เปื้อนน้ำลายสุนัขทำความสะอาดอย่างไร?

ADMIN

ถาม เปื้อนน้ำลายสุนัขทำความสะอาดอย่างไร?

ตอบ สมัยยังเด็กๆ ผู้เขียนเรียนรู้มาว่า น้ำลายสุนัขเปื้อนบริเวณตรงไหน ก็ให้ล้างน้ำดินตรงบริเวณนั้น

เช่น เปื้อนเสื้อผ้าให้ล้างน้ำดินที่เสื้อผ้า,สุนัขมาเลียที่ขา ก็ให้ล้างน้ำดินที่ขา หรือเปื้อนภาชนะ ก็ให้ล้างน้ำดินที่ภาชนะพอโตขั้นได้ศึกษาอิสลาม ก็ยังเข้าใจอยู่เยี่ยงนั้นอยู่ ครั้นเมื้อผู้เขียนได้รับคำถามจากพี่น้องท่านหนึ่ง ที่ไว้ใจให้ผู้เขียนตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องน้ำลายสุนัขเปื้อนเสื้อผ้า หรืออวัยวะร่างกายคนเรา จำเป็นต้องล้างน้ำดินหรือไม่อย่างไร?

ก่อนหน้านี้ผู้เขียนยังคงตอบตามความเข้าใจเดิมแต่ล่าสุด ผู้เขียนมาตั้งข้อสังเกตและเกิดความสงสัย จังลงมือค้นคว้าเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยอยากรู้เองว่า ที่จริงแล้วเรื่องการล้างน้ำดินนั้นต้องล้างกรณีใดบ้าง ภายหลังค้นคว้าเสร็จจังได้พบคำตอบ (อัลฮัมดุลิ้ลละฮฺ) ถึงแม้ว่า ประเด็นดังกล่าวจะมีข้อถกเถียงค่อยนข้างมากก็ตามทว่าตามทัศนะที่มีน้ำหนักแล้วนั้น ได้บทสรุปว่า

การล้างน้ำดินนั้นให้ล้างในกรณีน้ำลายสุนัขเปื้อนภาชนะเท่านั้น ย้ำ… เฉพาะเปื้อนภาชนะเท่านั้น

ส่วนกรณีน้ำลายเปื้อนอื่นจากภาชนะ ไม่ต้องล้างน้ำดินแต่ประการใดทั้งสิ้น แต่ให้ล้างด้วยน้ำสะอาดจนเรามั่นใจว่าสะอาด แค่นั้นถือว่า เพียงพอแล้ว ดังกล่าวเป็นทัศนะที่มีน้ำหนัก โดยจะนำเสนอให้พี่น้องได้รับทราบถึงหลักฐานจากหะดีษของท่านร่อซุลลุลลอฮฺ มาอ้างอิงประกอบ ดังผู้อ่านจะรับทราบรายละเอียดต่อไปนี้

หลักฐานที่1 ท่านร่อซูลลุลลอฮฺ กล่าวว่า “การทำความสะอาดภาชนะของบุคคลหนึ่งในหมู่พวกท่านเมื่อสุนัขเลียภาชนะนั้นให้ล้าง 7 ครั้ง โดยครั้งแรกให้ล้างน้ำดิน”

หลักฐานที่ 2 ท่านร่อซูลลุลลอฮฺ กล่าวว่า “เมื่อสุนัขเลียภาชนะ ดังนั้นพวกท่านจงล้างภาชนะด้วยน้ำเจ็ดครั้ง”

หะดีษที่หยิบยกมา 2 หะดีษนั้น ท่านนบี ระบุเฉพาะภาชนะที่ถูกเลียจากสุนัขเท่านั้นที่ให้ล้างน้ำดิน ซึ่งหะดีษบทอื่นๆ ที่กล่าวถึงเรื่องน้ำดิน ล้วนกล่าวเฉพาะเรื่องภาชนะเท่านั้น ประเด็นนี้เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า หะดีษที่กล่าวถึงเรื่องน้ำดินนั้นล้วนชี้เฉพาะสุนัขลัยถาชนะ หรือภาชนะเปื้อนน้ำลายของสุนัขเท่านั้น ซึ่งหะดีษที่กล่าวถึงน้ำลายสุนัขเปื้อนอื่นจากภาชนะกลับไม่พบเลยแม้แต่หะดีษเดียว ทั้งๆ ที่มีน้ำลายสุนัขเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เช่นนี้ จึงมีความชัดเจนเลยว่า การล้างน้ำดินเฉพาะภาชนะที่เปื้อนน้ำลายสุนัขเพียงกรณีเดียวเท่านั้น หลักฐานซึ่งน้ำลายสุนัขเข้ามาเกี่ยวข้องแต่ไม่ถูกระบุให้ทำความสะอาดด้วยน้ำดินมี ดังนี้

หะดีษที่ 1 ท่านบนีมุฮัมมั กล่าวว่า “เมื่อท่านปล่อยสุนัขของท่านที่ฝึกสอนให้ออกไปล่าสัตว์ (เช่นนั้น) ให้ท่านกล่าวนามของอัลลออฮฺ และจงบริโภคสิ่งที่มันจับมาให้ท่านเถิด” หะดีษข้างต้นท่านนบีมุฮัมมัด ระบุชัดเจนว่า เมื่อเราต้องการล่าสัตว์ด้วยสัตว์ทีเราเลี้ยงไว้เอง อย่างเช่น สุนัข ครั้นเมื่อเราปล่อยสุนัข (ที่ถูกเราฝึก) ให้ออกไปล่าสัตว์ ก็ให้เรากล่าวบิสมิลลาฮฺ แล้วปล่อยมันไป เมื่อมันจับสัตว์ หรือคายสัตว์มาได้ ก็ให้กินสัตว์ที่ถูกล่านั้น

คำถามคือ ? กรณีสุนัขล่าสัตว์ได้แล้วคายเหยื่อมาให้เรา น้ำลายของมันเปื้อนรอยกัดของสัตว์ที่ถูกล่า แต่ท่านนบี ก็มิได้ระบุ หรือสั่งใช้ให้เศาะหะบะฮฺล้างน้ำดินตรงบริเวณรอยกัดของสุนัขทั้งๆที่เป็นเรื่องใหญ่ ขนาดเรื่องภาชนะเปื้อนน้ำลาย ท่านนบี ยังกำชับให้ล้างน้ำถึงเจ็ดน้ำ โดยน้ำแรกให้เป็นน้ำดิน นั้นแสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่เมื่อน้ำลายเปื้อนที่สัตว์ซึ่งถูกล่าเพื่อนำมาปรุงเป็นอาหารต้องยิ่งให้ความสนใจมากกว่าภาชนะเสียอีก แต่ท่านนบี กลับไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ประเด็นนี้ ชี้ได้อย่างชัดเจนว่า น้ำลายสุนัขเหมือนกัน แต่ท่านนบี กลับไม่ระบุหุก่มว่าด้วยการล้างน้ำดินจากสัตว์ซึ่งถูกล่าจากสุนัข

หะดีษที่ 2 ท่านอิบนุ อุมัรเล่าว่า “เหล่าสุนัขต่างปัสสาวะ,เข้าๆ ออกๆ ในมัสญิด ไม่ปรากฏว่าพวกเขา (บรรดาเศาะหาบะฮฺ) พรม (หรือล้าง) สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย”

หะดีษข้างต้นยิ่งทำให้ทัศนะที่นำเสนอชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะเหล่าสุนัข (กิลาบ) หลายตัวที่เข้าออกมัสญิด อยู่ในบริเวณมัสญิด เป็นไปได้อย่างไรที่บริเวณด้านนอดและด้านในมัสญิดจะไม่เปื้อนน้ำลายสุนัข คงเป็นไปไม่ได้ เมื่อเป็นไปไม่ได้ แล้วทำไมบรรดาเศาะหาบะฮฺ จึงไม่ล้างหรือไม่ทำความสะอาด หรือไม่ล้างน้ำดินที่มัสญิด หรอบริเวณมัสญิดด้วยเล่า ?

เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่า น้ำลายสุนัขจะไม่เปื้อนพื้นมัสญิด หรือบริเวณมัสญิด ประเด็นนี้ชี้ชัดอีกเหมือนกันว่า น้ำลายสุนัขเปื้อนพื้นหรือเปื้อนอื่นจากภาชนะ ไม่มีหุก่มให้ล้างน้ำดินแต่ประการใดนั้นเอง หะดีษที่ 3 ท่านอิบนุ อุมัรเล่าว่า “ปรากฏว่าเหล่าสุนัขเข้าๆ ออกๆ มัสญิดในสมัยของท่านร่อซุลลุลลอฮฺ โดยที่พวกเขา (บรรดาเศาะหาบะฮฺ) ไม่ได้พรม (หรือล้าง) สิ่งใดจากเหตุณ์ดังกล่าว”

หะดีษข้างต้นก็คล้ายกับหะดีษที่สอง แต่มาตอกย้ำให้มั่นใจยิ่งขึ้น เพราะหัดีษข้างต้นระบุชัดเจนว่า สุนัขเข้าออกมัสญิดให้สมัยของท่านนบี ซึ่งท่านนบี ต้องทราบเรื่องดังกล่าว แต่ท่านนบีมิได้ระบุสิ่งใด เมื่อเป็นเช่นนั้นบรรดาเศาะฮาบะฮฺก็ไม่ทำอะไรเพราะท่านนบี ไม่ได้สั่งใช้ให้ทำอะไรนั้นเอง ทั้งๆ ที่เป็นสุนัข ก็ต้องมีเรื่องน้ำลายเปื้อนบริเวณด้านนอก หรือด้านในมัสญิดอยู่แล้ว แต่บรรดาเศาะฮาบะฮฺก็ไม่ได้ทำอะไรเลย ดังรายละเอียดจาดหะดีษข้างต้น สรุป

ด้วยหลักฐานบางส่วนที่กล่าวมาข้างต้นทำให้มีน้ำหนักอย่างที่ทราบ นั้นคือ ในกรณีน้ำลายสุนัขที่ต้อง (วาญิบ) ล้างน้ำเจ็ดครั้ง โดยครั้งแรกให้ล้างด้วยน้ำดินนั้น ให้ทำเฉพาะน้ำลายสุนัขเปื้อน (ประเภท) ถาชนะเท่านั้น ส่วนกรณีน้ำลายสุนัขเปื้อนสิ่งอื่น เช่น สุนัขเลยขาของเรา เช่นนี้น้ำเปล่าธรรมดาถือว่าใช้ได้แล้ว โดยไม่ต้องล้างน้ำดิน

ทัศนะของนักวิชาการที่เห็นด้วยกับทัศนะข้างต้น ได้แก่ ท่านซุฮฺริ,อิมามมาลิก,ท่านดาวูด,อามามหะซัน อัลบัศรีย์ และท่านอุรวะฮฺ บุตรของชุบัยร์ เป็นต้น

เครดิต: อ. มุรีด ทิมะเสน

islamhouse.muslimthaipost.com