด่ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ข้าขอปฏิญานว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และมุหัมมัดนั้นเป็นบ่าวและศาสนทูตของพระองค์

ต่อไปนี้เป็นเนื้อหาบางส่วนของประวัติผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งจากบรรดาผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายในประชาชาติอิสลาม ท่านเป็นวีรบุรุษท่านหนึ่ง และเป็นสุดยอดอัศวินผู้กล้า ท่านเป็นเศาะหาบะฮฺที่ยิ่งใหญ่ของท่านศาสนทูต เราคัดประวัติส่วนหนึ่งของท่านที่โดดเด่น แฝงด้วยข้อคิดและบทเรียนอันมากมายมากล่าว

เศาะหาบะฮฺท่านนี้เกิดก่อนการแต่งตั้งนบีเป็นนบีสิบปี เติบโตมาในบ้านของท่านนบี เป็นคนแรกที่รับอิสลามในหมู่เยาวชน ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เคยกล่าวกับท่านว่า

« أَمَا تَرْضَى أَنْ تَكُونَ مِنِّى بِمَنْزِلَةِ هَارُونَ مِنْ مُوسَى، غَيْرَ أَنَّهُ لاَ نَبِىَّ بَعْدِي » [مسلم برقم 2404]

ความว่า “ท่านพอใจที่จะใกล้ชิดฉัน เสมือนตำแหน่งนบีฮารูนกับนบีมูซาหรือไม่ ต่างกันเพียงว่าหลังจากฉันนั้นจะไม่มีนบีอีกต่อไป” (มุสลิม หมายเลข 2404)

และท่านนบีได้เคยกล่าวแก่ท่านว่า

«لاَ يُحِبُّكَ إِلاَّ مُؤْمِنٌ، وَلاَ يُبْغِضُكَ إِلاَّ مُنَافِقٌ» [مسلم برقم 78]

ความว่า “ไม่มีใครที่รักท่านนอกจากเขาเป็นมุอ์มินผู้ศรัทธา และจะไม่เกลียดท่านนอกจากคนมุนาฟิก8เท่านั้น” (มุสลิม หมายเลข 78)

ท่านได้ร่วมรบกับท่านนบีทุกครั้งยกเว้นในสงครามตะบูก ท่านมีความโด่งดังในเรื่องการขี่ม้าและความกล้าหาญ เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้การรับรองการเข้าสวรรค์ ท่านนบีได้ให้ข่าวดีว่าท่านเป็นชาวสวรรค์ในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่ ท่านคืออัศวินในอิสลาม เป็นอะมีรุลมุอ์มินีน เป็นเคาะลีฟะฮฺ อัร-รอชิด นามว่า อะลียฺ บิน อบี ฏอลิบ บิน อับดุลมุฏฏอลิบ อัล-กุเราะชีย์ อัล-ฮาชิมีย์ เป็นญาติของท่านนบีโดยเป็นลูกของลุงของท่านนบี และเป็นสามีของท่านหญิงฟาติมะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ลูกสาวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

นักประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า ท่านมีผิวสีน้ำตาล เคราหนา สูงปานกลาง หน้าท้องกว้าง หน้าตาดี ค่อนไปทางเตี้ย ได้ฉายาว่าเป็นบิดาของหะซัน(อะบุล หะซัน) หรือบิดาของดิน(อบู ตุรอบ) (ดู ตะรีคุล คุละฟาอ์ 132-133)

แท้จริงเศาะหาบะฮฺท่านนี้มีเหตุการณ์น่าทึ่งที่แสดงความเป็นวีรบุรุษของท่านมากมาย เหตุการณ์ที่แสดงถึงความกล้าและการเสียสละเพื่อศาสนาอิสลามของท่าน ส่วนหนึ่งคือ ท่านได้นอนบนที่นอนของท่านนบีในคืนที่ท่านนบีทำการฮิจญ์เราะฮฺ(อพยพจากเมืองมักกะฮฺไปยังเมืองมะดีนะฮฺ) โดยเอาชีวิตตัวเองไปเสี่ยงตายแลกกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และท่านอะลียฺก็เป็นคนแรกๆ พร้อมกับท่านหัมซะฮฺและอุบัยดะฮฺ บิน อัล-หาริษฺ ในการดวลดาบกับตัวแทนมุชริกีน(ในสงครามบะดัรฺ) และท่านยังเป็นหนึ่งในจำนวนเศาะหาบะฮฺที่ยืนหยัดอยู่กับท่านนบีในสงความอุหุด

อีกส่วนหนึ่ง คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสงครามค็อนดัก เมื่อ อัมรฺ บิน วัดด์ ได้ควบม้าข้ามคูที่ขุดเป็นปราการซึ่งเขาถูกนับว่าเป็นยอดอัศวินของชาวอาหรับเลยทีเดียว แล้วท้าดวลดาบกับทหารมุสลิม โดยที่เขาสวมหมวกเหล็กอยู่ และกล่าวว่า ไหนล่ะสวรรค์ที่บวกท่านคิดว่าตายแล้วจะได้เข้าไปอาศัย? มีใครจะออกมาดวลดาบกับฉันสักคนไหม?  ท่านอะลียฺ บิน อบี ฏอลิบ ได้ก้าวออกไปหา แต่อัมรฺกล่าวว่า เจ้าหลานของฉันจงถอยกลับไป ในหมู่ลุงๆ ของเจ้ายังมีผู้ที่อายุมากกว่าเจ้า  ฉันไม่อยากหลั่งเลือดเจ้า แต่ท่านอะลียฺตอบกลับไปว่า แต่ข้าขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ ว่าฉันไม่รังเกียจที่จะหลั่งเลือดท่าน อัมรฺโกรธ เขาลงมาแล้วชักดาบอย่างเปลวเพลิงที่พิโรธ แล้วมุ่งมายังท่านอะลียฺ  ท่านอะลียฺได้กันกับโล่ไม้ของท่าน อัมรฺได้ฟันดาบและดาบได้ติดอยู่ที่โล่ห์และถูกศีรษะทำให้เป็นแผล ท่านอะลียฺก็ได้ฟันไปที่คอของเขาทำให้เขาล้มลงและร้องขอความช่วยเหลือ ท่านนบีได้ยินเสียงตักบีรฺก็รู้ว่าท่านอะลียฺได้สังหารอัมรฺแล้ว แล้วท่านอะลียฺได้กล่าวเป็นกลอนว่า

แม้ก้อนหินยังได้ช่วยศาสนาของอัลลอฮฺ ทั้งที่มันไร้ซึ่งสติปัญญา

ฉันนี้หนาได้ช่วยเหลือมุหัมมัดด้วยสัจจริง

จงอย่าคิดว่าอัลลอฮฺจะทอดทิ้ง

ปล่อยให้ศาสนาและนบีของพระองค์ต้องตกต่ำ จงจำไว้โอ้บรรดาชาวอะหฺซาบ

อีกหนึ่งเหตุการณ์เด่นคือ เมื่อชาวยิวที่อยู่ที่ค็อยบัรฺทรยศหักหลังต่อกองทัพมุสลิม ท่านนบีได้กล่าวว่า

«لأُعْطِيَنَّ هَذِهِ الرَّايَةَ رَجُلاً يَفْتَحُ اللَّهُ عَلَى يَدَيْهِ، يُحِبُّ اللَّهَ وَرَسُولَهُ، وَيُحِبُّهُ اللَّهُ وَرَسُولُهُ». قَالَ : فَبَاتَ النَّاسُ يَدُوكُونَ لَيْلَتَهُمْ أَيُّهُمْ يُعْطَاهَا – قَالَ – فَلَمَّا أَصْبَحَ النَّاسُ غَدَوْا عَلَى رَسُولِ اللَّهِ -صلى الله عليه وسلم- كُلُّهُمْ يَرْجُونَ أَنْ يُعْطَاهَا فَقَالَ : «أَيْنَ عَلِىُّ بْنُ أَبِى طَالِبٍ». فَقَالُوا : هُوَ يَا رَسُولَ اللَّهِ يَشْتَكِى عَيْنَيْهِ – قَالَ : فَأَرْسَلُوا إِلَيْهِ فَأُتِىَ بِهِ فَبَصَقَ رَسُولُ اللَّهِ -صلى الله عليه وسلم- فِى عَيْنَيْهِ، وَدَعَا لَهُ، فَبَرَأَ حَتَّى كَأَنْ لَمْ يَكُنْ بِهِ وَجَعٌ، فَأَعْطَاهُ الرَّايَةَ، فَقَالَ عَلِىٌّ : يَا رَسُولَ اللَّهِ أُقَاتِلُهُمْ حَتَّى يَكُونُوا مِثْلَنَا. فَقَالَ : «انْفُذْ عَلَى رِسْلِكَ حَتَّى تَنْزِلَ بِسَاحَتِهِمْ، ثُمَّ ادْعُهُمْ إِلَى الإِسْلاَمِ، وَأَخْبِرْهُمْ بِمَا يَجِبُ عَلَيْهِمْ مِنْ حَقِّ اللَّهِ فِيهِ، فَوَاللَّهِ لأَنْ يَهْدِىَ اللَّهُ بِكَ رَجُلاً وَاحِدًا خَيْرٌ لَكَ مِنْ أَنْ يَكُونَ لَكَ حُمْرُ النَّعَمِ». [مسلم برقم 2406]

ความว่า “ฉันจะมอบธงแก่ชายผู้หนึ่งที่อัลลอฮฺจะให้ชัยชนะด้วยมือเขา เขาเป็นคนที่รักอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ และอัลลอฮฺและเราะสูลก็รักเขา” มุสลิมทุกคนก็นอนหลับในคืนนั้นด้วยความคิดที่ว่าใครที่จะได้รับธง รุ่งเช้าทุกคนก็รีบมุ่งไปหาท่านนบีโดยหวังที่จะได้รับธงนั้น แล้วท่านนบีก็กล่าวว่า “อะลียฺ บิน อบี ฏอลิบอยู่ที่ไหน?” พวกเขาก็ตอบว่า โอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ เขาเจ็บตาอยู่ แล้วพวกเขาก็ไปเรียกเขามา แล้วเขาก็ถูกนำตัวมา ท่านได้ถ่มที่นัยน์ตาทั้งสองของท่านอะลียฺพร้อมกับดุอาอ์ให้หาย แล้วตาของเขาก็หายเจ็บราวกับไม่เคยเจ็บมาก่อน แล้วท่านนบีก็ให้ธงแก่เขา ท่านอะลียฺกล่าวว่า โอ้ท่านศาสนทูต ฉันจะต่อสู้กับพวกเขาจนกว่าเขาจะเป็นเหมือนเรา ท่านนบีก็ตอบว่า “ท่านจงเดินทางไปอย่างไม่ต้องรีบเร่ง จนกระทั่งเมื่อท่านถึงยังสถานที่ของพวกเขา ท่านจงเชิญชวนพวกเขาสู่อิสลาม จงบอกถึงหน้าที่ที่พวกเขามีต่อสิทธิของอัลลอฮฺ ฉันขอสาบานด้วยอัลลอฮฺว่า หากอัลลอฮฺให้ฮิดายะฮฺสักคนหนึ่งเพราะท่าน มันย่อมดีสำหรับท่านมากกว่าการที่ท่านจะได้รับอูฐแดง(ที่มีราคาแพง)เสียอีก” (เศาะฮีหฺ มุสลิม 4/1872  หมายเลข  2406)

เมื่อท่านอะลียฺอยู่ถึงที่ค็อยบัรฺ ก็ได้เผชิญกับกษัตริย์ของพวกเขา คือมัรหับ ยืนแกว่งดาบ และกล่าวเป็นกลอนว่า :

ค็อยบัรฺรู้จักฉันว่าเป็นมัรหับ

นักฆ่าด้วยอาวุธ วีรบุรุษผู้มากด้วยประสบการณ์

เมื่อสงครามปะทุเป็นไฟโชติช่วง

ท่านอะลียฺก็กล่าวเป็นกลอนตอบว่า :

ฉันคือผู้ที่มารดาให้ชื่อว่า ราชสีห์

เปรียบดังเสือป่าที่น่ากลัว

ฉันจะชั่งพวกท่านด้วยดาบ ดั่งตาชั่งที่ใหญ่ยิ่ง

แล้วทั้งคู่ต่างฟันดาบใส่กัน แต่การฟันของอะลียฺนั้นสามารถพิชิตมิรหับได้ อัลลอฮฺให้ท่านได้รับชัยชนะ

พร้อมๆ กับความกล้าหาญ ท่านยังเป็นนักปราชญ์ในหมู่เศาะหาบะฮฺ เป็นคนที่ชาญฉลาด ครั้งหนึ่งมีหญิงนางหนึ่งถูกนำมายังท่านอุมัรฺ โดยนางได้ให้กำเนิดบุตรแล้วหกเดือน(โดยไม่ได้แต่งงาน) แล้วท่านอุมัรฺก็ได้ตัดสินลงอาญานางด้วยการขว้าง แต่ท่านอะลียฺแย้งว่า โอ้ท่านอะมีรุลมุอ์มินีน ท่านไม่ได้ฟังดอกหรือ คำกล่าวของอัลลอฮฺที่ว่า

﴿وَحَمۡلُهُۥ وَفِصَٰلُهُۥ ثَلَٰثُونَ شَهۡرًاۚ ﴾ [الأحقاف: ١٥]

ความว่า “และการตั้งครรภ์กับการให้นมนั้นรวมแล้วสามสิบเดือน“ (อัล-อะหฺกอฟ 15)

ท่านอุมัรฺจึงละเว้นนาง และเคยกล่าวในบางครั้ง(เมื่อไม่มีท่านอะลียฺคอยช่วยให้ความเห็น)ว่า “นี่เป็นคดี ที่ไม่มีอบุลหะซัน (อะลียฺ) คอยตัดสินให้”

และส่วนหนึ่งของคำกล่าวของท่านที่โดดเด่นนั้น คือท่านกล่าวว่า “ความดีนั้นไม่ใช่ด้วยการที่ท่านมีลูกและทรัพย์ที่เพิ่มมากขึ้น แต่ความดีที่แท้จริงนั้นคือการที่ท่านมีความรู้ที่มากขึ้น มีความใจเย็นที่ยิ่งใหญ่ และมีอิบาดะฮฺมากกว่าคนอื่นๆ หากท่านได้ทำดี ท่านก็สรรเสริญอัลลอฮฺ และหากท่านทำผิด ท่านก็ขออภัยจากอัลลอฮฺ”

ส่วนหนึ่งของคำกล่าวของท่านคือ “พวกท่านจงรับห้าสิ่งจากฉัน บ่าวจงอย่าหวังนอกจากกับพระผู้อภิบาลของเขาเท่านั้น, เขาจงอย่ากลัวนอกจากบาปของเขาเท่านั้น, เขาจงอย่าอายที่จะถามในสิ่งที่เขาไม่รู้, คนที่อาลิมจงอย่าอายที่จะกล่าวคำว่า “อัลลอฮฺเป็นผู้รู้ยิ่งกว่า” ในเรื่องที่มีคนถามแล้วเขาไม่รู้คำตอบ, ความอดทนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการศรัทธา เปรียบได้ดังศีรษะที่อยู่เหนือร่างกายทั้งหมด  และถือว่าไม่มีอีมานความศรัทธาสำหรับผู้ที่ไม่มีความอดทน” (ตารีค อัล-คุละฟาอ์ 147)

เมื่อมีผู้ถามท่านถึงนิยามของโลกดุนยานี้ ท่านกล่าวว่า “ฉันจะเปรียบให้ท่านว่า มันเป็นเสมือนบ้านหลังหนึ่ง ใครที่อยากได้มันเขาจะโศกเศร้า ใครที่ไม่ได้หวังมันเขาก็จะถูกฟิตนะฮฺ(ถูกทดสอบ) ใครที่อยู่อย่างถูกต้องเขาปลอดภัย สิ่งที่หะลาลในนั้นจะถูกสอบสวน และสิ่งที่ต้องห้ามในนั้นจะถูกลงโทษ”

และท่านกล่าวว่า “ผลของมะอฺศิยะฮฺ(บาปกรรม)นั้นคือ มันทำให้เกิดความอ่อนแอในเรื่องอิบาดะฮฺ คับแคบในเรื่องริซกีปัจจัยยังชีพ ลดลงในเรื่องของความสุข ท่านถูกถามว่า แล้วอะไรคือการลดลงของความสุข? ท่านตอบว่า เขาจะไม่ได้รับการสนองความต้องการที่หะลาล นอกจากจะมีสิ่งที่ทำให้เขากังวลเกี่ยวกับมัน” (ตารีค อัล-คุละฟาอ์ 144)

ท่านอิมามอิบนุ กะษีรฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้บอกถึงการถูกลอบสังหารของท่านอะลียฺไว้ก่อนแล้ว และมันก็เกิดขึ้นดังที่ท่านนบีได้บอกไว้อย่างชัดเจน (ดู อัล-บิดายะฮฺ วะ อัน-นิฮายะฮฺ 9/204)

และมีรายงานจากท่านอัมมารฺ บิน ยาสิรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«أَلَا أُحَدِّثُكُمَا بِأَشْقَى النَّاسِ رَجُلَيْنِ؟»، قُلْنَا:  بَلَى يَا رَسُولَ اللَّهِ، قَالَ:  «أُحَيْمِرُ ثَمُودَ الَّذِي عَقَرَ النَّاقَةَ، وَالَّذِي يَضْرِبُكَ يَا عَلِيُّ عَلَى هَذِه ِ ـ يَعْنِي قَرْنَهُ ـ حَتَّى تُبَلَّ مِنْهُ هَذِهِ  ـ يَعْنِي لِحْيَتَهُ». [مسند الإمام أحمد 4/263، وصححه الألباني في صحيح الجامع الصغير برقم 2589]

ความว่า “ฉันจะบอกพวกท่านถึงชายสองคนที่อัปยศที่สุดเอาไหม?” พวกเราตอบว่า ได้ โอ้ศาสนทูตของอัลลอฮฺ ท่านตอบว่า “เขาทั้งสองคือ อุหัยมิรฺ ษะมูด ที่ฆ่าอูฐ(ของนบีศอลิหฺ) และคนที่แทงท่าน โอ้ อะลียฺ จากตรงนี้ (หมายถึงศีรษะ) จนเลือดไหลชุ่มถึงที่นี่ (คือเคราของท่าน)” (มุสนัด อิมาม อะหฺมัด 4/263  ท่านอัล-อัลบานีย์ ตัดสินว่าเป็นหะดีษที่ เศาะฮีหฺ ในหนังสือ เศาะฮีหฺ อัล-ญามิฮฺ อัศ-เศาะฆีรฺ 1/505 หมายเลข 2589)

และการตายของท่านก็เกิดจากน้ำมือของพวกเคาะวาริจญ์ที่อัปยศที่ชื่อ อับดุรเราะห์มาน บิน มุลญิม ในปีที่สี่สิบฮิจญ์เราะฮฺศักราช วันที่สิบเจ็ดเดือนเราะมะฎอน อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿ وَمَن يَقۡتُلۡ مُؤۡمِنٗا مُّتَعَمِّدٗا فَجَزَآؤُهُۥ جَهَنَّمُ خَٰلِدٗا فِيهَا وَغَضِبَ ٱللَّهُ عَلَيۡهِ وَلَعَنَهُۥ وَأَعَدَّ لَهُۥ عَذَابًا عَظِيمٗا ٩٣ ﴾ [النساء: ٩٣]

ความว่า “และผู้ใดฆ่าผู้ศรัทธาโดยจงใจ การตอบแทนแก่เขาก็คือ นรกญะฮันนัม โดยที่เขาจะอยู่ในนั้นตลอดกาล และอัลลอฮฺก็ทรงกริ้วโกรธเขา และทรงสาปแช่งเขา และได้ทรงเตรียมไว้สำหรับเขาซึ่งการลงโทษอันใหญ่หลวง” (ซูเราะฮฺ อัน-นิซาอ์ 93)

อิมาม อัซ-ซะฮะบีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า “อิบนุ มุลญิมนั้นถือเป็นคนที่อัปยศที่สุดในวันอาคิเราะฮฺ ในมุมมองของกลุ่มชีอะฮฺรอฟิเฎาะฮฺ แต่อะฮฺลุสสุนนะฮฺ หวังว่าเขาเป็นชาวนรก และอัลลอฮฺอาจอภัยให้กับเขา ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดของกลุ่มคอวาริจญ์และกลุ่มชีอะฮฺ  หุก่มของเขาในมุมของอะฮฺลุสสุนนะฮฺก็เหมือนกับคนที่ฆ่าท่านอุษมาน, คนฆ่าท่านซุบัยรฺ, คนฆ่าท่านฏ็อลหะฮฺ, คนฆ่าท่านซะอีด บิน ญุบัยรฺ, คนฆ่าท่านอัมมารฺ, คนฆ่าท่านคอริญะฮฺ และคนฆ่าท่านหุสัยนฺ ซึ่งคนที่ฆ่าคนเหล่านั้นเราถือว่าเราขอไม่เกี่ยวข้อง ไม่ขอมีข้อผูกพันใดๆ กับพวกเขา เราโกรธกริ้วพวกเขาเพื่ออัลลอฮฺ และเราก็มอบหมายเรื่องของเขาให้แก่อัลลอฮฺ อัซซะวะญัล” (ตะรีคุลอิสลาม หน้า654)

ขออัลลอฮฺทรงพอพระทัยในตัวท่านอะลียฺ และตอบแทนท่านด้วยคุณงามความดี แทนอิสลามและบรรดามุสลิมทั้งมวล และรวบรวมเรากับท่านไว้ในสวรรค์ของพระองค์ด้วย  อามีน

………………………………………………………….

แปลโดย : อิสมาน จารง

ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน

คัดลอกจาก : http://IslamHouse.com/384176