การผ่าตัดศพ เพื่อการศึกษาเป็นที่อนุญาตหรือไม่ในอิสลาม?

ADMIN

การผ่าตัดศพ เพื่อการศึกษาเป็นที่อนุญาตหรือไม่ในอิสลาม?

การชันสูตรศพ หมายถึง การตรวจศพว่าผู้ตายเป็นใคร ตายเพราะเหตุใด พฤติกรรมแห่งการตายเป็นอย่างไร และเมื่อมีความจำเป็นเพื่อพบเหตุของการตาย เจ้าพนักงานผู้ทำการชันสูตรพลิกศพมีอำนาจสั่งให้ผ่าศพและแยกธาตุได้หรือจะ ส่งทั้งศพ หรือบางส่วนไปยังแพทย์หรือพนักงานแยกธาตุของรัฐก็ได้ (ป.วิ.อาญา มาตรา 151) 

ถ้าฝังศพแล้ว กฎหมายให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ จัดให้ขุดศพขึ้นเพื่อตรวจดูได้ เว้นแต่จะเห็นว่าไม่จำเป็นหรือจะเป็นอันตรายแก่อนามัยของประชาชน (ป.วิ.อาญา มาตรา 153)

ถาม : การผ่าตัดศพ เพื่อการศึกษาเป็นที่อนุญาตหรือไม่ในอิสลาม?

ตอบ : เหนืออื่นใดอิสลามให้ความระมัดระวังแก่บุคคลเป็นอย่างมากไม่ว่าผู้นั้นจะมีชีวิตหรือตาย, ดังที่ท่านศาสนทูตมุฮัมมัด (ซล.) ได้เน้นย้ำไว้ว่า “อย่าได้หักมัน เพราะการหักกระดูกแม้แต่เจ้าของกระดูกจะตายไปแล้วก็เหมือนกับการหักมันในขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่” (รายงานโดยมาลิก, อิบนุมาญะฮฺ และอบูดาวุด)

สำหรับการผ่าตัดศพเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์นั้น โดยความจริงแล้วไม่มีบทบัญญัติทางศาสนาโดยตรงในเรื่องนี้ ยังเป็นประเด็นที่เห็นต่างกันในหมู่นักวิชาการมุสลิม

แต่ทั้งนี้ จากกฏระเบียบทางด้านนิติศาสตร์อิสลาม (ชารีอะฮฺ) ที่กล่าวว่า ความจำเป็นทำให้เกิดการยกเว้น”และมีอีกกฏหนึ่งที่คอยควบคุมอยู่เช่นกันคือ “ความจำเป็นนั้นต้องคิดแล้วว่าเป็นความจำเป็นจริงๆ”

ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการส่วนใหญ่จึงให้ความเห็นว่า เป็นที่อนุญาตให้ผ่าตัดร่างของผู้ตายเพื่อวัตถุประสงค์ในการศึกษาทางด้านการแพทย์

เพื่อรู้ถึงการทำงานและองค์ประกอบของร่างกายมนุษย์
และมีกฏพื้นฐานในชารีอะฮฺอีกว่า อะไรที่จำเป็นเพื่อทำให้หน้าที่ครบถ้วนก็เป็นหน้าที่โดยตัวของมันเอง

และเนื่องจากมันเป็นหน้าที่ที่แพทย์ (รวมถึง นศ.แพทย์และสาขาอืนๆที่เกี่ยวข้อง) จะต้องให้การรักษาผู้คนและเขาจะต้องให้การผ่าตัดเมื่อจำเป็น ดังนั้น การจะทำหน้าที่เหล่านี้ได้ก็จำเป็นที่จะต้องศึกษาสรีระของมนุษย์และเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว การผ่าศพก็จะต้องทำเมื่อมีความจำเป็น

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องสำคัญที่การนำศพนั้นไปผ่าตัดจะต้องได้รับการยินยอมจากผู้ตายหรือญาติของผู้ตาย ถ้าหากผู้ตายไม่มีญาติและ/หรือร่างนั้นไม่มีญาติ ศพของผู้นั้นก็สามารถนำมาใช้เพื่อการผ่าตัดได้ โดยการขออนุญาติจากเจ้าหน้าที่ทางกฏหมายในท้องถิ่น

“วัลลอฮุอะหฺลัม”

Ref. จากหนังสือ “ทุกคำถาม อิสลามมีคำตอบ” เล่มที่ 2

รวบรวมโดย อ.บรรจง บินกาซัน – Banjong Binkason