ประวัติมัสยิดกรือเซะ หรือ มัสยิดปินตูกรือบัน ความเป็นมาคู่ประวัติศาสตร์เมืองปัตตานี

ADMIN

ประวัติ มัสยิดกรือเซ๊ะ หรือ มัสญิดปินตูกรือบัน
โดย.อะลีย์รอญาอีย์ อิบนิ อับดิ้ลลาห์ อัล-บะฮ์รุสสลาม

ตำนานมัสยิดกรือเซ๊ะ ที่ กรือเซะ-บานา เป็นเรื่องราวที่ได้สร้างความอัปยศให้กับสังคมมุสลิมนับตั้งแต่ได้มีการบันทึกประวัติศาสตร์อิสลามขึ้นมาในปาตานีเป็นต้นมา

เริ่มจากรัชสมัยของพญาอินทิรา หรือต่วนกูรุป นัคปา (ท้าวนภาหรือ ดาตู นาคะปา) แห่งราชวงศ์ RAJA SERI MAHA WANGSA ซึ่งพระองค์เข้ายอมรับศาสนาอิสลาม จากการเผยแผ่ศาสนาโดยเชคซาอีด หรือที่คนปาตานีรู้จักกันในชื่อ…”โต๊ะปาไซ หรือเชคซาอีด อัล-ปาไซ”…และทรงมีพระนามใหม่ว่า สุลต่าน อิสมาแอล ชาห์

ตามประวัติศาสตร์แล้ว มัสยิดกรือเซ๊ะ ไม่ได้ถูกสร้างโดยลิ้มโต๊ะเคียม เหมือนกับตำนานของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ที่ได้รับบอกเล่าต่อๆ กันมา หรือตามตำนานที่ได้ถูกเขียนในวารสาร อสท.ของ ททท.

มัสยิดหลังนี้ถูกสร้างในรัชสมัยของสุลต่านมุซ็อฟฟาร์ ชาห์ (Sultan Muzaffar Syah)หรือพระยาตานีศรีสุลต่าน พระราชบิดาของสุลต่านปาเต๊ะสยาม หรืออีกกระแสรายงานหนึ่งได้บันทึกไว้ว่า มัสยิดหลังนี้ถูกสร้างในรัฐสมัยของสุลต่านลองยูนุส ตามข้อมูลที่เขียนรวบรวมโดยนางสาว พัทรีย์ เจ๊ะเลาะ ผู้จัดทำเว็บไซด์แหล่งโบราณ มัสยิดกรือเซะ ที่ได้เขียนว่า หนังสือสยาเราะห์ปัตตานีของนายหะยีหวันหะซัน  กล่าวว่า สุลต่านลองยูนุสเป็นผู้สร้าง ประมาณปีฮิจเราะห์ ๑๑๔๒ ตรงกับพุทธศักราช ๒๒๖๕ สมัยอยุธยาตอนปลาย

เหตุที่ก่อสร้างไม่เสร็จเนื่องจากเกิดสงครามแย่งชิงราชสมบัติระหว่างสุลต่านลองยูนุสกับระตูปะกาลัน ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระองค์ หลังจากสุลต่านลองยูนุสสิ้นพระชนม์ ระตูปุยุดได้รับตำแหน่งสุลต่านเมืองตานีคนต่อมา

และได้ย้ายศูนย์การปกครองเมืองตานีไปตั้งอยู่ ณ บ้านปูยุด ปัจจุบันอยู่ในเขตท้องที่ตำบลปูยุด อ.เมืองปัตตานี บริเวณที่ตั้งวังของระตูปุยุดยังคงปรากฏเป็นร่องรอยกำแพงอยู่จนบัดนี้  มัสยิดจึงไม่มีผู้ใดคิดสร้างหรือต่อเติมหรือบูรณะขึ้นมาใหม่ยังคงทิ้งให้รกร้างว่างเปล่าตั้งแต่นั้นมา

จนมีคณะของนายศรายุทธ์ สกุนาสันติศาสน์ ได้ลุกขึ้นประท้วงก่อม็อบเพื่อให้มีการใช้มัสยิดกรือเซะอีกครั้ง ทางการจึงเข้ามาดูแลและทำการบูรณะปรับปรุงขึ้นมาใหม่อย่างที่เห็นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

แต่อย่างไรก็ตามมัสยิดกรือเซ๊ะไม่ได้ถูกฟ้าผ่า เนื่องจากคำสาปแช่งของนางสาวลิ้มกอเหนี่ยวหรือลิมกอเนี๊ยะ ที่อ้างว่านางได้ผูกคอตายกับต้นมะม่วงหิมพานต์ริมชายหาดตันหยงลูโล๊ะ ตามตำนานที่ได้บอกกล่าวไว้ว่า

“เมื่อแม่นางแซ่ลิ้ม หรือลิ้มกอเนี๊ยะ ไม่สามารถโน้มน้าวหรือชักชวน ลิ้มเต้าเคี่ยม ,ลิ้มโต๊ะเคี่ยม หรือนายเคี่ยม แซ่ลิ้ม ผู้เป็นพี่ชายกลับเมืองจีนเพื่อไปดูแลแม่ที่กำลังแก่ชราได้
นางจึงเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ และได้ตัดสินใจผูกคอตายกับต้นมะม่วงหิมพานต์ (ยาโหง่ย,ยาร่วง,ยาหมู) พร้อมทั้งได้กล่าวอาฆาตพยาบาทต่อมัสยิดกรือเซะ ที่เป็นต้นเหตุให้พี่ชายไม่สามารถกลับเมืองจีนพร้อมกับนางได้ นางจึงได้ตั้งจิตอธิฐานและสาปแช่งมัสยิดนี้ว่า…

ขอให้มัสยิดหลังนี้มีอันเป็นไปในทุกๆ ครั้งที่มีการก่อสร้างหรือสร้างเสร็จ  จากนั้นก็ได้มีฟ้าคะนองพร้อมกับได้มีอสนีบาตฟาดลงบนโดมมัสยิดพังพินาศเสียหาย

ชาวมุสลิมต่างเกรงกลัวต่ออิทธิฤทธิ์แม่นางแซ่ลิ้ม หรือผีวิญญาณของโต๊ะกูแมะนางนี้ จึงไม่กล้าที่จะกลับมาสร้างต่อ และคราใดก็ตามที่ชาวมุสลิมคิดที่จะบูรณะมัสยิดหลังนี้ เมื่อทำการบูรณะเสร็จก็จะโดนฟ้าผ่าทุกครั้งไป จนทำให้ชาวมุสลิมไม่กล้าบูรณะมัสยิดหลังนี้ต่อไปอีกเลย

และได้ปล่อยทิ้งให้มัสยิดรกร้างตั้งแต่นั้นมา เพราะความเกรงกลัวต่ออำนาจอิทธิฤทธิ์ของคุณหนูแซ่ลิ้ม หรือโต๊ะกูแมะ(ชาวมลายูเรียก แม่นางลิ้ม หรือย่าทวดลิ้มว่า โต๊ะกูแมะ) ที่ถูกยกระดับมาเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวในยุคปัจจุบัน”

ซึ่งว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวนี่มีจริง แต่เป็นคนละคนกับเจ้าแม่ที่มีการอุปโลกน์ขึ้นที่กรือเซะบานา
เพราะเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจริงนั้นอยู่ที่เกาะไต้หวัน ไม่ใช่อยู่ที่ปาตานี หรือ ๓ จชต.ดั่งที่หลวงจีนคณานุรักษ์ และเจ้าพระยาอินทคีรีสมบัติ (บุญหุ้ย) ต้องการให้มีในปาตานี (เรื่องนี้ค่อยค้นหาความจริงต่อไปเกี่ยวกรณีมัสญิดกรือเซะ)

แต่ในทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ไทยบางส่วนและประวัติศาสตร์ของชาวมลายูบันทึกว่าสาเหตุที่มัสยิดกรือเซ๊ะเสียหาย เพราะโดนกองทัพจากกรุงสยามเข้าตีในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๓๒๘ ครั้งที่กองทัพสยามเข้ามาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ ทหารสยามได้ระดมยิงปืนใหญ่จนเมืองและพระราชวังหรือโกตาอิสตานานีลัมเสียหาย ทำให้ไฟที่เผาวังดังกล่าวลุกโหมจนทำให้เกิดความเสียหายต่อมัสยิดกรือเซ๊ะ หรือมัสยิดปินตูกรือบัน

ย้อนไปในสยามครั้งอดีตเมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๘ มุสลิมสยาม…เช่น พระยากลาโหมเสนา หรือเจ้าพระยาราชบังสัน แม่ทัพเรือ พระยาจ่าแสนยากร พระยาจุฬาราชมนตรี กองอาสาจาม ซึ่งเป็นมุสลิม พร้อมด้วยทหารสยามจำนวนหลายหมื่นนาย ได้เข้าตีเมืองปาตานี ในสมัยรัชสมัยของสุลต่านมุฮัมมัด ชาห์ ปรากฏว่ากองทัพปาตานีไม่สามารถต้านข้าศึกที่มาจากสยามได้ บ้างก็ว่าเพราะในเมืองปาตานีมีไส้ศึกสยาม

สุลต่านมุฮัมมัด ชาห์ ถูกกระสุนปืนสิ้นพระชนม์ในสนามรบ กองทหารสยามจึงได้ทำการเข้าปล้นสะดมพระราชวังไพลินโกตามะฮ์ลิฆัย อิสตะนานีลัม(พระราชวังอันวิจิตร) และได้ถูกทหารสยามเผาราบเป็นหน้ากลอง

จนทำให้ไฟได้ลุกลามไหม้มาถึงมัสยิดปินตูกรือบัน หรือมัสยิดญาเมี๊ยะฮ์ กล่าวกันว่าพระยาจุฬาราชมนตรีถึงกับร่ำไห้เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดมัสยิดหลังนี้ถูกไฟเผาไหม้ ซึ่งเกิดขึ้นโดยมิได้ตั้งใจของเหล่าทหารมุสลิมจากสยาม

ประวัติศาสตร์ในครั้งนั้นบันทึกไว้ว่า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาถ ทรงประทับอยู่ที่เมืองสิงขรนคร(สงขลา) ปล่อยให้ทัพของมุสลิมจากบางกอกมาตีมุสลิมปาตานีกันเอง

และเมื่อทหารสยามรบชนะก็ได้ทำการเผามัสยิดเพื่อลอกเอาเนื้อทองคำบริสุทธิ์ที่ห่อหุ้มบนโดมมัสยิดกรือเซ๊ะอันสวยงามวิจิตรแห่งนี้ และหลังจากกองทัพสยามได้ยกทัพมาปราบหัวเมืองปักษ์ใต้ กล่าวกันว่า กองทหารสยามได้กวาดต้อนและริบทรัพย์สินจากเชลยศึกในสงครามปาตานี

ในสมัยที่กองทัพสยามถอยทัพกลับนั้นด้วยความที่ทรัพย์สินของปาตานีนั้นมีจำนวนมาก เพราะปาตานีเป็นศูนยกลางทางการค้าแห่งนูซันตารา ทำให้เรือลำหนึ่งที่บรรทุกปืนใหญ่ศรีนะฆะรา จมล้มในอ่าวปาตานี และทหารสยามบางส่วนต้องเดินเท้าเปล่ากลับกรุงเทพมหานครฯ เพราะเรือของกองทัพเรือทั้งต้องบรรทุกทรัพย์สินของเชลยศึกที่ยึดได้จากสงครามกลับกรุงเทพฯ

ปาตานี กลันตัน ตรังกานู เคดะห์ และปีนังถูกตีและยึดครองในสมัยนั้น และในปี พ.ศ.2329 กองทัพสยามได้ยึดปืนใหญ่นางพญาตานี ขึ้นไปกรุงเทพฯ พร้อมกับได้ทำการกวาดต้อนเชลยศึกมลายูขึ้นไปจำนวนหลายหมื่นคน เพื่อนำไปเป็นโล่ห์มนุษย์ บางส่วนก็ให้ไปเป็นกุลีขุดคลองจนได้ชื่อว่า “คลองแสนแสบ” ดังที่ได้เรียกขานกันในปัจจุบัน

สถานที่ๆ เชลยศึกและทาสมลายูถูกปล่อยเป็นกลุ่มก้อนมากที่สุดก็คือแถวคลองตัน พระโขนง มีนบุรี หนองจอก ทุ่งครุ นครนายก ปทุมธานี และแปดริ้ว( อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเฉิงเทรา ปัจจุบัน)
สมุทรปราการ เพชรบุรี

มัสยิดกรือเซ๊ะ หรือมัสยิดปินตูกรือบัน ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ไม่ได้ถูกฟ้าผ่าดั่งที่เรื่องราวของตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนียวบันทึกไว้ แต่โดนเผาเมื่อตอนที่สมัยกองทัพสยามได้เข้ามาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ แม่ทัพบางคนที่คุมทัพรัตนโกสินทร์ครั้งนั้น อย่างเช่นพระยากลาโหมเสนา(พระยาราชบังสัน) จ่าแสนยากร และพระยาจุฬาราชมนตรี ตลอดจนกองอาสาจามซึ่งเป็นทหารมุสลิมเสียใจต่อการกระทำครั้งนี้ของกองทัพของฝ่ายตนอย่างมาก แต่สงครามก็คือสงคราม ผู้ชนะย่อมต้องทำลายเมืองหรือศาสนสถานของอีกฝ่าย เพื่อไม่ให้สามารถตั้งตัวเป็นกลายเสี้ยนหนามแผ่นดินในอนาคตได้ กองทัพพม่าได้เคยกระทำต่อกรุงศรีอยุธยาฉันท์ใด กองทัพสยามก็ได้กระทำต่อปาตานีฉันท์นั้น เพราะนี่คือสงคราม

มัสยิดกรือเซ๊ะ หรือมัสยิดปินตูกรือบัน ได้ถูกกรมศิลปกรตีทะเบียนเป็นโบราณสถานและทำการบูรณะ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘ และได้ทำการบูรณะอีกครั้ง ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ และในปี พ.ศ.๒๕๒๕ ได้ทำการบูรณะอีกครั้งเนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ฯ

ลิ้มโต๊ะเคี่ยมหรือนายเคี่ยม แซ่ลิ้ม เป็นชาวจีนฮกเกี้ยน ได้เข้ามาในปัตตานี เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๑๑๙  ในสมัยแผ่นดินสุลต่านบาฮาดูร์ ชาห์ โดยได้นำเรือสำเภามาจอดเทียบท่าที่ท่าเทียบเรือตันหยงลูโล๊ะ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าลิ้มโต๊ะเคี่ยมหรือหลิมเต้าเคียมได้อภิเษกสมรสเจ้าหญิงคนไหนเลย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหญิงฮิเยาว์ เจ้าหญิงบีรู อูงู หรือกูนิง เพราะฉะนั้นตามตำนาน(ที่ตำนาน-นาน) ได้เล่าต่อๆ กันมาว่าลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้แต่งงานกับบุตรีของเจ้าเมืองปัตตานี น่าจะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เพราะในประวัติศาสตร์อิสลามปาตานี นับตั้งแต่พระยาอินทิราเข้ารับอิสลามมาจนถึงการปกครองของสุลต่านบาฮาดูร์ ชาห์ ซึ่งอยู่ในระหว่างปี พ.ศ.๒๐๔๒-๒๑๒๗ไม่ปรากฏว่าบุตรีของสุลต่านองค์ใดแต่งงานกับลิ้มโต๊ะเคี่ยมหรือหลิมเต้าเคียนเลย และมัสยิดกรือเซะไม่ได้ถูกสร้างในสมัยสุลต่านบาฮาดูร์ ชาห์ แต่สร้างได้ในรัชสมัยของสุลต่านมุซ็อฟฟารฺ ชาห์ หรือที่ชาวสยามรู้จักกันในนามพระยาตานีศรีสุลต่าน

และสิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่างก็คือ ศิลปกรรมของมัสยิดกรือ เป็นศิลปะแบบเปอร์เซีย หรือออตโตมัน ไม่ว่าจะเป็นซุ้มประตูโค้งหรือเมี๊ยะรอบ ล้วนแล้วแต่เป็นรูปทรงและศิลปะแบบเปอร์เซียทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจะสร้างมัสยิดหลังนี้ ตามที่ตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเล่าแบบมั่วๆ ไร้ความรับผิดชอบต่อๆ กันมา

เพราะถ้าเราได้ไปดูมัสยิดในเมืองจีนที่สร้างเมื่อ ๔๐๐-๕๐๐ ปีที่แล้ว เราเห็นได้ว่า มัสยิดเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นทรงจีน(เหมือนวัดจีน)ทั้งสิ้น ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจะเอาศิลปกรรมแบบเปอร์เซียมาสร้างมัสยิดนี้ได้อย่างไร

อาจจะเป็นไปได้ว่า ลิ้มโต๊ะเคี่ยม อาจจะเข้ามาช่วยอาสาบูรณะมัสยิดภายหลังจากเกิดความเสียหายจากสงครามก็เป็นได้ อีกอย่างลิ้มโต๊ะเคี่ยมไม่ได้สมรสกับบุตรีของสุลต่านปัตตานีดั่งที่ตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวว่ากล่าวไว้

แต่อาจจะสมรสกับเครือญาติของสุลต่านก็เป็นได้ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจึงเป็นผู้ที่อาสาต่อเติมมัสยิดให้เสร็จสิ้นและสิ่งที่น่าสังเกตก็คือในสมัยเจ้าหญิงฮิเยาว์ เจ้าหญิงบีรู เจ้าหญิงอูงู และเจ้าหญิงกูนิงครองเมืองปัตตานี ระหว่างปี พ.ศ.๒๑๒๗-๒๒๓๐ มัสยิดกรือเซะก็ยังไม่ถูกทำลาย มัสยิดกรือเซะยังคงถูกบันทึกว่าเป็นมัสยิดที่งดงามภายในมัสยิดมีลวดลายอันวิจิตร บนยอดโดมของมัสยิดกรือเซะหุ้มด้วยทองคำบริสุทธิ์

อาจเป็นไปได้ว่าในสมัยราชินีฮิเยาว์ เคยเกิดสงครามครั้งหนึ่งที่ทำให้มัสยิดเสียหาย คือในปี พ.ศ. ๒๑๔๖ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ส่งกองทัพเรือเข้ามาตีเมืองปัตตานี โดยมีออกญาเดโชชัย เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชเป็นผู้นำทัพ โดยยกพลมาขึ้นที่ปากอ่าวเมืองปัตตานีและบุกเข้าประชิดตัวเมือง ราชินีฮิเยาว์ได้นำทหารหาญของเมืองปัตตานีออกมาต่อต้านกองทัพอยุธยาอย่างเต็มกำลังสามารถ โดยใช้ปืนใหญ่ออกมายิงต่อสู้จนกองทัพสยามต้องล่าถอยทัพกลับไปในที่สุด

และในศึกสงครามครั้งนี้ทำให้มัสยิดกรือเซะหรือมัสยิดปินตูกรือบังเสียหาย  ลิ้มโต๊ะเคี่ยมซึ่งรับราชการอยู่จึงรับอาสาช่วยบูรณะซ่อมแซมมัสยิดกรือเซะ และเป็นเวลาเดียวกับที่นางหรือนางสาวลิ้มกอเหนี่ยว คุณหนูแซ่ลิ้ม(สมัยนั้นยังไม่ได้รับฉายาเป็นเจ้าแม่) มาตามหาพี่ชาย แต่พี่ชายไม่ยอมกลับเพราะยังบูรณะมัสยิดไม่เสร็จ และอาจเป็นไปได้ว่าลิ้มโต๊ะเคี่ยมมีความตั้งใจแล้วว่าจะไม่กลับไปแผ่นดินจีนอีกเพราะ

1.ต้องการบูรณะมัสยิดให้เสร็จ

2.ต้องต้องการที่จะตั้งรกรากใหม่ที่นี่เพราะมีลูกมีเมียแล้ว

3.เพราะตนเข้ารับอิสลามและเป็นมุสลิม

4.หนีอาญาแผ่นดิน เพราะมีการกล่าวกันว่า ลิ้มโต๊ะเคี่ยมหรือลิ้มเต้าเคี่ยมเคยเป็นโจรสลัด

นางสาวลิ้มกอเหนี่ยว แม่นางลิ้ม หรือคุณหนูแซ่ลิ้ม เมื่อได้รับการปฏิเสธจากพี่ชายก็เลยเสียใจ  เพราะนางได้รับปากกับทางบ้านแล้วว่าจะนำพาพี่ชายไปยังบ้านเกิดให้จงได้ ไม่ว่าพี่ชายจะอธิบายเหตุผลและความจำเป็นของภารกิจอย่างไรก็ตาม ลิ้มกอเหนี่ยวก็ไม่ยอมฟัง

เมื่อไม่สามารถโน้มน้าวจิตใจพี่ชายให้คล้อยตามนางได้ นางจึงเสียใจเป็นที่สุดเพราะ เนื่องจากนางไม่สามารถบากหน้ากลับบ้านไปหาแม่ได้โดยปราศจากพี่ชายได้

จึงได้ตัดสินใจผูกคอตายโดยใช้ผ้าหรือเชือกผูกกับต้นมะม่วงหิมพานต์ที่ริมชายหาดตันหยงลูโละ ส่วนนางจะสาปแช่งให้ฟ้าผ่ามัสยิดหรือไม่นั้น เชื่อว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ ถ้าหากนางสาปแช่งมัสยิดกรือเซะจริง แล้วใครเป็นคนได้ยิน

แล้วหากมีคนได้ยินตอนที่นางสาปแช่ง ทำไมไม่ช่วยกันห้าม การผูกคอตายครั้งนี้เป็นไปเพราะน้อยใจพี่ชายเท่านั้น หรือหากนางอาฆาตพยาบาทต่อมัสยิดกรือเซะ ก็คงไม่ใช่เพราะแรงอาฆาตพยาบาทหรือแรงอธิษฐานของนางหรอกที่ดลบันดาลให้ฟ้าผ่ามัสยิดกรือเซะ หรือหากมีฟ้าผ่ามัสยิดกรือบ้างก็เพียงเพราะเหตุที่โดมสัมยิดกรือหุ้มด้วยทองคำต่างหากเพราะมัสยิดกรือเซะในสมัยนั้นไม่มีสายล่อฟ้า

ในความเป็นจริงมัสยิดกรือเซะก็ไม่ได้เสียหายเพราะถูกฟ้าผ่า และเป็นเรื่องที่โกหกหลอกลวงอย่างหน้าด้านๆ มากที่จะบอกว่า…มีใครได้ยินคำอธิษฐานของนาง เพราะคำอธิษฐานเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายในใจ ไม่มีอักษรหรือสำเนียง

ผู้ชนะย่อมสามารถเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมาเองได้ แต่การจะเขียนว่า
“มัสยิดกรือเซะโดนนางสาวหรือนางลิ้มกอเหนี่ยว สาปแช่งไว้จนถูกฟ้าผ่านั้น”
มันขัดกับความจริงที่เกิดขึ้น
“จึงอุปโลกน์ตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวขึ้นมาเพราะต้องการปกปิดความจริงบางอย่าง”

ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่จำเป็นต้องปกปิดเลย เพราะอดีตก็คืออดีต อดีตมีเพื่อเรียนรู้ไว้เป็นบทเรียน สิ่งที่ดีจากการเรียนรู้ในอดีตเราก็สามารถนำมาปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นได้ สิ่งที่ไม่ดีก็ต้องจดจำไว้เป็นอุทาหรณ์เพื่อช่วยกันป้องกันแก้ไขอย่าให้เกิดขึ้นอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า

การที่มีลูกปืนใหญ่ยิงถล่มเข้ามาโดนมัสยิดจนเสียหายในช่วงสงคราม มันเป็นเรื่องปกติ การที่ทหารเข้าปล้นสะดมบ้านเรือนกวาดต้อนเชลยศึก ตลอดจนยึดทรัพย์สินของมีค่าในระหว่างสงคราม หรือเผาศาสนสถานเพื่อลอกเอาทองคำบริสุทธิ์ออกจากโบสถ์ วิหาร อาราม วัด สุเหร่า หรือมัสยิด มันก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาในสงครามที่ไม่เห็นจะต้องปกปิด แล้วสร้างตำนานด้วยเรื่องที่จะทำลายศรัทธาของชาวมุสลิมอย่างร้ายแรงกว่า ที่ไม่อาจรับได้

เพราะฉะนั้นแม้ผมจะขอร้องให้ ททท.หรือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานหาดใหญ่ และนราธิวาส ถอดตำนานอันมดเท็จนี้ออกไปจากวารสารของ ททท.และก็จริง

แต่บริษัทท่องเที่ยว ตลอดจนมัคคุเทศก์ ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นทูตวัฒนธรรมหรือทูตของประเทศยังคงเอาตำนานเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังให้นักท่องเที่ยงต่างประเทศ อย่างเช่นจีน ไต้หวัน สิงคโปร์ อินโนนีเซียและมาเลเซียฟังอยู่ในรถทัวร์ เพื่อเป็นแทคติกหรือกลยุทธ์ในการสร้างสตอรี่เพื่อดึงดูดคนให้มาท่องเที่ยวในภาคใต้ จึงเอาตำนานเรื่องนี้มาโกหกซ้ำแล้วซ้ำเล่า…ซ้ำแล้วซ้ำเล่า…อย่างซ้ำๆ

จึงอยากให้บรรดามัคคุเทศก์และบริษัทท่องเที่ยว ศึกษาเรื่องนี้อย่างมีความรู้ ศึกษาประวัติศาสตร์ เรียนรู้อดีต ปัจจุบัน ตลอดจนติดตามสถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนยุทธศาสตร์ของจังหวัดให้ดี เรียนรู้ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่นให้แตกฉาน ไม่ใช่ไปอธิบายเรื่องตำนานแล้วบอกว่าเป็นประวัติศาสตร์

เพราะมันจะเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสงครามที่ไม่มีวันจบสิ้น สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีสถานที่ท่องเที่ยว ทางธรรมชาติที่สวยงาม มีโบราณสถานให้ศึกษา มีขนมธรรมประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงามไม่แพ้ที่ใดๆ ในประเทศนี้ แต่สามจังหวัดกลับเสียโอกาสที่จะพัฒนาธรรมชาติทรัพยากรการท่องเที่ยวมีอยู่ให้เกิดประโยชน์กับคนในท้องถิ่น ให้กับชนในชาติตลอดจนให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศให้มากที่สุด

เพราะเราไม่ยอมเรียนรู้ข้อดีปรับปรุงข้อด้วยของกันและกัน หวังว่าอนาคตอันใกล้นี้ เราคงจะไม่ได้ยินมัคคุเทศก์ที่นำนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศไปยืนถ่ายรูปเพื่อเป็นที่ระลึกกับสุสานหรือฮ้วงซุ้ย(จำลอง)ของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว แล้วชี้นิ้วไปที่มัสยิดกรือเซะพร้อมบรรยายด้วยถ้อยคำหรือวลีที่ว่า

“มัสยิดหลังนี้แหละที่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวสาปแช่ง จนฟ้าผ่าและสร้างไม่เสร็จ และเมื่อมีชาวมุสลิมคิดบูรณะมัสยิดหลังนี้ครั้งใด ก็จะโดนฟ้าผ่าเสียทุกครั้ง ซึ่งมัสยิดหลังนี้โดนฟ้าผ่าทุกๆ ครั้งที่มีการบูรณะกล่าวกันว่า มัสยิดหลังนี้โดนฟ้าผ่าถึง ๓ ครั้ง ๓ ครา จนมุสลิมแถวนี้หวาดกลัวต่ออิทธิฤทธิ์และความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่ และไม่กล้าที่จะคิดบูรณะมัสยิดแห่งนี้อีกเลย”

ยังมีความจริงอีกมากมายที่ยังไม่ได้เขียนถึง และยังมีละเอียดปลีกย่อยอีกมากมายที่ยังไม่เปิดเผย สำหรับบทความชิ้นนี้หากข้อดีอยู่บ้างก็ขอมอบความดีงามอันนั้นแด่ ศ.ดร.ครองชัย หัตถา อาจารย์ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หากสิ่งใดที่อ่านแล้วเกิดความรู้สึกไม่ดีหรือมีผลกระทบผู้เขียนบทความข้อรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวและยังมีสิ่งหนึ่งที่อยากจะกราบเรียนรัฐบาลทุกรัฐบาลผ่านหน่วยข่าวกรองทั้งหลายที่ชอบตัดข่าวหนังสือพิมพ์ส่งไปให้หน่วยเหนือเป็นอาชีพว่า ในโลกนี้นอกจากประเทศไทยมีประเทศไหนบ้างที่ขึ้นทะเบียนมัสยิดเป็นโบราณสถาน แล้วห้ามศาสนิกชนที่นับถือศาสนาอิสลามบูรณะ แต่ขอร้องว่าอย่าได้อ้างมัสยิดบาบาหรีที่อินเดีย ที่โดนชาวฮินดูรื้อและทุบทิ้งเพื่อเป็นโบสถ์พระรามขึ้นมาทดแทนก็แล้วกัน

นายนิรอมลี นิมะ หรือนายอุดม ปัตนวงศ์ อดีตนายกอำเภอ และ อดีต กกต.จ.ยะลา กำลังชี้สุสานหรือฮ้วงซุ้ยของย่าทวดลิ้ม หรือลิ้มกอเนี๊ยะ (ลิ้มกอเหนี่ยว) ที่จมใต้น้ำที่อ่าวตันหยงลุโล๊ะ

สุสานของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวที่จมอยู่ใต้น้ำ

นิรอมลี นิมะ หรือนายอุดม ปัตนวงศ์ กำลังชี้สุสานของลิ้มโต๊ะเคี้ยม หรือลิ้มเต้าเคี่ยม ที่สุสานประจำเมืองปัตตานี หรือกุโบร์รายอ

 

แฟ้มไฟล์ภาพจากอินเทอร์เน็ต

ผู้เขียนและคณะได้เดินทางไปสำรวจร่องรอยแห่งอารยธรรมปัตตานี ร่วมกับอาจารย์อิสมาอีล เบญจสมิทธิ์ และนายอาหมาน หมัดอาดำ ผอ.ททท.นราธิวาส

ร.ญาอีย์


رجاءي
๓-๐๒-๕๗
หมายเหตุ*บทความนี้ ผมเขียนในสมัยที่ผมไปอบรมมัคคุเทศก์เฉพาะ(ต่างประเทศ-เฉพาะพื้นที่) ที่ มอ.ปัตตานี เมื่อ ๑๑ ปีที่แล้ว(เดือนธันวาคม ๒๕๔๖) ผมกำลังจะปรับปรุงบทความนี้…อีกต่อไป…เพื่อให้เป็นบทความที่สามารถอ้างอิงในอนาคต เช่นกรณีที่พระรามเดโช หรือพระยารามเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชได้ทรงอภิเษกสมรสกับนางพญากูนิง เป็นต้น และมัสยิดหลังนี้สร้างในสมัยพระยาตานีศรีสุลต่าน ฯลฯ

www.muslimthaipost.com