สรรพคุณขององุ่น ที่กล่าวไว้ในอัลกุรอาน

ADMIN

องุ่น ผลไม้ที่กล่าวไว้ในอัลกุรอาน

ชื่อ ไม้เถาชนิด Vitis vinifera Linn ในวงศ์ Vitidaceae ผลเป็นพวง กินได้หรือใช้หมักทำเหล้า เรียกเหล้าองุ่น ในภาษาอาหรับเรียก “องุ่น” ว่า อินะบุน (عِنَبٌ) มีรูปพหูพจน์ว่า อะอฺนาบุน (أعْنَابٌ ) คำว่า “อินะบุน” ถูกกล่าวในคัมภีร์อัลกุรอาน 2 แห่งคือ ในบท อัลอิสรออฺ อายะฮฺที่ 91

”หรือให้ท่านมีส่วนอินทผลัม และองุ่นให้มันแยกเป็นลำน้ำหลายสาย พวยพุ่งออกมาท่านกลางมัน”

และบทอะบะซะ อายะฮฺที่ 27 – 28

“และเราได้ให้เมล็ดพืชงอกเงยขึ้นจากในแผ่นดิน”

“และองุ่นและพืชผัก’

ส่วนคำว่า “อะอฺนาบุ้” ถูกกล่าวไว้ 9 แห่งด้วยกัน รวมทั้งหมด 11 แห่ง ในจำนวนนี้มีอยู่ 6 แห่งที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ) ทรงระบุเรื่อง “องุ่น” ไว้เกี่ยวกับบรรดาความโปรดปรานของพระองค์ที่ทรงประทานให้กับมวลบ่าวของ พระองค์ในโลกนี้และในสวนสวรรค์

ท่าน อิบนุ อัลก็อยยิม (ร.ฮ) กล่าวว่า : องุ่นเป็นผลไม้ที่ประเสริฐสุด มีประโยชน์ที่สุด รับประทานได้ทั้งสด แห้ง เขียว และสุก เป็นผลไม้ที่ร่วมกับผลไม้ต่างๆ เป็นอาหารพร้อมกับอาหารหลัก เป็นแกงพร้อมกับน้ำแกงอื่น เป็นยาพร้อมกับบรรดายาทั้งหลาย เป็นเครื่องดื่มร่วมกับเครื่องดื่มต่างๆ มีธรรมชาติเหมือนกับธัญพืช คือ ร้อนและเย็น

องุ่น ที่ดีคือ องุ่นผลใหญ่ น้ำมาก องุ่นขาวดีกว่าองุ่นดำ เมื่อมันมีรสหวานเท่ากัน ผลองุ่นที่ถูกเด็ดและปล่อยไว้ 2 วันหรือ 3 วัน ย่อมดีกว่าผลองุ่นที่ถูกเด็ดในวันแรก องุ่นมีสรรพคุณดีต่อท้อง ทำให้ถ่ายง่าย องุ่นที่ติดอยู่กับต้นจนเปลือกลีบ ดีสำหรับการบริโภคเป็นอาหาร ทำให้ร่างกายแข็งแรง สารอาหารขององุ่นมีสรรพคุณเหมือนกับมะเดื่อและลูกเกด แต่การกินองุ่นมากๆ อาจทำให้ปวดศีรษะได้ ให้กินทับทิมหรือกล้วยแก้

สรรพคุณขององุ่นทำให้อารมณ์ดีและทำให้มีน้ำมีนวล ถือเป็นราชาผลไม้หนึ่งในสามชนิด คือ องุ่น, อินทผลัม และมะเดื่อ (ซาดุ้ลม่าอ๊าด ฟี ฮัดยิค็อยริ้ลอิบ๊าด, อิบนุ อัลก็อยยิม เล่ม 3 หน้า 284) มีรายงานระบุว่า ท่านศาสดา (ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ชอบรับประทานองุ่นและแตงโม

เมล็ดองุ่นมี OPC (Oligomericproanthocyanidins) ซึ่งเป็นสารที่จัดอยู่ในกลุ่ม ไบโอฟลาโวนอย1ด์ ที่มีมากในพืช กล่าวกันว่า โอพีซี มีฤทธิ์เป็นสารล้างพิษที่ดีกว่า ไวตามินซี และไวตามินอี ถึง 50 เท่าในการกำจัดสารพิษที่เกิดภายในเนื้อเยื่อทั่วไปและในเนื้อเยื่อไขมัน

นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติในการล้างผนังหลอดเลือดให้สะอาด เพื่อให้เลือดไหลไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้สะดวกและคล่องตัว โดยเฉพาะที่สมองและปลายมือ ปลายนิ้ว แถมยังมีผู้อ้างว่า สาร โอพีซี ป้องกันบอดตาไส อันเกิดจากความเสื่อมของประสาทรับแสงที่จอภาพด้านหลังของลูกตาได้ด้วย นอกจากนี้ สารโอพีซี จะมีอยู่ในเปลือกขององุ่นแดงเป็นส่วนใหญ่ มีสรรพคุณป้องกันโรคหัวใจอีกด้วย (นายแพทย์สุวัฒน์ จันทร์จำนง, อาหารกับสุขภาพ (2547) สำนักพิมพ์สุขภาพใจ หน้า 103-104)

เมล็ดองุ่นมีสรรพคุณมากขนาดนี้ คราวหน้ากินองุ่นอย่าบ้วนเม็ดองุ่นทิ้งเสียล่ะ เคี้ยวไปกับเนื้อองุ่นเลย ขมหน่อยฝาดนิดแต่มีประโยชน์นะ จะบอกให้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: อาลี เสือสมิง