รู้ไว้! เชือกถักบนศรีษะคนซาอุฯ ที่แท้คือสัญลักษณ์คนเลี้ยงอูฐ

ADMIN

มักมีคำถามเสมอว่า คนซาอุฯหรือคนอาหรับอื่นๆ ทำไมถึงต้องสวมผ้าโพกศรีษะ และบ่งบอกถึงสถานะอะไรทางสังคม หรือศาสนา ชาวพุทธมักจะเข้าใจว่า การสวมผ้าโพกศรีษะเป็นการบรรลุถึงระดับไหนในศาสนา หรือเป็นผู้นำระดับไหน

ผ้าโพกศรีษะหรือที่เรียกผ้าซารบั่น ไม่ได้บ่งบอกถึงความรู้ หรือไม่รู้ทางศาสนานัก และในอิสลามไม่มีการบรรลุถึงระดับไหนทุกคนปฏิบัติเหมือนกัน แต่การโพกผ้าส่วนใหญ่จะเป็นผู้รู้ และบางประเทศก็ใช้เป็นชุดประจำชาติ เป็นวัฒนธรรมประจำชาติ หรือวัฒนธรรมประจำเผ่า อย่างอาหรับก็จะใส่ชุดโต๊บยาว ในขณะที่ปากีฯจะใส่เสื้อยาวถึงขากับกางเกง ส่วนมลายูจะใส่เสื้อพอดีๆกับผ้าโสร่ง

สำหรับอาหรับส่วนใหญ่จะมีชุดประจำชาติเป็นชุดยาวคลุมข้อเท้า เสื้อแขนยาว ที่เรียกว่า โต๊บ สวมหมวกทรงกลมใบเล็ก ทับด้วยผ้าคลุมศรีษะ มีเชือกสีดำครอบกันผ้าเลื่อนหลุด บางประเทศในโอกาสหรือพิธีสำคัญจะมีสวมใส่เสื้อคลุมเนื้อบางสีดำเดินขอบด้วยแถบสีทองแต่ประเทศ เช่น อิรัค ใช้สวมใส่ประจำวันรายละเอียดของเสื้อผ้าและเครื่องประกอบการแต่งกายมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

ผ้าคลุมศรีษะ Ghutra / Shumagg

ในอดีตผ้าคลุมศรีษะเป็นวัฒนธรรมของชาวอาหรับที่ใช้ชีวิตอยู่กลางทะเลทรายสามารถใช้ประโยชน์ Ghutra ได้หลายอย่างเช่นเดียวกับผ้าขาวม้า ของไทย คือ ใช้ปูนอน ใช้ปูละหมาด ใช้แทนเชือก กันหนาว ป้องกันฝุ่นผง ความร้อนและกันแดดในทะเลทราย
ปัจจุบันชาวอาหรับในกลุ่มประเทศอ่าวอาระเบียน (อ่าวเปอร์เซีย) ใช้ผ้า Ghutra สำหรับประกอบการแต่งกายประจำวัน แต่ละประเทศมีความนิยมใช้สี ลายผ้าแตกต่างกันเช่น ในประเทศ คูเวต บาห์เรนและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส?(ยูเออี) นิยมใช้ผ้าสีขาวล้วน ในประเทศซาอุดิอาระเบีย กาตาร์นิยมเป็นผ้าตาหมากรุกสีแดง-ขาว (เรียกว่า Shumagg/ smagh /shmagh)
หากเป็นผ้าตาหมากรุกสีดำ-ขาว(เรียกว่า Kofiyah / Kaffiyeh) นิยมใช้ในประเทศปาเลสไตน์ จอร์แดน ซีเรียและอิรัค เป็นต้น

ผ้าคลมุ yashmagh ที่ผลิตด้วยผ้าผสมขนสัตว์ตกแต่งด้วยการปักลวดลาย สำหรับใช้ในฤดูหนาว ส่วนใหญ่ตัดเย็บด้วยผ้าฝ้ายเนื้อบาง เป็นรูปสี่เหลี่ยม ชายผ้าเป็นครุยโดยรอบ ผ้าบางแบบมีภู่ห้อยที่มุง เมื่อใช้คลุมศรีษะจะพับเป็นรูปสามเหลี่ยน หากผ้าที่มีภู่ห้อย การพับผ้าจะต้องให้ภู่ห้อยอยู่ที่มุมล่างของผ้า โดยสวมผ้าพับเป็นสามเหลี่ยมทับบนหมวกสีขาว และรัดด้วยเชือกให้อยู่ตัวหากไม่ใช้เชือกรัด จะมัดผ้าให้แน่นศรีษะด้วยปลายผ้าสองข้าง

เชือก Ogal /Igal
เชือกถักสีดำสำหรับใช้รัดผ้าโพกศรีษะ Ghutrah ไม่ให้หลุดเลื่อน ทำจากเชือกขนสัตว์ขนแพะ ขนแกะและขนอูฐ รูปแบบที่นิยมใช้ในปัจจุบันเชือกถักกลม บางประเทศ (โดยเฉพาะชาวยูเออี) นิยมแบบมีภู่ห้อย เชือก Igal สมัยก่อนจะเป็นสีทอง ชื่ออื่นใช้เรียกเชือกรัดนี้ว่า Egal, Agal และ Aqal

อ.ชาฟีอี นภากร อิหม่ามประจำมัสยิดเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย คลองตัน ซึ่งเคยศึกษาที่ซาอุดิอารเบียหลายปี ให้ข้อมูลว่า เชือกที่รัดเหนือศรีษะคนซาอุฯ หรือคนอาหรับ มาจากเชือกเลี้ยงอูฐ โดยในการเลี้ยงอูฐในอดีต เมื่อต้องการให้อูฐอยู่กับที่ไม่เดินไปไหน ก็จะใช้เชือกคล้องที่ข้อเข่า เมื่อเข่างอ ก็จะเดินไปไหนไม่ได้ และเมื่อถอดเชือกออกจากเข่าอูฐ ก็จะเก็บไว้บนศรีษะตามความสะดวก ปฏิบัติกันจนเคยชิน จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของการแต่งกายประจำชาติในที่สุด