7 ความประเสริฐ ของการรักษาน้ำละหมาดไว้ตลอดเวลา

ADMIN

การรักษาน้ำละหมาด หมายถึง การอาบน้ำละหมาดอย่างดีและสมบูรณ์ และหมายถึงการรักษาให้มีน้ำละหมาดอยู่ตลอดเวลา การรักษาน้ำละหมาดมีความประเสริฐหลายประการ และต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งจากความประเสริฐของการรักษาน้ำละหมาด

1. อัลลอฮฺทรงรักผู้ที่รักษาน้ำละหมาด พระองค์ได้ตรัสไว้ในซูเราะฮฺอัตเตาบะฮฺ อายะฮฺที่ 108 ว่า :

﴿لَمَسْجِدٌ أُسِّسَ عَلَى التَّقْوَى مِنْ أَوَّلِ يَوْمٍ أَحَقُّ أَنْ تَقُومَ فِيهِ، فِيهِ رِجَالٌ يُحِبُّونَ أَنْ يَتَطَهَّرُوا وَاللهُ يُحِبُّ الْمُطَّهِّرِينَ﴾

ความว่า: “แน่นอน มัสญิดที่ถูกวางรากฐานบนความยำเกรงตั้งแต่วันแรกนั้น สมควรอย่างยิ่งที่เจ้าจะเข้าไปยืนละหมาดในนั้น เพราะในมัสญิดนั้นมีคณะบุคคลที่ชอบจะชำระตัวให้บริสุทธิ์ และอัลลอฮฺนั้นทรงรักบรรดาผู้ที่ชำระตัวให้สะอาดบริสุทธิ์อยู่เสมอ”ถ้อยคำที่ว่า “ผู้ที่ชำระตัวให้สะอาดบริสุทธิ์” นั้น ในตัฟซีรอิบนุกะษีร อรรถาธิบายว่า หมายถึงผู้ที่รักษาการอาบน้ำละหมาดให้สมบูรณ์ และรักษาจากการเปรอะเปื้อนของสิ่งสกปรกโสโครก

2. การรักษาน้ำละหมาดเป็นลักษณะของผู้ศรัทธาที่สมบูรณ์ ท่านเษาบาน เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ได้ยินท่านนบีมุฮัมมัด ฺูุศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:

«وَلاَ يُحَافِظُ عَلَى الْوُضُوءِ إِلاَّ مُؤْمِنٌ»

ความว่า: “และไม่มีผู้ใดรักษาน้ำละหมาดนอกจากผู้ศรัทธา” [บันทึกโดย อิบนุ มาญะฮฺ เลขที่: 277, และอะหฺมัด เลขที่: 22467 ]อัล-มุนาวีย์กล่าวว่า: “คือการดูแลรักษาน้ำละหมาดให้คงอยู่ตลอดเวลา” และความหมายของผู้ศรัทธา ณ ที่นี้คือ “ผู้ศรัทธาที่มีความศรัทธาอย่างสมบูรณ์” [มิรฺอาต อัล-มะฟาตีหฺ 2/13]

3.ร่องรอยของการอาบน้ำละหมาด จะเป็นรัศมีเปล่งประกายในวันกิยามะฮฺ การอาบน้ำละหมาดจะเป็นลักษณะพิเศษของบรรดามุสลิมในวันกิยามะฮฺท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ได้ยินท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:

«إِنَّ أُمَّتِي يُدْعَوْنَ يَوْمَ الْقِيَامَةِ غُرًّا مُحَجَّلِينَ مِنْ آثَارِ الْوُضُوءِ»

ความว่า: “แท้จริง ประชาติของฉันจะถูกเรียกเชิญในวันกิยามะฮฺในสภาพที่มีรัศมีเปล่งประกาย จากร่องรอยของการอาบน้ำละหมาด” [อัล-บุคอรีย์ เลขที่: 136, มุสลิม เลขที่ 246]

4. อัลลอฮฺจะยกฐานะและลบล้างความผิด ต่อไปนี้คือหะดีษที่พูดเรือ่งการลบล้างความผิดเนื่องด้วยการอาบน้ำละหมาดท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ
ได้เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เล่าว่า:

«أَلاَ أَدُلُّكُمْ عَلَى مَا يَمْحُو اللهُ بِهِ الْخَطَايَا وَيَرْفَعُ بِهِ الدَّرَجَاتِ. قَالُوا بَلَى يَا رَسُولَ اللهِ. قَالَ : إِسْبَاغُ الْوُضُوءِ عَلَى الْمَكَارِهِ … »

ความว่า: “เอาไหม ถ้าฉันจะบอกพวกท่านซึ่งการงานที่อัลลอฮฺจะลบล้างความผิดและจะยกฐานะให้ บรรดาเศาะหาบะฮฺตอบว่า แน่นอนที่สุด โอ้ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ท่านจึงตอบว่า : การอาบน้ำละหมาดอย่างสมบูรณ์ในช่วงที่ท่านไม่ชอบ (หมายถึงช่วงอากาศหนาวเย็น) …” [มุสลิม เลขที่: 251]และจากอุษมาน อิบนุ อัฟฟาน เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ ได้เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ฺูุศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้กล่าวว่า:

«مَنْ تَوَضَّأَ فَأَحْسَنَ الوُضُوءَ خَرَجَتْ خَطَايَاهُ مِنْ جَسَدِهِ حَتَّى تَـخْرُجَ مِنْ تَـحْتِ أَظْفَارِهِ»

ความว่า: “ผู้ใดก็ตามที่อาบน้ำละหมาด ด้วยลักษณะที่ดีที่สุด มวลบาปของเขาจะหลุดออกจากตัวเขา จนแม้กระทั่งบาปที่อยู่ใต้เล็บของเขา” [มุสลิม เลขที่: 245]

5. การรักษาน้ำละหมาดเป็นสาเหตุของการตอบรับดุอาอฺ ท่านมุอาซ อิบนุ ญะบัล ได้เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า:

«مَا مِنْ مُسْلِمٍ يَبِيتُ عَلَى ذِكْرٍ طَاهِرًا، فَيَتَعَارُّ مِنْ اللَّيْلِ فَيَسْأَلُ اللهَ خَيْرًا مِنْ الدُّنْيَا وَالْآخِرَةِ إِلَّا أَعْطَاهُ إِيَّاهُ»

ความว่า: “ไม่มีมุสลิมคนใดที่นอนในสภาพที่รำลึกถึงอัลลอฮฺและสะอาด(อาบน้ำละหมาด) เมื่อเขาสะดุ้งตื่นขึ้นมาตอนกลางคืนและเขาก็ได้ขอจากอัลลอฮฺซึ่งความดีงามทั้งในโลกนี้และโลกหน้า นอกจากพระองค์จะทรงให้ตามที่เขาได้ขอ” [อบู ดาวูด เลขที่: 5044]

6. การรักษาน้ำละหมาดเป็นสาเหตุที่ทำให้ได้เข้าสวนสวรรค์ เพราะมีหะดีษที่พูดถึงการละ หมาดสองร็อกอัตหลังจากอาบน้ำละหมาดที่ท่านบิล้าลปฏิบัต ิเป็นประจำ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ท่าน บิล้าลได้เข้าสวนสวรรค์จากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ได้เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ถามบิลาลว่า:

«يَا بِلَالُ حَدِّثْنِي بِأَرْجَى عَمَلٍ عَمِلْتَهُ فِي الْإِسْلَامِ، فَإِنِّي سَمِعْتُ دَفَّ نَعْلَيْكَ بَيْنَ يَدَيَّ فِي الْجَنَّةِ، قَالَ : مَا عَمِلْتُ عَمَلًا أَرْجَى عِنْدِي، أَنِّي لَمْ أَتَطَهَّرْ طُهُورًا فِي سَاعَةِ لَيْلٍ أَوْ نَهَارٍ؛ إِلَّا صَلَّيْتُ بِذَلِكَ الطُّهُورِ مَا كُتِبَ لِي أَنْ أُصَلِّيَ»

ความว่า: “โอ้บิลาลเอ๋ย ท่านจงบอกฉันถึงการงานที่ท่านหวังมากที่สุดกับมันที่ท่านได้ปฏิบัติมา แท้จริงฉันได้ยินเสียงร้องเ ท้าสองข้างของท่านเคลื่อนไห วอยู่เบื้องหน้าฉันในสวนสวรรค์ บิลาลตอบว่า ฉันไม่ได้ปฏิบัติการงานใดเล ยที่ฉันหวังมากที่สุดนอกจาก ว่าฉันจะเคยไม่อาบน้ำละหมาดในช ่วงเวลาไหนก็ตามทั้งกลางคืน และกลางวัน เว้นแต่ฉันจะต้องละหมาดด้วย น้ำละหมาดนั้นเท่าที่ถูกกำหนดให้ฉันสามารถละหมาดได้” [อัล-บุคอรีย์ เลขที่ 1149, มุสลิม 6478]และอีกหะดีษที่เน้นย้ำในเรื่องดังกล่าวคือ ท่านอุกบะฮฺ อิบนุ อามิรฺ ได้เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า:

«مَا مِنْ مُسْلِمٍ يَتَوَضَّأُ فَيُحْسِنُ وُضُوءَهُ ثُمَّ يَقُومُ فَيُصَلِّى رَكْعَتَيْنِ مُقْبِلٌ عَلَيْهِمَا بِقَلْبِهِ وَوَجْهِهِ إِلاَّ وَجَبَتْ لَهُ الْجَنَّةُ»

ความว่า: “ไม่มีมุสลิมคนใดที่อาบน้ำละหมาดซึ่งเขาก็ได้อาบน้ำละหมาดอย่างดีและประณีตหลังจากนั้นเขาได้ละหมาดสองร็อกอัตด้วยการมุ่งทั้งจิตและกาย นอกจากสวนสวรรค์จะเป็นที่แน่นอนแล้วสำหรับเขา” [มุสลิม เลขที่: 234]

7.ห่างไกลจากชัยฏอนคนที่มีน้ำละหมาดอยู่ตลอดเวลา จะได้รับการปกป้องจากอัลลอฮฺให้พ้นจากชัยฏอนและความชั่วร้าย นอกจากนั้นหากคุณมีน้ำละหมาด คุณก็ไม่อยากไปทำความผิด แต่หากคุณไม่มีน้ำละหมาด คุณก็จะรู้สึกว่าคุณทำผิดเมื่อไหร่ก็ได้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สวรรค์ในบ้าน

islamhouse.muslimthaipost.com